ข่าว

'114ถนน'เสี่ยงทรุด32เขตทั่วกทม.

'114ถนน'เสี่ยงทรุด32เขตทั่วกทม.

24 เม.ย. 2555

กทม.เปิดชื่อ 114 ถนนเสี่ยงทรุด 32 เขตทั่วกรุง สั่งวางแผนซ่อมเร่งด่วน เตือน"พายุ-น้ำทะเลสูง"

              24เม.ย. 2555 นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า จากการมอบหมายให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตตรวจสอบสภาพถนนในพื้นที่ที่มีการซ่อมบ่อยและเสี่ยงว่าเกิดการทรุดตัว ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. ขณะนี้สำนักงานเขต 50 สำนักงาน ขตได้รายงานผลส่งมายังสำนักการโยธาแล้ว ซึ่งตนได้สั่งการให้สำนักการโยธา ลงพื้นที่เพื่อสแกนถนน หากพบว่าจุดไหนเป็นโพรงก็ต้องซ่อมเบาไปก่อน จากนั้นจะแจ้งกองบังคัการตำรวจจราจร (บก.จร.) เพื่อปิดถนนทำการซ่อมหนักต่อไป นอกจากนี้กทม.เตรียมออกข้อบัญญัติให้มีวิศวกรอิสระ เป็นคนกลางมาร่วมตรวจรับงาน เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด

               นายธีระชน กล่าวต่อว่า จากการรายงานผลพบว่ามีถนนที่มีลักษณะเสี่ยงอยู่ในพื้นที่ 32 เขต จำนวน 114 แห่ง ประกอบด้วย เขตบึงกุ่ม บริเวณถนนเสรีไทย ระหว่างซอยเสรีไทย 20 ถึงซอยเสรีไทย 22 และบริเวณภายในซอยเสรีไทย 43 (หน้าสำนักงานเขตบึงกุ่ม) เขตลาดพร้าว ถนนลาดปลาเค้า คอสะพานข้ามคลองหลุมไผ่ทั้งสองฝั่ง ถนนลาดพร้าววังหิน คอสะพานข้ามคลองเสือน้อยทั้งสองฝั่งคอสะพานข้ามคลองหนองบอนทั้งสองฝั่ง ถนนโชคชัย 4 คอสะพานข้ามคลองเสือน้อยทั้งสองฝั่ง คอสะพานข้ามคลองทรงกระเทียมทั้งสองฝั่ง ถนนนาคนิวาส คอสะพานข้ามคลองสองตอนทั้งสองฝั่ง คอสะพานข้ามคลองทรงกระเทียมทั้งสองฝั่งถนนสุคนธสวัสดิ์ คอสะพานข้ามคลองเสือน้อยทั้งสองฝั่ง คอสะพานข้ามคลองเสือใหญ่ทั้งสองฝั่ง

               เขตคลองสามวา ถนนนิมิตรใหม่ เขตบางกะปิ ถนนรามคำแหง ตั้งแต่ซอยรามคำแหง 24 ถึงถนนศรีนครินทร์ ถนนรามคำแหง บริเวณปากซอยรามคำแหง 68 ถนนรามคำแหง บริเวณปากซอยรามคำแหง 24 แยก 22 เขตสะพานสูง บริเวณปากซอยถนนราษฎร์พัฒนาตัดถับถนนรามคำแหงบริเวณทางเท้าถนนราษฎร์พัฒนา ข้างคลองบางเลา บริเวณปลายซอยรามคำแหง 118 แยก 33 ตัดกับถนนเลียบ วงแหวนกาญจนาภิเษกเขตมีนบุรี บริเวณถนนสีหบุรานุกิจ หน้าร้านมีนบุรีโพโต้ บริเวณถนนนิมิตใหม่ ช่วงบริเวณหน้าโรงงานผลิตน้ำประปา เขตสัมพันธวงศ์ ถนนราชวงศ์ จากแยกเสือป่าถึงท่าน้ำราชวงศ์ ถนนเยาวราช จากซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ ถึงสะพานภาณุพันธ์ถนนเจริญกรุง จากสะพานดำรงสถิตย์ถึงสะพานพิทยเสถียร ถนนพระรามที่ 4 จากสะพานเจริญสวัสดิ์ถึงแยกหมอมี ถนนทรงวาด จากราชวงศ์ถึงถนนเจริญกรุง เขตปทุมวัน ถนนพระรามที่ 1 บริเวณหน้าหอศิลป์ ถนนพระรามที่ 1 บริเวณหน้าสยามดิสคัฟเวอรี่ ถนนวิทยุ บริเวณแยกเพลินจิต ถนนราชดำริ บริเวณแยกสารสิน ถนนพระรามที่ 4 บริเวณแยกมหานคร ถนนพระรามที่ 4 บริเวณแยกสะพานเหลือง ถนนพญาไท บริเวณหน้ามาบุญครอง

