ข่าว

'พระคลังข้างที่'ยันบริษัทฯก่อสร้างถูกกม.

'พระคลังข้างที่'ยันบริษัทฯก่อสร้างถูกกม.

14 พ.ค. 2555

"พระคลังข้างที่" การันตี "อิมพีเรียลแลนด์" ทำถูกกม. เขตป้อมปราบฯ รับระงับแค่สร้างบันได ส่วนอื่นเดินหน้าต่อได้ สำนักโยธา กทม.รอดูแบบยื่นใหม่ 17 พ.ค.นี้ "กก.วัดฯ" " อัด "สเตชั่น1" มั่ว ไม่เคยนัดพบ

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 55  จากกรณีปัญหาความขัดแย้ง เรื่องการก่อสร้างโครงการสรรพสินค้าและโรงแรม "Station 1@China Town" ติดกับวัดมังกรกมลาวาส หรือวัดเล่งเน่ยยี่ จนนำมาซึ่งการคัดค้านของชาวเยาวราช โดยเรื่องดังกล่าวผู้สื่อข่าวได้พยายามติดต่อ นายภิญโญ เอครพานิช  ผู้อำนวยการพระคลังข้างที่ โดยโทรศัพท์ไปยังสำนักงาน แต่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายดูแลผลประโยชน์เป็นผู้รับสายแทน พร้อมทั้งแจ้งว่า นายภิญโญ ติดราชการต่างจังหวัด ไม่สะดวกจะให้ข้อมูล และเมื่อพยายามขอเบอร์โทรศัพท์มือถือ หรือเบอร์โทรศัพท์ที่บ้าน เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวก็ไม่ยอมให้ โดยอ้างว่า นายภิญโญ ไม่ได้ให้ไว้ 

          ทั้งนี้เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวยืนยันว่า ที่ผ่านมาไม่เคยติดต่อเรื่องเช่าที่กับทางวัดเลย พร้อมทั้งยืนยันว่า บริษัทอิมพีเรียลแลนด์ ได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมทั้งได้ส่งหนังสือเพื่อเคลียร์กับทางสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายเรียบร้อยแล้ว และเรื่องดังกล่าวไม่มีปัญหาใด ๆ 

          ขณะที่นายประภัสสร กุหลาบ หัวหน้าฝ่ายโยธา เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กล่าวยอมรับว่า คำสั่งระงับการซ่อมแซมอาคารดังกล่าวเป็นเพียงการระงับการซ่อมแซมบันไดคอนกรีตเสริมเหล็ก ไม่ได้ระงับการปรับปรุงอาคารทั้งหมด เพราะส่วนอื่นที่ยังมีการซ่อมแซมปรับปรุงที่ไม่ใช่โครงสร้างหลัก จึงอนุญาตให้ดำเนินการในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งขณะนี้กำลังรอหนังสือจากทางบริษัทอิมพีเรียลแลนด์ มายื่นขออนุญาตปรับปรุงส่วนที่เป็นโครงสร้างหลักของอาคารใหม่ ซึ่งยังอยู่ในระยะเวลาที่กำหนดอยู่ หากยื่นมาแบบถูกต้องก็พร้อมที่จะอนุมัติ

          ด้านนายวินัย ลิ่มสกุล ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ถึงแม้ทางเอกชนยังไม่มีการยื่นแบบก่อสร้างใหม่มาที่สำนักการโยธา แต่ทางเขตก็สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ โดยหลักเกณฑ์เบื้องต้นที่กฎหมายควบคุมก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายทั่วไป อาทิ เรื่องความแข็งแรงของตัวอาคาร เป็นต้น ส่วนเรื่องการกำหนดพื้นที่ก่อสร้างมีข้อบัญญัติผังเมืองควบคุมอยู่แล้วว่า สามารถก่อสร้างอาคารประเภทใดได้แค่ไหน หากมีการก่อสร้างอาคารไปแล้วก็ต้องไปตรวจสอบว่าขัดกฎหมายหรือไม่ อย่างไรก็ตามกรณีที่ทางเอกชนจะยื่นแบบก่อสร้างวันที่ 17 พ.ค.นี้ ก็ขอให้เอกชนยื่นแบบมาก่อน ทางสำนักการโยธาจะมีการตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง

