ข่าว

จับตาบ้านเลขที่ 111 "5 ปีที่รอ" อนาคตยังอยู่ที่ 'แม้ว'?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จับตาบ้านเลขที่ 111 "5 ปีที่รอการกลับมา" อนาคตยังอยู่ที่ 'แม้ว'?

อีกไม่ถึงเดือนแล้ว คนบ้านเลขที่ 111 หรือกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ที่ถูกเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี จากคดียุบพรรค ก็จะพ้นโทษกลับมา หลังครบกำหนดในสิ้นเดือนนี้


แต่อะไรไม่สำคัญเท่ากับสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า คนบ้านเลขที่ 111 กับพรรคเพื่อไทย และรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้น ใกล้ชิดกันแค่ไหน

 โดยเฉพาะกรณีที่พรรคเพื่อไทย เป็นเจ้าภาพ จัดแข่งขันฟุตบอลสี่เส้านัดพิเศษ ต้อนรับการจะพ้นโทษกลับสู่เวทีการเมืองของคนบ้านเลขที่ 111 รวมทั้งยังน่าจับตามอง งานพบปะสังสรรค์กันอีกครั้ง ในวันที่ 30 พฤษภาคมของคนบ้านเลขที่ 111 ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากกำหนดการเดิม

 เพราะไม่แน่ กระแสช่วงนั้น อาจชัดเจนแล้วก็เป็นได้ ว่าใครจะติดหนึ่งใน 'ครม.ยิ่งลักษณ์' ในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งหน้า
 
กลุ่มมือไม้ 'นายใหญ่'  
 
 แต่ก่อนจะไปถึงวันนั้น มาดูกันอีกครั้งว่า พวกเขาอยู่ดี มีความสุขกันอยู่หรือ

 เริ่มจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ทุกย่างก้าวของ 'ทักษิณ' ก็ว่าได้ คือลมหายใจของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

'เจ๊แดง' เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ถือเป็นคนที่ 'ทักษิณ' มอบหมายให้บริหารจัดการในพรรคเพื่อไทยร่วมกับสามี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ รวมทั้ง 'บารมี' ที่เป็นถึงอดีตประธาน ส.ส.ภาคเหนือ ก็นับว่ายังมีบทบาทสูงในพรรคเพื่อไทย

 ขยับมาที่ 'หมอมิ้ง' นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช แม้จะโลว์โปรไฟล์ ไปบ้าง แต่ขณะนี้ก็ได้เข้าไปมีหน้าที่กลั่นกรองงานให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ เสมือนเลขาธิการนายกรัฐมนตรีตัวจริงแล้ว

 ภูมิธรรม เวชยชัย หลังใช้เวลาพักผ่อนกับครอบครัวมาระยะหนึ่ง ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทด้านงานยุทธศาสตร์ตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา และเป็นที่ปรึกษาในพรรคเพื่อไทย แล้วก็ได้เข้ามาช่วยงานนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เช่นเดียวกับหมอพรหมินทร์

 ที่น่าสนใจไปกว่านั้น ในกรณีของ 'ภูมิธรรม' ยังมีลุ้น 'เลขาธิการนายกรัฐมนตรี' อีกด้วย เนื่องจาก 'หมอพรหมินทร์' ยังไม่พร้อมที่จะทำงานเบื้องหน้า

 ด้าน กลุ่มนักกฎหมาย อย่าง พงศ์เทพ เทพกาญจนา, โภคิน พลกุล, วิชิต ปลั่งศรีสกุล ยังคงทำงานใน 'มูลนิธิ 111' และทำหน้าที่เป็นมือกฎหมายให้พรรคและคดีส่วนตัวของ 'นายใหญ่' รอวันกลับมาอยู่เบื้องหน้าอีกครั้ง

 จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ยังมีบทบาทสูงในการช่วยงานด้านวิชาการ ด้านยุทธศาสตร์ และงานในสภาฯ

 พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล แม้ว่าจะกลับไปทำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มเติมจากธุรกิจโรงเรียนที่มีอยู่ แต่ก็ยังคงมีความใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และช่วยงานพรรคเพื่อไทยในด้านการประสานงานอยู่อย่างเหนียวแน่น

 วราเทพ รัตนากร เป็นอีกคนที่ยังช่วยงาน 'วงใน' โดยร่วมอยู่ในทีมนโยบาย ทีมยุทธศาสตร์พรรค เป็นมือไม้ให้กับ 'เจ๊แดง-เยาวภา' ในงานเลือกตั้งพื้นที่ภาคเหนือ

 สุรนันทน์ เวชชาชีวะ แม้ทำตัวขัดใจ 'นายใหญ่' มาตั้งแต่ช่วงหลังรัฐประหาร กรณีไม่ยอมร่วมหัวจมท้ายกับพลพรรค แต่ที่สุดก็สามารถเคลียร์ใจกันได้ และทำตัวถูกคอถูกใจนายกฯ ยิ่งลักษณ์ จนได้รับแต่งตั้งเป็นโฆษกส่วนตัว

 กลุ่มรอยาสมานแผล

 แน่นอน, กลุ่มนี้จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกเสียจากกลุ่ม 'เพื่อนเนวิน'
 โดยมี เนวิน ชิดชอบ 'นายใหญ่' บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และพรรคภูมิใจไทย เป็นหัวเรือใหญ่
 ที่สำคัญ 'เนวิน' เป็นเงื่อนไขเดียว ที่อดีตนายกฯ ทักษิณ ไม่ต้อนรับ และลามไปถึงกลุ่ม 'เพื่อนเนวิน' คนอื่นในพรรคภูมิใจไทย
 อนุทิน ชาญวีรกูล ถูกจับตามองทันควัน หลังลูกพี่ 'เนวิน ชิดชอบ' ถอยลงจากเวที นัยว่ากำลังเตรียมรับไม้ต่อจาก ชวรัตน์ ชาญวีรกูล บิดา ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยคนต่อไป
 แต่กระนั้นก็ยังมีกระแสข่าวว่า พยายามขอเคลียร์กับ 'นายใหญ่ดูไบ' อยู่เหมือนกัน

'3 ส.' อยู่หรือไปจาก ภท.

 ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ดูเหมือนจะเป็น กลุ่ม 3 ส. นั่นคือ สุชาติ ตันเจริญ แกนนำกลุ่มบ้านริมน้ำ สรอรรถ กลิ่นประทุม อดีตประธานภาคกลางพรรคไทยรักไทย ซึ่งยังอยู่กับพรรคภูมิใจไทย และ สนธยา คุณปลื้ม แกนนำกลุ่มชลบุรี ที่แยกตัวออกจากภูมิใจไทย ไปก่อตั้ง พรรคพลังชล เป็นของตัวเองแล้ว

 ในฐานะที่เป็นอดีต ส.ส.กลุ่ม 16 เพราะจนถึงวันนี้ เชื่อว่ากลุ่มนี้ยังคงจับมือกันอย่างเหนียวแน่น แม้ว่า หนึ่งในสาม จะเอาตัวรอดไปแล้วก็ตาม

 'สุชาติ-สรอรรถ-สนธยา' ถือเป็นเพื่อนรุ่นพี่รุ่นน้องกลุ่ม 16 ที่แนบแน่นกันมาตั้งแต่อยู่พรรคชาติไทย และย้ายตาม เสนาะ เทียนทอง แกนนำกลุ่มวังน้ำเย็น ออกไปอยู่พรรคความหวังใหม่ กระทั่งอพยพกันมาร่วมสร้างพรรคไทยรักไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ถือว่าร่วมหัวจมท้ายกันมาหลายพรรค โดยมีเพียงสัญญาลูกผู้ชาย ว่า ไปไหนไปด้วยกัน กระทั่งพรรคไทยรักไทยถูกยุบ จึงพากันแยกออกมาอยู่สังกัดพรรคภูมิใจไทยของ เนวิน ชิดชอบ แบบเป็นอิสระ

