
"ไซดักปลา" ผลิตภัณฑ์จากไผ่ เสริมรายได้ชาวบ้าน"วังหิน"
อานิสงส์จากโครงการพลิกฟื้นไม้เศรษฐกิจในเขตปฏิรูปที่ดิน ตามนโยบายของรัฐบาลที่นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) พยายามเร่งดำเนินการ จนเริ่มจะเห็นผลเป็นรูปธรรม หลังจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้นำ "ต้นไผ่" มาแปรรูปเป
ใบศรี คำกอง อายุ 58 ปี อยู่บ้านเลขที่ 63/1 หมู่ 7 ต.วังหิน อ.หนองสองห้อง จ.ขอนแก่น หนึ่งในเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการบอกว่า แม้ครอบครัวจะมีอาชีพทำนา แต่รายได้หลักกลับมาจากการทำ "ไซดักปลา" ขาย เนื่องจากสามารถทำรายได้ตลอดทั้งปี ในขณะที่การทำนาจะทำได้เพียงปีละครั้งหรือนาปีเท่านั้น เพราะว่าต้องอาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว
"การทำไซดักปลานี้ เป็นมรดกที่ตกทอดมาจากรุ่นปู่รุ่นพ่อของเรา เท่าที่จำความได้ก็เห็นพ่อทำไซดักปลาแล้ว แต่ผมเพิ่งมาหัดทำเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง โดยพี่เป็นคนสอนให้ทำ เพราะเห็นว่ารายได้ดี แล้ววัสดุที่ใช้คือต้นไผ่ ปัจจุบันนี้หาง่ายมาก มีปลูกกันเต็มไปหมดทุกหัวระแหง"
สาเหตุที่ชาวบ้านปลูกไผ่กันมาก ใบศรีเผยว่าเป็นเพราะ ส.ป.ก.ของแก่น ได้เข้ามาให้การส่งเสริมสนับสนุนในการปลูก เนื่องจากเห็นว่าไผ่นั้นมีประโยชน์หลายอย่าง ส่วนตนก็ปลูกตามคันนา ซึ่งขณะนี้ก็มีอยู่หลายสิบกอที่พร้อมจะนำมาใช้ประโยชน์ได้
"ต้นไผ่ที่นำมาทำไซ ต้องไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป ขนาดกลางๆ อายุประมาณ 2-3 ปี เพราะถ้าแก่เกินไป มันก็จะหักง่าย ส่วนไผ่ที่เอามาทำส่วนใหญ่จะเป็นไผ่สีสุก เพราะทนทานและมีความยืดหยุ่นสูง โดยไผ่ 1 ลำจะสามารถทำไซได้ 1 ลูก ซึ่งแต่ละลูกจะใช้เวลาทำประมาณ 3-5 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของไซด้วย" ใบศรีระบุ
ส่วนราคานั้นจะขึ้นอยู่กับขนาดและความยาว โดยไซที่มีความยาว 3 เมตร สนนราคาอยู่ที่ 1,230 บาทต่อลูก ซึ่งเป็นขนาดใหญ่ที่สุด โดยลูกค้าที่สนใจไซชนิดนี้ มักจะเอาไปไว้ประดับตกแต่งบ้านเรือนมากกว่าจะใช้ดักปลาจริงๆ ในขณะที่ไซที่นำมาใช้ดักปลานั้นจะมีขนาดความยาวประมาณ 1-2 เมตรเท่านั้น สนนราคา 150-230 บาทต่อลูก ลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นคนในหมู่บ้าน ปัจจุบันสามารถจำหน่ายได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 5-6 ลูก
"ต้นทุนอยู่ที่ต้นไผ่อย่างเดียว อย่างอื่นไม่มี ซึ่งขณะนี้ต้นไผ่ซื้อขายกันอยู่ที่ลำละ 50-60 บาท แต่ถ้าเป็นไผ่ของเราเองก็จะไม่มีต้นทุนในส่วนนี้ ก็มีแต่กำไร"
ใบศรียอมรับว่า เรื่องการตลาดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะก็ต้องขึ้นอยู่กับฤดูกาลด้วย โดยเฉพาะฤดูฝนจะขายได้ดีมาก ทำแทบไม่ทัน แต่ถ้าเป็นฤดูหนาวหรือฤดูร้อนจะขายไม่ค่อยได้ แต่ที่ต้องทำก็เพราะต้องเตรียมไว้ในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง
ด้าน นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานของโครงการพลิกฟื้นไม้เศรษฐกิจในเขตปฏิรูปที่ดิน ระหว่างเป็นประธานในพิธีทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อสมทบทุนจัดหาพันธุ์ไผ่เลี้ยงให้ชาวบ้านใน ต.วังหิน อ.หนองสองห้อง จ.ขอนแก่น ว่า มีอยู่ 3 แนวทางด้วยกัน คือระดับเกษตรกรรายแปลง ระดับหมู่บ้านและระดับชุมชน โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้เศรษฐกิจ ตามความถนัดในแต่ละพื้นที่
"อย่างที่วังหินชาวบ้านนิยมปลูกไผ่กันมาก เราก็ส่งเสริมให้เขาปลูกไผ่ตามที่เขาถนัด นอกจากจะช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าแล้ว ชาวบ้านก็ยังได้ประโยชน์จากไผ่อีกหลายทาง เช่น นำไผ่มาทำตะเกียบ ไม้จิ้มฟัน ไซ และอีกหลายอย่าง ถือเป็นการสร้างรายได้เสริมให้แก่พวกเขาได้เป็นอย่างดี" เลขาธิการ ส.ป.ก.กล่าวทิ้งท้าย
"ไซดักปลา" หนึ่งในดอกผลจากโครงการพลิกฟื้นไม้เศรษฐกิจในเขตปฏิรูปที่ดินที่สามารถสร้างรายได้เสริมให้แก่ชาวบ้านใน ต.วังหิน ได้เป็นอย่างดี
"สุรัตน์ อัตตะ"