ข่าว

บุหรี่ขึ้น"กรองทิพย์"58"มาร์ลโบโร"75บ.

บุหรี่ขึ้น"กรองทิพย์"58"มาร์ลโบโร"75บ.

14 พ.ค. 2552

ภาษีบุหรี่-น้ำมันเริ่ม สรรพสามิตประกาศเพดานราคาใหม่ กรองทิพย์ 58 บาท ด้านฟิลลิป มอร์ริส แจง ขายมาร์ลโบโร 75 บาท ส่วนน้ำมันไม่ขึ้น เหตุกองทุนรับภาระแทน ก.พลังงาน เผย เบื้องต้นแบกแค่ 1 เดือน ขณะที่คลังเดินหน้าภาษีที่ดินต่อ

(14พ.ค.) นพ.พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การขยายเพดานจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันจากลิตรละ 5 บาท เป็น 10 บาท และการขยายเพดานจัดเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่ จาก 80% เป็น 90% ของมูลค่าหน้าโรงงาน หรือมูลค่านำเข้ามีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม กระทรวงการคลังได้ออกประกาศของกระทรวง เพื่อให้มีผลบังคับเกี่ยวกับอัตราการจัดเก็บภาษีให้มีผลทันที
 
 ทั้งนี้ ในส่วนของภาษีสรรพสามิตน้ำมันจะจัดเก็บเพิ่มขึ้น 2 บาทต่อลิตร แต่รัฐบาลจะใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ 2 หมื่นล้านบาท เข้ามาช่วยลดภาระของประชาชนในช่วงแรก ขณะที่ภาษีสรรพสามิตบุหรี่จะจัดเก็บในอัตรา 85% ซึ่งจะทำให้บุหรี่ในประเทศปรับขึ้นประมาณ 10-13 บาทต่อซอง บุหรี่ต่างประเทศปรับขึ้นประมาณ 15-17 บาทต่อซอง
 
 “การจัดเก็บภาษีทั้งสุรา ยาสูบ และน้ำมันเพิ่มขึ้น จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยในส่วนของบุหรี่นั้น เป็นการกำหนดเพดานราคาปลีกเท่านั้น แต่ราคาที่จะปรับขึ้นเท่าใด ขึ้นกับผู้ผลิตจะเป็นผู้ประกาศ” นพ.พฤฒิชัยกล่าว
 
 รายงานข่าวแจ้งว่า กรมสรรพสามิตได้ประกาศเพดานราคาขายปลีกบุหรี่มีผลวันที่ 14 พฤษภาคม 2552 ดังนี้ บุหรี่กรองทิพย์ปรับเพิ่มขึ้นจาก 45 บาท เป็น 58 บาท หรือปรับเพิ่ม 13 บาท วันเดอร์จาก 32 บาท เป็น 42 บาท หรือปรับเพิ่ม 10 บาท มาร์ลโบโร จาก 63 บาท เป็น 83 บาท หรือปรับขึ้น 20 บาท และแอลเอ็ม จาก 49 บาท เป็น 60 บาท หรือปรับขึ้น 11 บาท
 
 อย่างไรก็ตาม หลังการขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด ได้ทบทวนราคาขายปลีกใหม่ โดยประกาศราคาขายปลีกบุหรี่มาร์ลโบโรในราคาซองละ 75 บาท และเอสแอนด์เอ็มราคา 60 บาท โดยบริษัทตระหนักดีว่านโยบายภาษีเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมในการสร้างรายได้ของรัฐบาล แต่ยังมีความกังวลถึงผลที่ตามมา เพราะการปรับภาษีที่สูงเกินไปสำหรับบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงานอาจสนับสนุนให้ผู้บริโภคที่เป็นผู้ใหญ่เปลี่ยนไปบริโภคยาสูบประเภทยาเส้นมวนเอง ซึ่งไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต และอาจส่งเสริมการค้าผลิต ภัณฑ์ยาสูบที่ผิดกฎหมาย
 
 ด้านนางชื่นใจ ทองคำ ผู้อำนวยการฝ่ายตลาด โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง กล่าวว่า โรงงานยาสูบได้ปรับขึ้นราคาขายปลีกของบุหรี่ที่โรงงานผลิตนั้นเป็นราคาเดียวกับที่กรมสรรพสามิตประกาศ เพราะเป็นราคาที่บวกภาระภาษีทุกประเภทไว้หมดแล้ว จึงถือเป็นการปรับราคาเต็มเพดาน ซึ่งครั้งนี้ถือว่ามีการประกาศปรับราคาที่เร็วและมีการปรับขึ้นสูงมาก ทำให้มีการกักตุนบุหรี่น้อยกว่าการปรับราคาทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา
 