 ทว่า เป็นครั้งแรกที่ 'สนธยา' ตัดสินใจอำลา 2 ส. แยกไปทำพรรคพลังชล ในการเลือกตั้งเมื่อ 3 กรกฎาคม 2554 เพื่ออนาคตที่ดีกว่า

 เหลือก็แต่ 'สุชาติ' และ 'สรอรรถ' ยังคงสังกัดพรรคภูมิใจไทย ทั้งที่ในระยะหลังมานี้ มีเพื่อน ส.ส.ในพรรคเพื่อไทย ชักชวนให้กลับไปร่วมงานในพรรคเพื่อไทย
 
'สมคิด-สุรเกียรติ์' รอรีเทิร์น

 ที่จะลืมไม่ได้อีกส่วนหนึ่ง ก็เห็นจะเป็น สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ถึงแม้จะตีจาก 'ทักษิณ' ในช่วงหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แต่ล่าสุดคอนเนคชั่นกับนายใหญ่ดูไบ ก็กลับมาเหมือนเดิมแล้ว

 โดยเมื่อปลายปีที่แล้ว คณิต ณ นคร เชิญไปเป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษาคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)

 ปัจจุบัน กลับมามีส่วนในการช่วยงานนายกฯ ยิ่งลักษณ์ อย่างไม่เป็นทางการ ในฐานะที่ปรึกษา และประสานงานด้านการต่างประเทศ อยู่เบื้องหลังรัฐบาลเพื่อไทย

 สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เคยถูกคาดหมายว่าจะขึ้นมาเป็นผู้นำพรรค และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แทน พ.ต.ท.ทักษิณ แต่เหตุการณ์รัฐประหารก็ดับฝัน ดร.สมคิด ลงไปชั่วคราว
 ดร.สมคิด เคยร่วมกับนักการเมืองอาชีพ และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มมัชฌิมา ของ สมศักดิ์ เทพสุทิน ที่หวังดันให้ขึ้นเป็นผู้นำพรรคใหม่ แต่อนาคตการเมืองก็สะดุดลงอีกครั้ง เมื่อพรรคไทยรักไทยถูกยุบ และพวกเขาถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี

 แต่ก็ยังมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ในการก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ รวมถึงพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ที่มีนักการเมือง ส. อยู่เบื้องหลัง ทั้ง สมศักดิ์ เทพสุทิน สุวิทย์ คุณกิตติ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ สุรนันทน์ เวชชาชีวะ สนธยา คุณปลื้ม สรอรรถ กลิ่นประทุม คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล

 อย่างไรก็ตาม ในช่วงรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2550 'สมคิด' ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ทำความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกับต่างชาติ โดยเฉพาะไทยกับญี่ปุ่น แต่กลับถูกกระแสการเมืองโจมตีอย่างหนักจึงลาออก ทั้งที่ยังไม่ได้ทำหน้าที่

 วันนี้ อดีตขุนคลังอย่าง ดร.สมคิด ก็ยังไม่หยุดฝันบนเส้นทางการเมือง แม้วันนี้เขาอายุย่างเข้า 59 ปี และใช้เวลา 5 ปีทุ่มเทให้ครอบครัว แต่ก็ยังทำงานสาธารณกุศล โดยรับหน้าที่รองประธานคณะกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิสัมมาชีพ
 ทั้งยังพีอาร์ผลงานและความเคลื่อนไหวผ่านเวบไซต์ของตัวเอง http://somkid.com โดยเฉพาะด้านวิชาการที่รับงานบรรยายด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อย่างต่อเนื่อง
 พิมล ศรีวิกรม์ เป็นอีกคนที่ห้วงแรกๆ ยังคลุกคลีอยู่ในแวดวงการเมือง เคยตั้งกลุ่มธรรมาธิปไตย เพื่อเป็นฐานทางการเมืองให้กับ 'สมคิด' ซึ่งเขาเคยทำหน้าที่เป็นเลขานุการส่วนตัว เมื่อครั้งที่ 'สมคิด' ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ต่อมาจับมือกับ 'สุวัจน์' ตั้งพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้ง
 ดังนั้น จึงน่าจับตามอง หลังเว้นวรรคการเมือง 'พิมล' จะเข้าสู่เวทีการเมืองอย่างไร หรือไม่

