ข่าว

ว่าด้วยเรื่องราชวงศ์ทางการเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ว่าด้วยเรื่องราชวงศ์ทางการเมือง (political dynasty) : ประชาธิปไตยที่รัก โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ [email protected]

            ชื่อหัวข้อมาจากคำในภาษาอังกฤษคือคำว่า political dynasty ซึ่งจะแปลว่า ราชวงศ์ในทางการเมือง ก็อาจจะดูทำให้หวาดเสียวได้ ครั้นจะแปลว่า วงศ์ในทางการเมืองก็ดูจะขาดมิติในเรื่องอำนาจ หรือจะแปลว่าตระกูลใหญ่ในทางการเมืองก็อาจจะดูไม่ยิ่งใหญ่พอ
 
              ส่วนจะแปลว่าทายาททางการเมืองก็อาจจะแคบไปหน่อย เพราะสิ่งที่ต้องการจะเน้นให้เห็นก็คือเรื่องของการสืบทอดอำนาจกันของบรรดานักการเมือง โดยเฉพาะในกรณีของสภา และการสืบทอดอำนาจทางการเมืองนี้อาจจะไม่ใช่ลักษณะง่ายๆ แค่ว่าเรื่องของการสืบทอด "ข้ามรุ่น" คือ พี่มาน้อง พ่อมาลูก (อ่ะฮ่า เมืองไทยมีแนวลูกไปพ่อก็มีนะครับ อันเนื่องมาจากการติดโทษแบนห้าปีก็มีให้เห็นถมไป)
 
              แต่เป็นการขยายวง(ศ์)อำนาจ โดยการมีญาติพี่น้องและคู่ชีวิตมาอยู่ในวงอำนาจทั้งในพื้นที่อำนาจ/ตำแหน่งเดียวกัน และในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ส.ส. กับ ส.ว. หรือ ส.ส. กับเทศบาล องค์กรบริหารส่วนจังหวัด หมู่บ้าน ตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล
 
              ในบ้านเราเรื่องราวเหล่านี้ก็มาจากหลายเหตุปัจจัยเช่นกัน ไอ้ที่ไม่ยากจะเดาก็คือเรื่องของแรงจูงใจของตัวบุคคล ที่จะเข้าสู่อำนาจ แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือบางครั้งการขยายตัวของราชวงศ์ทางการเมืองนั้นเกี่ยวข้องกับ "ผลที่ไม่ได้ตั้งใจ" ของการออกแบบกฎระเบียบบางอย่างที่ต้องการป้องกันเรื่องบางเรื่อง แต่ที่ไหนได้ผลลัพธ์ของเรื่องเหล่านั้นกลับนำไปสู่สิ่งที่ไม่ได้คาดเอาไว้ อาทิ ออกกฎระเบียบเพื่อให้คนทำตาม แต่กลายเป็นว่ากฎระเบียบที่ไม่รัดกุมพอ (ซึ่งบางทีอาจไม่ได้หมายถึงว่า กฎจะต้องเข้มงวด แต่หมายความว่า กฎไม่เข้าใจความซับซ้อนของพฤติกรรมเสียมากกว่า) ทำให้เกิดพฤติกรรมไปในทางอื่น ดังที่สามารถยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ห้ามลงเล่นการเมืองต่อ ก็เอาน้อง พี่ หรือ เมีย หรือ พ่อมาลงแทน หรือห้ามเรื่องเงิน เงินก็ไปโผล่ที่ลูกให้มานั่งตีความอีกว่าจะเอายังไงกันแน่
 
              ดังนั้นสิ่งที่ท้าทายก็คือ ในสังคมประชาธิปไตยนั้น ราชวงศ์ทางการเมืองนั้นเป็นสถานการณ์ที่ฟ้องว่าประชาธิปไตยนั้นทำงานจริงเท็จ/จริงแท้ประการใด
 
              และถ้าเราลองพิจารณาในแง่นี้ บางทีสิ่งที่เราตั้งข้อสงสัยและก่นด่าตลอดเวลาว่า ราชวงศ์การเมืองนั้นเกิดได้เพราะประชาชนขาดคุณภาพจึงไปเลือกคนเหล่านี้เข้ามานั้นเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน
 
