
กรมปัศุสัตว์แจ้งจับ'2ฟาร์มหมูนครปฐม'
อธิบดีกรมปศุสัตว์แจ้งจับ 2 ฟาร์มหมูนครปฐม หลังตรวจพบใช้สารเร่งเนื้อแดงผสมอาหารเลี้ยงหมู
เมื่อเวลา 11.30 น.วันที่ 16 พฤษภาคม ที่ห้องประชุมสำนักงานปศุสัตว์นครปฐม โดยนายสัตวแพทย์ทฤษฏี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้มีการแถลงข่าวโครงการแก้ไขปัญหาการใช้สารเร่งเนื้อแดง โดยมีนายกำธร ตุ้งสวัสดิ์ ปลัดจังหวัดนครปฐม,นายสำเริง ครุฑดำ ปศุสัตว์นครปฐม,สัตว์แพทย์และเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ตลอดจนสื่อมวลชนที่สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
ต่อจากนั้นในเวลาต่อมานายสัตวแพทย์ทฤษฏี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้เดินทางไปยัง สภ.สามควายเผือกพร้อมเข้าแจ้งความต่อพ.ต.ท.รัฐพล สุ่มมาตย์ พนักงานสอบสวน สภ.สามควายเผือก จ.นครปฐม ให้ความดำเนินคดีกับนายอนุสิทธิ์ เขียวทุ่งน้อย อยู่บ้านเลขที่ 51ม. 5 ต.ทุ่งน้อย อ.เมือง จ.นครปฐม และนายนิรันดร์ หอมลออ อยู่บ้านเลขที่ 13 ม. 2 ต.ทุ่งน้อย อ.สามพราน จ.นครปฐม 2 เจ้าของฟาร์มหมู ในข้อหา “ฝ่าฝืน พรบ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2525 ใช้สารต้องห้ามผสมในอาหารเลี้ยงหมู “
นายสัตว์แพทย์ทฤษฏี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ในวันนี้ได้มีการแจ้งดำเนินคดีกับผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่อำเภอเมือง จ.นครปฐม จำนวน 2 ราย ในข้อหา ใช้สารต้องห้ามผสมอาหารเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์ คือซัลบูทามอล (Salbutamol) ถือเป็นการฝ่าฝืน พระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2525 มาตรา 6(5),57 ซึ่งจะระวางโทษทั้งจำทั้งปรับ โดยการใช้สารกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์(สารเร่งเนื้อแดง)หรือสารต้องห้ามผสมในอาหารเลี้ยงสุกรนั้น จะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ และยังเป็นการทรมานสัตว์ด้วย
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมาในปี 2554 กรมปศุสัตว์ และคณะทำงานได้ทำงานเร่งรัดการแก้ไขปัญหาการใช้สารเร่งเนื้อแดงในสุกรโดยได้มีการแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้ที่ฝ่าฝืนแล้วจำนวน 50 รายและมีการดำเนินการตรวจสอบฟาร์มสุกรทั่วประเทศแล้วจำนวน 21,925 ฟาร์ม เก็บตัวอย่างปัสสาวะจำนวน 54,461 ตัวอย่าง,พบผลบวกจำนวน 1,820 ตัวอย่าง,ตรวจโรงฆ่าสัตว์จำนวน 1,855 รายและกักสุกร จำนวน 50,568 ตัว ไม่ให้เข้าสู่โรงฆ่า จนกว่าจะมีผลปัสสาวะเป็นลบ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศคู่ค้าด้วย
ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดในการสุ่มเก็บตัวอย่างปัสสาวะสุกร อาหารที่ใช้เลี้ยงสุกรในฟาร์ม หรือตลอดจนเนื้อและเครื่องในสุกรในโรงฆ่าสัตว์ ส่งห้องปฏิบัติการของศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตว์แพทย์และสำนักงานตรวจคุณภาพสินค้าของปศุสัตว์ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของกรมปศุสัตว์ จำนวน 8 แห่ง ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อตรวจหารสารต้องห้ามดังกล่าว อย่างสม่ำเสมอ โดยหากพบว่ามีผลปัสสาวะเป็นบวก ก็จะทำการกักสุกรจนกว่าผลปัสสาวะจะออกเป็นลบ จึงจะส่งสุกรสู่โรงฆ่าได้ ในส่วนของสารเร่งเนื้อแดงนั้น ถ้ามีการตรวจพบว่าผู้ประกอบการหรือเจ้าของฟาร์มรายใด ใช้สารต้องห้ามนี้ ก็จะทำการดำเนินคดีทันที โดยต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีเครื่องในสุกรในโรงฆ่าที่พบสารดังกล่าวก็จะสั่งให้เจ้าหน้าที่ทำลายสุกรตัวนั้นทันที ไม่ให้นำออกไปจำหน่ายหรือบริโภค เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
พ.ต.ท.รัฐพล สุ่มมาตย์ พนักงานสอบสวน สภ.สามความเผือก กล่าวว่า หลังจากได้รับการแจ้งความตนก็จะได้ออกหมายเรียกให้เจ้าของฟาร์มทั้ง 2 รายมาพบและทำการสอบสวนข้อเท็จจริง ก่อนที่จะดำเนินการต่อไป