               ส่วนเขตบางรัก บริเวณซอยสันติภาพ บริเวณซอยจินดาถวิล ถนนพระรามที่ 4 บริเวณหน้าศาลแรงงานกลาง ถนนพระรามที่ 4 บริเวณหัวมุมถนนมหาพฤฒารามตัดถนน พระรามที่ 4 และปากตรอกฉลองกรุง ถนนเจริญกรุง บริเวณแยกถนนสุรวงศ์ตัดถนนเจริญกรุง ถนนสุรวงศ์ บริเวณแยกถนนนเรศตัดถนนสุรวงศ์ บริเวณสถานีดับเพลิงบางรัก เขตดินแดง บริเวณคอสะพานซอยอินทามระ 45 เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ถนนบริพัตร ใกล้อาคารเลขที่ 101 ถนนมิตรพันธ์ ใกล้อาคารเลขที่ 185 ถนนบำรุงเมือง ใกล้อาคารเลขที่ 615 เขตพระนคร ถนนบำรุงเมือง ตัดถนนอัษฎางค์ ถนนเจริญกรุง ตัดถนนอัษฎางค์ ถนนกรุงเกษม บริเวณท่ารถประจำทางสาย 53 ถนนกรุงเกษม บริเวณหน้าวัดมกุฎกษัตริยาราม เขตคลองเตย ถนนสุขุมวิท ถนนพระรามที่ 4 ถนนอาจณรงค์ ถนนพระรามที่ 3ถนนสุนทรโกษา ถนนรัชดาภิเษก ซอยสุขุมวิท 26 ซอยสุขุมวิท 36 ซอยสุขุมวิท 40 ซอยสุขุมวิท 42 เขตยานนาวา บริเวณซอยสาธุประดิษฐ์ 58 บริเวณหน้าบ้านเลขที่ 1074 ถึงหน้าบ้านเลขที่ 1058/2 ถนนพระรามที่ 3 บริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ ถนนพระรามที่ 3 บริเวณหน้าร้านโฮคิทเช่น ถนนพระรามที่ 3 บริเวณใต้สะพานคลองหีบ ถนนพระรามที่ 3 บริเวณสะพานคลองภูมิถนนพระรามที่ 3 บริเวณปากซอยพระรามที่ 3 (36) ถนนพระรามที่ 3 บริเวณทางเท้าหน้าโกดังเอเชีย ตัดคลองเสาหิน