              ซึ่งจะว่าไปแล้ว ปรากฏการณ์ที่เรียกว่าราชวงศ์ทางการเมืองนี้ มีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะสังคมไม่เป็นประชาธิปไตย (ซึ่งก็ไม่ต้องสงสัยมากเท่าไหร่) และสังคมประชาธิปไตย (ซึ่งควรสงสัยมากเข้าไว้) หรือแม้กระทั่งตัวอย่างแบบสภาขุนนางในสังคมที่เรียกว่าสังคมประชาธิปไตยก็มีให้เห็น
 
              ไม่ว่าสังคมประชาธิปไตยที่ถูกตั้งคำถามมากอย่างฟิลิปปินส์ หรือแม้กระทั่งอย่างอเมริกาก็มีการตั้งข้อสังเกตมากมาย
 
              งานวิจัยที่น่าสนใจอย่างกรณีของฟิลิปปินส์ ตั้งคำถามถึงรูปแบบของพัฒนาการประวัติศาสตร์ที่ทำให้เกิดชนชั้นบางชนชั้นในเศรษฐกิจการเมืองท้องถิ่นที่ทำให้ตระกูลบางตระกูลมีต้นทุนและแต้มต่อสูง เมื่อเข้าสู่การเมือง และสามารถวางโครงข่ายอำนาจกับส่วนกลางได้
 
              ส่วนงานวิจัยในกรณีอเมริกานั้น ยอมรับว่ามีการสืบทอดอำนาจเช่นกัน แต่มีข้อค้นพบเพิ่มเติมที่น่าสนใจ อาทิ การสืบทอดอำนาจนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติสำหรับคนที่เข้าสู่วงอำนาจไปแล้ว คือว่ามีแนวโน้มว่าถ้าเลือกตั้งได้แล้วหนึ่งครั้งก็จะพยายามหาเครือข่ายและตัวจายตัวแทน และที่น่าสนใจเพิ่มเติมก็คือ ในพื้นที่ที่มีการแข่งขันสูง ราชวงศ์ทางการเมืองจะทำงานได้ยากเพราะว่าต้องคำนึงถึงคุณสมบัติข้ออื่นๆ ด้วย
 
              แต่ในอีกด้านหนึ่ง จะพบว่าคุณสมบัติสำคัญของราชวงศ์ทางการเมืองก็คือตำแหน่งของผู้ที่จะขยายราชวงศ์กับโครงสร้างเครือข่ายและอำนาจของพรรค มากกว่าตัวผู้ที่จะถูกนำมาเป็นส่วนขยาย/ทายาทของราชวงศ์นั้น หรือจะให้พูดง่ายๆ ก็คือ คนที่จะมาลงสมัครนั้นความสามารถของเขาอาจไม่สำคัญเท่ากับพ่อหรือเครื่อข่ายของเขามีเส้นสายกับพรรค และถ้าเกิดการแข่งขันสูงมากในพื้นที่ คนที่สืบทอดอำนาจก็จะพยายามสืบทอดอำนาจ แต่ต้องหาคนมีคุณสมบัติที่สูงและอาจไม่ได้มาจากสายเลือดเดียวกัน (ดังนั้นไม่ว่าผู้เลือกจะเป็นใคร การสืบทอดอำนาจก็ยังดำเนินต่อไป)
 
              สำหรับบ้านเรา ระบบทายาทและราชวงศ์การเมืองนั้นมีมานานแล้ว แต่ผมคิดว่าช่วงนี้กำลังเป็นรอยต่อที่สำคัญ ท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองและโอกาสที่เปิดมากขึ้น อาทิ มีตำแหน่งและที่ให้ลงมาเล่นได้มาก และการตรวจสอบก็มีมากขึ้น และที่สำคัญสิ่งที่เราเคยเชื่อว่าจะมีคนดีมีความสามารถไม่มีเส้นสายจะเข้าสู่วงการการเมืองก็อาจไม่เกิดมาก ทั้งเพราะเจอระบบราชวงศ์ทางการเมือง และระบบเครือข่ายพรรคผ่านการจัดการบัญชีรายชื่อพรรค
 
              หึหึ ไม่รู้จะห่วงใครดี ระหว่างประชาชน ทายาทและราชวงศ์การเมืองที่โดนหมั่นไส้และตรวจสอบอย่างเข้มข้น หรือผู้มีความรู้ความสามารถที่มีโอกาสเข้าถึงการเมืองต่ำลงในท้ายที่สุด...

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