          นายสุธีร์ จินตนานฤมิตร กรรมการวัดมังกรกมลาวาส กล่าวถึงกรณีที่ทาง "Station1@china Town"  ระบุว่า มีการนัดพูดคุยกับทางวัดในวันที่ 17 พ.ค. ที่จะถึงนี้่ว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการติดต่อเข้ามาเลย 

          "เขาก็พูดไปอย่างนั้นแหละ ที่ผ่านมาเขาให้เวลาหนึ่งเดือนที่จะขออนุญาต แต่ไม่ทราบว่า ในวันดังกล่าวเขาจะได้ใบอนุญาตหรือยัง หากได้เขาก็อาจจะนำใบอนุญาตมาแสดง แต่เบื้องต้นยังไม่มีการติดต่อเข้ามาอย่างเป็นทางการ"

          นายสุธีร์ กล่าวต่อว่า ถึงวันนี้แผนของเราก็ยังคงต่อต้านถึงที่สุด ถึงเขาจะเปลี่ยนรูปแบบ แต่เราก็ยังจะสู้ นอกจากนี้ยังมีแนวร่วมมากขึ้น และมีชาวบ้านเข้ามาร่วมแสดงพลัง แต่เราก็ขอให้ประท้วงอยู่ในความสงบ ซึ่งเรายืนยันที่จะนัดรวมตัวกันในวันที่ 21 พ.ค. ที่จะถึงนี้ ในเวลาประมาณหลังเที่ยง หลังจากที่สวดมนต์ และฉันเพลเสร็จเรียบร้อยแล้ว 

          นายเจษฎา อนุจารี กรรมการสภาทนายความ กล่าวถึงกรณีปัญหาโครงการสรรพสินค้าและโรงแรม "Station1@china Town" ติดกับวัดมังกรกมลาวาส หรือวัดเล่งเน่ยยี่ จนเกิดกระแสต่อต้าน ระบุว่า ขณะนี้ช่องทางทางกฎหมายที่จะสู้ก็กำลังพิจารณาว่า จะใช้ช่องทางใดได้บ้าง โดยเบื้องต้นเราพบว่า มีการสร้างไม่ถูกต้องเนื่องจาก เดิมได้ทำเรื่องขอซ่อมแซม 13 รายการ โดยขออนุมัติกับทางเขต แต่รายการที่เสนอมานั้นไม่ใช่เรื่องการซ่อมแซม ซึ่งคำว่าซ่อมแซม เป็นการทำของชำรุดทรุดโทรม แต่รายการที่เสนอมานั้นบางรายการไม่ใช่การซ่อมแซม แต่เป็นเรื่องของการดัดแปลงอาคาร ซึ่งต้องยื่นขออนุญาตกับสำนักการโยธาธิการ กทม. ซึ่งตึกดังกล่าวสร้างมาเมื่อ 60 ปีที่ผ่านมา เดิมเป็น 4 ชั้นต่อมาก็ขยายเป็น 8 ชั้น จากนั้นก็มีไฟไหม้ ดังนั้นจึงมีเรื่องความปลอดภัยฐานราก ดังนั้นกระบวนการขออนุญาตจากสำนักการโยธาฯต้องดูเรื่องโครงสร้างอีกครั้งด้วย อีกเรื่องคือเรื่องการใช้อาคาร จากเดิมเป็นอาคารพาณิชย์ มีสปา คาราโอเกะ นวด มีภัตตาคาร ซึ่งขัดกับกฎหมายที่ไม่ให้สร้างติดวัด แม้ว่าต่อมาจะเปลี่ยนจุดประสงค์มาเป็นการทำอพาร์ทเมนท์แต่ก็ไม่ต่างเพราะอพาร์ทเมนท์จะเช่ารายวันก็ได้ 