'ภูมิใจไทย' แถวสองยึดพรรค

 รวมถึงคนบ้านเลขที่ 111 ในพรรคภูมิใจไทย ที่อยู่ในข่ายแกนนำแถวสอง อีกจำนวนหนึ่งที่น่าสนใจ

 อย่าง ศักดิ์สยาม ชิดชอบ น้องชาย 'เนวิน' ที่ในช่วงพรรคภูมิใจไทยร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ แทบจะเป็น รมต.เงา เลยทีเดียว เพราะเขาเป็น มือไม้ ของพี่ชาย นั่นเอง

 นัยว่า ถ้า อนุทิน ชาญวีรกูล นั่งหัวหน้าพรรคคนต่อไป ตำแหน่ง เลขาธิการพรรค ก็ไม่พ้นมือ 'ศักดิ์สยาม' เช่นกัน

 อนุชา นาคาศัย คนสนิท สมศักดิ์ เทพสุทิน หัวหน้ากลุ่มวังน้ำยม และบ้านเลขที่ 111 เช่นกัน ที่เกาะเกี่ยวกันมาโดยตลอด นับจากแยกตัวออกจากพรรคไทยรักไทย เข้ามาปักหลักในพรรคภูมิใจไทย แต่วันนี้ 'อนุชา' ใหญ่กว่าอดีตลูกพี่ 'สมศักดิ์' จนดูเหมือนปลดแอกอยู่ในที เมื่อสามารถผลักดัน พรทิวา นาคาศัย ภรรยา เข้ามาเป็นตัวแทน จนได้นั่งเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย และขึ้นเป็น รมว.พาณิชย์ ในรัฐบาลประชาธิปัตย์

 ปัจจุบัน 'อนุชา' เป็นประธานสโมสรชัยนาท เอฟซี และรอจังหวะกลับมาลงสนามการเมืองอีกครั้ง

 เอกพร รักความสุข อดีต รมว.แรงงาน และอดีต ส.ส.สกลนคร หลังตัดสินใจเลือกข้าง 'เนวิน' และทำงานการเมืองในพื้นที่สกลนครมาโดยตลอด โดยเฉพาะงานด้านนโยบาย และการทำพื้นที่เลือกตั้ง แม้จะไม่ประสบความสำเร็จนัก แต่ก็เป็นที่ไว้วางใจของ 'เนวิน'

 ปองพล อดิเรกสาร ขณะนี้ถือว่าโลว์โปรไฟล์ เพื่อใช้ชีวิตกับการเดินทาง และเขียนหนังสือ ถึงแม้จะร่วมงานการเมืองกับพรรคภูมิใจไทย แต่อนาคตการเมืองก็ยังไม่ชัด ว่าจะไปต่อหรือวางมือไปอยู่เบื้องหลัง ลูกชาย ร.ต.ปรพล อดิเรกสาร อดีต ส.ส.สระบุรี

 ถ้าว่านี่คือ 'ตัวจริง' ที่พร้อมทวงคืนตำแหน่งทางการเมือง ก็คงไม่ผิดเสียทีเดียวในหลายกรณี หากแต่บางกรณี แม้ว่าจะเคยมีบทบาทอย่างสูง และได้รับการยอมรับสูงในทางการเมืองมาก่อน ก็ใช่ว่าจะคืนเวทีการเมืองได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะหากต้องการคืนเวทีโดยมีตำแหน่งติดตัว ต่อให้มีกระแสข่าวใหญ่โตแค่ไหนก็ตาม

 เพราะคนตัดสินใจสุดท้าย คนเดียว ก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ สำหรับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และการเข้าร่วมการเมืองกับพรรคเพื่อไทย ไม่เชื่อคอยดู!?

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