
มอง'นาซ่า'ผ่านสายตา'นีล อาร์มสตรอง'
เวิลด์วาไรตี้ : มอง 'นาซ่า' ผ่านสายตา 'นีล อาร์มสตรอง'
ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนแรกที่ได้เหยียบบนดวงจันทร์ ชื่อของ นีล เอ. อาร์มสตรอง จึงเป็นที่รู้จักและจดจำกันต่อมาหลายชั่วอายุนับจากคริสต์ทศวรรษที่ 1960 แต่อีกอย่างที่รู้กันดีเช่นกันเกี่ยวกับมนุษย์อวกาศผู้มีชื่อเสียงที่สุดในโลกคนหนึ่งท่านนี้คือเป็นคนที่เก็บตัว และน้อยครั้งที่จะให้สัมภาษณ์ จึงเป็นเรื่องที่พิเศษมากเมื่อนายอเล็กซ์ มอลลีย์ ผู้บริหารของ เซอร์ซิฟายด์ แพรคทิซซิง แอคเคาท์แทนทส์แห่งออสเตรเลีย ซึ่งเป็นองค์กรด้านการทำบัญชีใหญ่สุดแห่งหนึ่ง มีสมาชิกเกือบ 1.4 แสนทั่วโลก ได้มีโอกาสพูดคุยแบบพิเศษกับอาร์มสตรอง ในวัย 72 ปีนานร่วมชั่วโมงผ่านวิดีโอ ได้ฟังจากปากของเขาตรงๆ เรื่องเกี่ยวกับการเดินทางไปดวงจันทร์ ที่ครั้งหนึ่งเคยมีผู้สงสัยว่าเกิดขึ้นจริงหรือลวงโลก ทั้งนี้เพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับภาวะผู้นำและการยอมเสี่ยงเพื่อนวัตกรรมแห่งอนาคต
บทสนทนาซึ่งอยู่บนเว็บไซต์ ซีพีเอ ออสเตรเลีย อาร์มสตรอง คิดว่าภารกิจของยานอพอลโล 11 นั้น โอกาสลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์โดยสวัสดิภาพมีแค่ 50% และรู้สึกเศร้าใจที่ความทะเยอทะยานของรัฐบาลปัจจุบันที่ให้แก่นาซาลดลงอย่างน่าใจหาย เมื่อเทียบกับความสำเร็จในห้วงเวลานั้น
อาร์มสตรองลุ่มหลงโลกการบินตั้งแต่เป็นเด็กประถม และตั้งใจแน่วแน่ว่าจะต้องเข้าไปอยู่ในโลกนั้นให้ได้ หลังเป็นนักบินเครื่องบินรบในสงครามเกาหลี ได้สมัครเป็นนักบินทดสอบ เมื่อประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี ประกาศภารกิจท้าทายนักวิทยาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยไรซ์ เมื่อปี 2505 ว่า "เราเลือกจะไปดวงจันทร์ ไม่ใช่เพราะว่ามันง่าย แต่เพราะมันยาก เพราะมันเป็นสิ่งท้าทายที่เราเต็มใจยอมรับ ไม่เต็มใจที่จะเลื่อนออกไป และเป็นเป้าหมายที่เราจะต้องไปให้ถึง"
อาร์มสตรองเล่าว่า เวลานั้น สหรัฐทำได้เพียงส่ง อลัน เชฟเพิร์ด ขึ้นไปอยู่สูงกว่าพื้นผิวโลกแค่ 100 ไมล์ ใช้เวลาเพียง 20 นาที แต่ประธานาธิบดีเคนเนดีกำลังท้าทายให้เราไปไกลถึงดวงจันทร์ เที่ยวบินอวกาศขึ้นลงแค่ 20 นาที กับการไปถึงดวงจันทร์ ช่องว่างห่างกันมาก เป็นเรื่องที่เกือบเหลือเชื่อในแง่เทคนิค
10 ปีหลังจากนั้น ภารกิจของยานอพอลโลแต่ละครั้ง มีขึ้นเพื่อทดสอบพลังขับดัน เนวิเกชั่น และเทคโนโลยีการสื่อสารที่จำเป็นสำหรับการเดินทางไปดวงจันทร์ เรื่อยมาจนถึงหนึ่งเดือนก่อนการส่งยานอพอลโล 11 ที่ทีมงานคิดว่ามั่นใจมากพอที่จะลองดูสักครั้ง ณ เวลานั้น ทีมงานคิดว่ามีโอกาสกลับสู่พื้นโลกปลอดภัย 90% แต่โอกาสลงบนพื้นผิวดวงจันทร์ในความพยายามครั้งแรกมีแค่ 50-50 "มีอะไรที่เรายังไม่รู้อีกมาก กระทั่งการลงจากวงโคจรดวงจันทร์สู่พื้นผิวที่ยังไม่เคยมีการทดลองมาก่อน และมีโอกาสมากที่อาจมีอะไรที่เราไม่เข้าใจดีพอ ทำให้เราต้องกลับสู่โลกโดยไม่ได้ลงก็ได้"
สำหรับผู้ที่มีส่วนร่วมโดยตรงกับภารกิจในตำนานของนาซา อาร์มสตรองเฝ้ามองสถานะและความใฝ่ฝันของนาซาที่เสื่อมถอยลงอย่างเศร้าใจ "เราอยู่ในสถานการณ์ที่ทำเนียบขาวกับสภาคองเกรสเห็นต่างกัน เกี่ยวกับอนาคตของนาซาว่าควรจะเป็นทิศทางใด พวกเขากำลังเล่นเกม และนาซาก็มีสภาพเป็นลูกขนไก่ที่คนพวกนั้นตีโต้กันไปโต้กันมา ขณะที่คนสองฝ่ายพยายามจะจับนาซาวางบนที่ทางที่เหมาะสม"
"นาซาเป็นหนึ่งในการลงทุนสาธารณะที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ในแง่ของแรงกระตุ้นนักเรียนนักศึกษาให้บรรลุถึงสิ่งที่พวกเขามีความสามารถที่จะทำได้ แต่สิ่งที่รัฐบาลทำ คือการเปลี่ยนโครงการไปในทิศทางตรงกันข้าม บั่นทอนแรงกระตุ้นและแรงบันดาลใจของคนหนุ่มสาว"
ด้านมอลลี ผู้สัมภาษณ์กล่าวว่า สำหรับคนที่เป็นผู้นำหรือใฝ่ฝันจะเป็นผู้นำ การฟังความคิดความเห็นของ นีล อาร์มสตรอง น่าจะได้อะไรมากกว่าการเรียนหลักสูตรเอ็มบีเอที่มีอยู่ในโลกปัจจุบัน
-------------------------
(เวิลด์วาไรตี้ : มอง 'นาซ่า' ผ่านสายตา 'นีล อาร์มสตรอง')