          "ขณะนี้ทางราชการโดยสำนักงานเขตมีคำสั่ง 3 ข้อคือ 1. ให้ยื่นขออนุญาตก่อสร้างอีกครั้ง 2. ระงับการรื้อถอน และ 3. ห้ามคนเข้าไป แต่ก็ยังมีการละเมิด โดยสิ่งต่อไปที่จะทำคือเข้าไปร้องทุกข์แจ้งกับสำนักงานเขตว่า มีการละเมิด ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการใด ๆ ก็อาจจะต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐ และจะฟ้องตัวเจ้าหน้าที่รัฐด้วย โดยในส่วนของศาลยุติธรรมนั้นจะฟ้องในส่วนของเอกชน บริษัทผู้จัดการว่า ก่อสร้างโดยผิดต่อกฎหมาย สำหรับในส่วนของ กทม.ก็จะฟ้องเป็นคดีทางปกครอง แต่คงต้องรอเวลา เพราะกระบวนการทางปกครองต้องมีขั้นตอนและระยะเวลา" นายเจษฎา กล่าว

          ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ทางโครงการยังเดินหน้าขายพื้นที่ ผู้ที่เช่าไปแล้วจะสามารถร้องสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภถคได้หรือไม่ นายเจษฎา กล่าวว่า ผู้เช่าก็อาจจะไปร้องเรียนกับ สคบ.ได้ อย่างไรก็ตามหากเป็นในส่วนของคนที่จะเช่ามาเปิดเป็นที่ขายสินค้าต่อ อาจจะมีปัญหาเล็กน้อย เพราะ สคบ.จะเน้นที่การคุ้มครองผู้บริโภคลำดับท้ายสุด ดังนั้นจึงอาจจะมีการตีความว่า ผู้ที่เช่าพื้นที่ไปขายของต่อไม่ใช่ผู้บริโภค แต่หากเป็นการเช่าเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยหรือเป็นอพาร์ทเมนท์อย่างนี้ก็สามารถร้องต่อ สคบ.ได้ไม่เป็นปัญหา 

          ขณะที่นายจิรชัย มูลทองโร่ย รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ให้สัมภาษณ์ "สำนักข่าวเนชั่น" ถึงกรณีข้อพิพาทระหว่างบริษัท อิมพีเรียลแลนด์ จำกัด ที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอาคาร "สเตชั่นวัน" กับวัดมังกรกมลาวาสหรือวัด "เล่งเน่ยยี่" ว่า เรื่องนี้ตามหลักไม่ใช่เรื่องของการซื้อสินค้าหรือการใช้บริการ โดยเป็นข้อพิพาทในพื้นที่ ซึ่งผู้ที่มีส่วนดูแลวัด หรือทางเขตในการแก้ปัญหา กรณีนี้หากเป็นกรรมสิทธิด้านใดที่ไม่กระทบสิทธิของผู้อื่น กฎหมายก็ไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องได้ แต่หากมีการสร้างอะไรก็ตามแล้วไปกระทบกับสิทธิของผู้อื่นก็ต้องมีการหารือกัน ซึ่งทาง สคบ.จะสามารถเข้าไปดูแลเรื่องที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมในการใช้บริการได้เท่านั้น 

          นายจิรชัย กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ หากการก่อสร้างพบว่า มีผลกระทบด้านเสียง หรือการจราจรก็มีกฎหมายควบคุมอยู่ โดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปดูแล ซึ่งส่วนหนึ่งมีกฎหมายของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ว่า การก่อสร้างโรมแรม หรือสถานบันเทิงต้องอยู่ห่างกับวัดกี่เมตร ดังนั้นหน่วยงานที่ดูแลกฎหมายนี้ต้องมีการทบทวนผู้ที่จะมาขออนุญาตสร้างโรงแรม หรือสถานบันเทิง เพราะเรื่องนี้สังคมรับไม่ได้ 

          "กฎหมายของกรมโยธาธิการและผังเมืองกำหนดไว้ชัดเจน โดยให้ฝ่ายปกครองเข้ามาดูแล เพราะการขออนุญาตแต่ละครั้งมีกรอบหลักเกณฑ์ที่วางไว้อยู่ โดยการก่อสร้างจะเป็นเรื่องผังเมือง มีการกำหนดพื้นที่ไว้ ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ก็ต้องเข้าไปแก้ปัญหาได้" เลขาฯ สคบ.กล่าว