               เขตลาดกระบัง ถนนฉลองกรุง ช่วงถนนมอเตอร์เวย์ ถึงคลองลำมะขาม เขตประเวศ บริเวณผิวจราจรและทางเท้าตามคลองต่างๆ เขตสาทร ถนนเจริญกรุง จากแยกเฉลิมพันธุ์ถึงคลองกรวย ซอยเจริญกรุง 57 จากถนนเจริญกรุงถึงถนนเจริญราษฎร์ ถนนสาทรใต้ จากแยกวิทยุถึงเชิงสะพานสาทร ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ จากแยกนรินทรถึงถนนจันทน์เก่า ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 17 จากถนนนราธิวาสราชนครินทร์ถึงถนนนางลิ้นจี่ ถนนสวนพลู จากถนนสาทรใต้ถึงแยกวิทยุการเงิน เขตบางคอแหลม บริเวณหน้าหมู่บ้านภักดี บริเวณหน้าฟิวเจอร์ปาร์ค บริเวณหน้าอาคารลุมพินีเพลส ถนนเจริญราษฎร์ บริเวณสถานีบีอาร์ทีบริเวณซอยพระราม 3 (22/1) 28 เขตสวนหลวง บริเวณผิวจราจรและทางเท้าตามคลองต่างๆ บริเวณใกล้กับรางรถไฟ ตัดกับถนนพระราม 9 (มอเตอร์เวย์) เขตบางกอกใหญ่ ถนนเพชรเกษม และถนนจรัญสนิทวงศ์ เขตตลิ่งชัน ถนนชักพระ บริเวณเชิงสะพานข้ามคลองวัดตลิ่งชัน ถนนบางพรม บริเวณเชิงสะพานข้ามคลองสาธารณะใกล้ซอยบางพรม 46 ถนนแก้วเงินทอง บริเวณเชิงสะพานข้างคลองสาธารณะ ใกล้ซอยแก้วเงินทอง 27

               เขตภาษีเจริญ ถนนเพชรเกษม ผิวทางพร้อมเชิงลาดสะพานข้ามคลองบางจาก ซอยเพชรเกษม 54 ใกล้สถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญ ถนนเพชรเกษม ผิวทาง ทางลอดใต้สะพานบางไผ่ (คลองบางกอกใหญ่) ถนนบางแค ผิวทางพร้อมเชิงลาดสะพานข้ามคลองราชมนตรี บริเวณซอยยิ้มประยูร ถนนบางแวก ผิวทางพร้อมเชิงลาดสะพานข้ามคลองลัดวัดฉิม ถนนบางแวก ผิวทางพร้อมเชิงลาดสะพานข้ามคลองราชมนตรี เขตบางแค ถนนเพชรเกษม จากคลองราชมนตรีถึงบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ เขตบางพลัด ถนนอรุณอมรินทร์ฝั่งขาเข้าปากทางแยกใกล้ปากซอยอรุณอมรินทร์ 51 เขตราษฎร์บูรณะ ถนนสุขสวัสดิ์ แขวงบางปะกอก บริเวณทางเท้าหน้าปากซอยสุขสวัสดิ์ 19 ถนนสุขสวัสดิ์ แขวงบางปะกอก บริเวณคอสะพานข้ามคลองนางปาน เยื้องทางเข้าแฟลตทหารเรือ ซอยสุขสวัสดิ์ 26 เขตจอมทอง ถนนเอกชัย ผิวการจราจรเชิงลาดสะพานข้ามคลองด่าน สะพานบางขุนเทียน บริเวณเชิงลาดสะพาน คอสะพานขาขึ้นจากซอยเอกชัย 2 เขตบางบอน ถนนเอกชัย และถนนบางขุนเทียน บริเวณแยกบางบอน เขตบางนาไม่พบถนนเสี่ยง ส่วนเขตวัฒนาพบที่ถนนสุขุวิท 71
              
