ข่าว

พบโฉนดที่ดิน'สมัยร.5-6'ฉบับดั้งเดิม

พบโฉนดที่ดิน'สมัยร.5-6'ฉบับดั้งเดิม

27 มี.ค. 2555

พบโฉนดที่ดินเก่าแก่ 2 ฉบับสมัยรัชกาลที่5 และรัชกาลที่ 6 เป็นต้นฉบับของจริงดั้งเดิม อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์และใช้เป็นเอกสารสิทธิ์ได้จนถึงปัจจุบัน

              เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พบโฉนดที่ดินเก่าแก่ 2 ฉบับสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ซึ่งยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์และยังสามารถใช้เป็นเอกสารสิทธิ์ในการครอบครองที่ดินได้จนถึงปัจจุบัน โดยโฉนดที่ดินทั้ง 2 ฉบับ เป็นของนางเครือวัลย์  จันทนา อายุ67 ปี อยู่บ้านเลขที่197/9 ม.1 ต.กำแพงเพชร อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ข้าราชการบำนาญอดีตหัวหน้าสถานีสื่อสาร จ.ปทุมธานี
 
              หลังจากผู้สื่อข่าวได้ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงและพบกับนางเครือวัลย์ได้นำโฉนดที่ดินทั้ง 2ฉบับมาแสดงให้ผู้สื่อข่าวดู พร้อมกับเล่าให้ฟังว่า โฉนดที่ดินทั้งสองฉบับเป็นของสามีที่เสียชีวิตไปแล้วและที่ดินเป็นมรดกที่ตกทอดติดต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบันและยังสามารถใช้เป็นหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือทำธุรกรรมเกี่ยวกับที่ดินได้เหมือนกับโฉนดในปัจจุบันทุกประการ เนื่องจากได้เก็บดูแลรักษาไว้เป็นอย่างดี
 
              สำหรับโฉนดที่ดินทั้ง 2 ฉบับมีขนาดเท่ากันกว้าง12คูณ18 นิ้ว เป็นกระดาษสีน้ำตาล และภาษาที่ใช้ยังเป็นภาษาไทยแบบดั้งเดิม  ฉบับแรกอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 5 มี 3 หน้า โดยข้อความด้านหน้ามีตราแผ่นดินและระบุพระนามพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า พระเจ้าแผ่นดินสยาม เป็นตัวหนังสือหนาสีดำ ออกให้กับนายจั่นบดีดาอำแดงทองคำบุตร เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2457 เป็นโฉนดเลขที่7884 สาระบาญเล่มที่78 น่าที่84 ออกโดย อัมมาตย์เอกพระยาประชาไศรยสรเดช ผู้บัญชาการ นายช้อย เจ้าพนักงานเกษตราธิการ  รองอำมาตย์โทหลวงอินทราชานายอำเภอ ที่ดินตั้งอยู่ในพื้นที่วัดหลวง ต.วัดหลวง อ.พนัศ (พนัศนิคมในปัจจุบัน ) จ.ชลบุรี เนื้อที่5 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา โดยโฉนดฉบับนี้มีอายุ 98 ปี
 
              ส่วนโฉนดที่ดินฉบับที่ 2 อยู่ในสมัยราชการที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งแตกต่างจากฉโนดที่ดินสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเป็นโฉนดแผ่นเดียวด้านหน้าเปลี่ยนเป็นตราครุฑและมีพระนามเป็นตัวหนังสือหนาสีดำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม  ออกให้กับนางเหงี่ยมอยู่ที่บ้านวัดหลวง ในหมู่บ้านที่ 5 ตำบลวัดหลวง ในเขตอ.พนัศนิคม จ.ชลบุรี เนื้อที่10 ไร่ 24 ตารางวา โฉนดเลขที่10247 สาระบาญเล่มที่103 น่าที่47 ออกโดยอำมาตย์เอกพระยาสัจจาภิรมย์อุดมภักดี ผู้บัญชาการ รองอำมาตย์เอกหลวงวินิจสาลี  กรมการตำแหน่งนา รองอำมาตย์โทขนนิคมนครินทร์ นายอำเภอ เมื่อวันที่19 พฤษภาคม 2469 ซึ่งโฉนดฉบับนี้มีอายุ 86 ปี
 
              สำหรับความโดดเด่นของโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับอยู่ที่การใช้ภาษาไทยดั้งเดิมเช่นคำว่า สารบัญ เขียนเป็น "สาระบาญ"  คำว่าหน้าที่ เขียนเป็น "น่าที่"  คำว่าหลักฐาน เขียนว่า "หลักถาน"   คำว่ามรดก เขียนเป็น "มรฎก"  คำว่าประพฤติ เขียนว่า "ประพฤติ์"   คำว่า ภายหน้า เขียนว่า "ภายน่า"  หรือคำว่าและ จะเขียนว่า แล รวมทั้งการเขียนข้อความคำว่าลงลายเซ็นพยานในการตรวจ แต่ใช้ภาษาว่าการลงเส้นกระแสพยานชัณสูตร์ เป็นต้น
 
              นางเครือวัลย์ กล่าวว่า ขณะนี้ที่ดินทั้งสองแปลงซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษของสามีตนยังครอบครองจนถึงปัจจุบันรวมทั้งยังใช้โฉนดที่ดินเก่าแก่ทั้งสองฉบับแสดงกรรมการสิทธิ์ โดยล่าสุดได้มีการตรวจเอกสารสิทธิ์เมื่อปี 2538 และ2539 ที่ผ่านมา ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขโฉนดทั้งสองฉบับแต่อย่างใด เนื่องจากทางส่วนราชการต้องการให้ผู้ที่ถือครองโฉนดแบบนี้อนุรักษ์เอาไว้ 
 
              นางเครือวัลย์ กล่าวอีกว่า ที่มาของโฉนดทั้งสองฉบับทราบจากสามีว่า สมัยก่อนจะมีการออกโฉนดให้กับประชาชนที่อยู่ตามหัวเมืองใหญ่ๆเท่านั้น และเชื่อว่าน่าจะเป็นโฉนดที่เก่าแก่และอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดในขณะนี้ ซึ่งตนได้เก็บดูแลไว้เป็นอย่างดีโดยกำลังอยู่ระหว่างการหาร้านจัดทำกรอบไว้ใส่