 “วันนี้มีการซื้อบุหรี่เข้ามาไม่มากนัก เพราะก่อนหน้านี้มีการซื้อไปกักตุนไว้แล้ว จึงเป็นไปได้ที่จะระบายสินค้าเก่าออกไปให้หมดก่อน ซึ่งในครั้งนี้โรงงานยาสูบถือโอกาสปรับเพิ่มค่าการตลาดให้ผู้ค้าส่งด้วยจาก 4.50 บาทต่อห่อ เพิ่มเป็น 5.50 บาทต่อห่อ เนื่องจากมองว่าหลังการปรับเพิ่มราคาครั้งนี้ ยอดขายจะลดลงอย่างแน่นอน เพราะราคาที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้ค่าส่งมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากรับบุหรี่ราคา 20,050 บาท เป็น 22,000 บาทต่อหีบ (มี 50 ห่อ) หรือราคา 405 บาทต่อห่อ เพิ่มเป็น 527 บาทต่อห่อ เมื่อรับไปแล้วจะขายอยู่ที่ห่อละ 532.50 บาท ได้กำไรห่อละ 5.50 บาท” นางชื่นใจ กล่าวและว่า ในส่วนของโรงงานยาสูบไม่ได้รับผลกระทบหรือได้ประโยชน์จากการปรับราคาครั้งนี้ เพราะเป็นเม็ดเงินภาษีทั้งหมด
 
 นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ประกาศขึ้นภาษีสรรพสามิตตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2552 ในอัตรา 2 บาทต่อลิตร กระทรวงพลังงานจึงประกาศลดการจัดเก็บเงินกองทุนน้ำมันในวันนี้เช่นกัน โดยปรับสัดส่วนตามเนื้อน้ำมัน เช่น กรณีน้ำมันเบนซิน 91 และ 95 ที่เก็บภาษีเพิ่มขึ้น 2 บาทต่อลิตร เงินกองทุนน้ำมันจะลดลง 2.20 บาทต่อลิตร เป็นต้น ส่วนการขึ้นราคาน้ำมัน 60 สตางค์ต่อลิตรนั้น ถือว่าเป็นไปตามราคาตลาดโลกเท่านั้น ไม่ใช่ผลของการปรับภาษี
 
 อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานจะดำเนินการใช้เงินกองทุนเข้ามาลดภาระประชาชนในช่วงเปลี่ยนผ่านภาษีเพียง 1 เดือนเท่านั้น จากนั้นจะทยอยปรับขึ้นเงินกองทุนน้ำมัน และคาดว่าจะทยอยปรับประมาณ 2-3 ครั้ง ใน 1 เดือน โดยอาจจะทยอยขึ้นครั้งละ 60-70 สตางค์ต่อลิตร ในช่วงราคาน้ำมันเป็นช่วงขาลง
 
 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สุดท้ายกระทรวงพลังงานคงต้องปรับขึ้นเงินนำส่งกองทุนน้ำมัน เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เพราะหากชดเชยต่อไปเรื่อยๆ อาจทำให้ประชาชนใช้น้ำมันฟุ่มเฟือย ไม่ประหยัด และจะมีผลต่อการนำเข้าน้ำมันของไทย นอกจากนี้ เงินกองทุนน้ำมันและภาษีก็เป็นเงินของรัฐ หากบริหารจัดการไม่ดีจนเงินกองทุนติดลบก็คงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม
 
 อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ยอมรับว่าราคาน้ำมันเป็นช่วงขาขึ้น และหากราคาน้ำมันยังสูงขึ้นต่อไปก็คงต้องพิจารณาอีกครั้งว่าจะต้องยืดเวลาการบริหารจัดการนานกว่า 1 เดือนหรือไม่ และหากราคาน้ำมันยังสูงต่อไปอีกก็ต้องพิจารณาอีกครั้งว่าจะต้องลดเงินนำส่งกองทุนน้ำมันในอนาคตหรือไม่ แต่ขณะนี้ยังไม่มีแผนขยับเพดานการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ซึ่งมีอัตราสูงสุดที่ 7 บาทแต่อย่างใด
 