               นายธีระชน กล่าวอีกว่า เขตบางซื่อ ถนนประชาราษฎร์ สาย 2 ผิวจราจร ค.ส.ล.บนสะพานสูงบางซื่อ ทางเท้าถนนพิบูลสงคราม ช่วงตั้งแต่โค้งสะพานพระราม 7 หน้ามหาวิทยาลัยราชมงคลกรุงเทพ วิทยาเขตพระนครเหนือจนถึงคลองบางเขน เขตดุสิต ถนนราชสีมา ช่วงแยกราชสีมาตัดถนนศรีอยุธยา และช่วงหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ถนนสวรรคโลก บริเวณแยกยมราช ถนนพระรามที่ 5 บริเวณแยกสะพานแดง บริเวณหน้าปั๊ม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริเวณใกล้ทางเข้าวังสวนจิตรลดา เขตราชเทวี ถนนพญาไทบริเวณสี่แยกพญาไท ถนนพญาไทบริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ไปถึงบริเวณสี่แยกราชเทวี ถนนพญาไทบริเวณหน้าอาคารวรรณสรณ์ ถนนพญาไทบริเวณหน้าสำนักงานเขตราชเทวี ถนนพญาไทบริเวณเชิงสะพานหัวช้างปากซอยวิบูลย์ศรี ถนนพระรามที่ 6 บริเวณสี่แยกตึกชัย ถนนพระรามที่ 6 บริเวณหน้ากรมทรัพยากรธรณี ถนนราชวิถีบริเวณซอยราชวิถี ถนนราชวิถีบริเวณหน้าวิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก ถนนราชวิถีบริเวณประตูระบายน้ำ กรมโยธีแยกสามเหลี่ยมดินแดง ถนนศรีอยุธยาบริเวณทางเท้าหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ถนนเพชรบุรีบริเวณปากซอยเพชรบุรี 3 เขตพญาไท ถนนพหลโยธิน ทั้งสองฝั่ง บริเวณคอสะพานข้ามคลองบางซื่อหน้าวัดไผ่ตัน ถนนพระรามที่ 6 บริเวณสามแยกโรงกรองน้ำ ถนนกำแพงเพชร 5 บริเวณถนนหลังโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ถนนเศรษฐศิริ บริเวณหน้าร้านสามเสนวิลลา ถนนพหลโยธิน บริเวณขุดดันท่อประปาถนนพหลโยธิน ช่วงคลองสามเสน ถึงคลองบางซื่อ บริเวณสี่แยกสะพานควาย เคยมีการทรุดตัวเมื่อปี พ.ศ.2551

 

เตือนกทม.เสี่ยง"พายุ-น้ำทะเลสูง"

 
               เมื่อเวลา14.45 น. ที่ห้องจูปิเตอร์ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีการเสวนาวิชาการเรื่อง “กรุงเทพ..ในฝัน” โดยมีนายธีระชน และ นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และนายทวีจิตร จันทรสาขา นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ ร่วมการเสวนาภายในงานสถาปนิก 55

               นายธีระชน กล่าวว่า ในยุคม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯกทม. ในปี 2552 มีการชุมุนม ปี 2553 มีเหตุเผาบ้านเผาเมือง แต่สายตาชาวโลกโดยเฉพาะในอเมริกาก็ยังยกให้กรุงเทพฯเป็นเมืองน่าท่องเที่ยวที่สุดในโลก ส่วนปีที่แล้วมีเหตุน้ำท่วมประเทศญี่ปุ่นก็ให้เกาะรัตนโกสินทร์น่าท่องเที่ยว จึงเห็นว่ากรุงเทพฯในสายตานานาชาติจะมีความฝันไกลกว่าที่เป็นอยู่ได้ถึงจะมีเรื่องสาหัส 3 ปีติดต่อกัน

               "ส่วนสิ่งที่อยากฝันต่อจากนี้อยากให้กทม.เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก หรือให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกต้องมีการวางแผน 20 ปี เด็กที่ยังไม่เกิดวันนี้อาจเป็นนักกีฬาเหรียญทอง ทั้งจีน ญี่ปุ่นก็มีการเตรียมแผน และบุคคลากรมาแล้ว จึงต้องมีการเตรียมปั้นคน แต่ต้องคิดว่าเรากล้าที่จะฝันหรือไม่"นายธีระชนกล่าว 

               นายธีระชน กล่าวต่อว่า ตอนนี้ใครอยากเรียน ทำงานก็นึกถึงกรุงเทพฯก่อน ประชากรในเมืองจึงมหาศาลทั้งคนปริมณฑล นักท่องเที่ยววันหนึ่งจะมีคนในกรุงเทพฯเกิน 10 ล้านคน ทำให้การจัดการยากขึ้น มีปัญหารุมเร้า และตอนนี้ประชากรโลกมีเกือบ 7 พันล้าน มีการกระทบสมดุลของธรรมชาติเกิดการเปลี่ยนแปลง ส่วนการสร้างพื้นที่พักผ่อนทางทะเลเขตบางขุนเทียนอาจทำได้ยาก แต่เป็นสิ่งที่ดี ตนขอเอาเรื่องนี้ไปหารือผู้ว่าฯเพราะคนกรุงเทพฯต้องมีสิ่งแบบนี้ โดยพื้นที่ชายทะเลบางขุนเทียนมีระยะทาง 12 กิโลเมตรจากถนนพระราม 2

               ด้านนายเสรี กล่าวว่า ตนมองเรื่องกรุงเทพฯ ในฝัน ในลักษณะความยั่งยืน โดยเฉพาะสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ซึ่งมักไม่ได้รับการบำรุงรักษา แม้ว่ามีหน่วยงานที่ดูแลโดยตรงอย่างกรมโยธาธิการและผังเมืองแล้ว ก็ควรมีเอกชนเข้ามาจัดการดูแลร่วมด้วยอย่างในหลายประเทศ ไม่ใช่แค่มีภาครัฐเข้ามาดูแล อย่างไรก็ตามจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั่วโลก ฝ่ายบริหารต้องมีมาตรการรับมือ และหน่วยงานต่างๆอย่างสถาปนิก ก็ต้องออกแบบว่าจะใช้วัสดุก่อสร้างอย่างไร ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งหลังคาและผนังที่ทนทานต่อความร้อนภายนอก ทั้งนี้ มีข้อมูลบ่งชี้ว่าในฤดูฝนปีนี้จะมีปริมาณฝนมาก ดังนั้นการจะสร้างอะไรต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ด้วย

               นายเสรี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีดัชนีตัวเลขชี้ว่า กรุงเทพฯ มีความเสี่ยงในเรื่องต่างๆ ได้แก่ เรื่องโรคติดต่อ อุณหภูมิที่สูงขึ้นกว่าปกติ เนื่องจากเป็นป่าคอนกรีต พื้นที่ชุ่มน้ำเริ่มหายไป พายุที่มีมากขึ้น และระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ตนจึงฝันว่าจะทำอย่างไรไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และความฝันของตนอีกอย่างคือการพัฒนาพื้นที่ชายทะเลบางขุนเทียน 4.7 กิโลเมตร ให้ประชาชนสามาถเดินทางไปท่องเที่ยวได้ ไม่จำเป็นต้องไปทะเลที่อื่น เพราะคนกรุงเทพฯ มีความเครียดมาก คนนิยมเดินทางไปพักผ่อนที่ทะเลอย่างหัวหิน พัทยา แต่ทั้งๆ ที่กรุงเทพฯ ก็มีทะเล แต่ยังไม่ได้รับการพัฒนา คนจึงไม่นิยมไป

               ด้านนายทวีจิตร กล่าวว่า งานสถาปัตยกรรมมักเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม ความเชื่อ และความหวั่นกลัวของคน ซึ่งเกิดทุกยุคทุกสมัย ซึ่งปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมา งานด้านสถาปัตยกรรมไม่สามารถแก้ปัญหาได้ สิ่งสำคัญคือการบริหารจัดการของภาครัฐ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในภาพรวม ซึ่งทางสถาปนิก คงแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง เพื่อให้คนอยู่ให้ได้ อย่างน้ำท่วมเกิดประมาณ 2 เดือน ไม่ท่วมอีก 10 เดือน เราจึงทำได้เพียงทำยังไงให้คนอยู่กับ 2 เดือนที่น้ำท่วมให้ได้

               นายทวีจิตร กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ตนฝันอยากเห็นการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระบบรองที่จริงจัง อย่างระบบรถเมล์บีอาร์ที รถโดยสารขนาดเล็ก เพื่อขนส่งผุ้โดยสารเจ้าสู้ระบบหลัก และแม้ว่าจะไม่สามารถบังคับห้ามไม่ให้ประชาชนใช้รถได้ แต่ควรมีการสร้างที่จอดรถให้มากขึ้น เพื่อประชาชนที่เดินทางไกลๆ จะได้ใช้บริการระบบขนส่งมวลชนหลัก และที่จอดรถต้องมีค่าใช้บริการที่ถูกกว่านี้ เพราะขณะนี้ค่าที่จอดรถแพงอยู่ ประชาชนจึงไม่นิยมนำไปจอด