 ทั้งนี้ ปัจจุบันฐานะกองทุนน้ำมันมีเงินสด 2.5 หมื่นล้านบาท แต่มีภาระหนี้ที่ต้องชดเชย เช่น การนำเข้าก๊าซหุงต้ม ชดเชยพลังงานทดแทน รวม 1 หมื่นล้านบาท จึงเหลือเงินสด 1.5 หมื่นล้านบาท โดยการชดเชยการขึ้นภาษีน้ำมัน 2 บาทต่อลิตร คาดว่าจะต้องใช้เงิน 5,400 ล้านบาท และเมื่อหักจากวงเงินนำเข้าที่คาดว่าจะมี 3,600 ล้านบาทต่อเดือน ทำให้รายได้เงินกองทุนลดลง 1,700-1,800 ล้านบาทต่อเดือน
 
 ขณะที่ นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังกำลังศึกษาเรื่องจัดเก็บภาษีทรัพย์สินและที่ดิน และขณะนี้อยู่ระหว่างการชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้อง คาดว่าจะนำเสนอให้ ครม.พิจารณาภายในปีนี้ ก่อนจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป และจะเริ่มจัดเก็บภาษีได้ในปี 2554 โดยการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะทำรายได้ให้รัฐได้ปีละ 6-7 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเข้ามาทดแทนรายได้ส่วนหนึ่งจากภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ที่จะหายไป
 
 อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น จุดประสงค์ของภาครัฐไม่ได้ต้องการเน้นการหารายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้น เนื่องจากรายได้ที่จัดเก็บเป็นของท้องถิ่น แต่ระบบการจัดเก็บภาษีดังกล่าวต้องการสร้างความเป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมทั้งปรับโครงสร้างระบบภาษีให้เหมาะสม ซึ่งจะนำมาใช้จัดเก็บทดแทนภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ เนื่องจากโครงสร้างเดิมไม่ยุติธรรม
 
 "ปัจจุบันภาษีโรงเรือนไม่ได้จัดเก็บตามมูลค่าของที่ดิน แต่จัดเก็บตามรายได้ จึงทำให้ผู้มีรายได้จากทรัพย์สินต้องเสียภาษี ขณะที่ที่ดินเปล่าไม่ต้องเสียภาษี ส่วนภาษีบำรุงท้องที่อ้างอิงการประเมินมูลค่าที่ล้าสมัยตั้งแต่ปี 24-25 ดังนั้น จึงต้องปรับปรุงระบบภาษีให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งต่างประเทศการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ของท้องถิ่นคิดเป็น 70-80% ของรายได้ทั้งหมดของท้องถิ่น ขณะที่ของไทยคิดเป็นเพียง 1 ใน 10 ของรายได้ท้องถิ่นเท่านั้น" นายกรณ์กล่าว
 
 ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีที่ดินและส่งปลูกสร้างนั้น เบื้องต้นจะจัดเก็บจากเจ้าของที่ดิน ซึ่งผู้ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินต้องเสียภาษีสูงกว่าผู้ใช้ประโยชน์ และอาจยกเว้นภาษีสำหรับที่ดินแปลงขนาดเล็ก ที่ส่วนใหญ่เกษตรกรรายย่อยใช้เป็นที่ดินทำกิน เพื่อให้ผู้มีที่ดินเปล่าจำนวนมากๆ นำที่ดินออกมาใช้ประโยชน์ คาดว่าอาจจะนำที่ดินมาให้เกษตรกรเช่าทำกิน ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของตรรกะในการพัฒนาประเทศ เนื่องจากยังมีประชาชนยากจนจำนวนมากไม่มีความสามารถเข้าถึงที่ดิน
 
 นอกจากนี้ยังมีแนวคิดจะจัดเก็บภาษีบ้านและที่อยู่อาศัย เพื่อเป็นรายได้กลับมาบำรุงท้องถิ่น เนื่องจากบ้านพักอาศัยของประชาชนต้องใช้ประโยชน์จากระบบสาธารณูปโภคของท้องถิ่น จึงควรจ่ายเงินสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่น สร้างประโยชน์กลับคืนมา แต่ทั้งนี้ ในส่วนของการจัดเก็บภาษีมรดกนั้น คาดว่ายังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากค่อนข้างยุ่งยาก และหลายประเทศลดบทบาทของภาษีมรดกไปมากแล้ว ดังนั้น ขณะนี้จึงขอเดินหน้าเก็บภาษีทรัพย์สินก่อน