
'Say No To Drugs'ติวเข้มกับครูแดร์
'Say No To Drugs'ติวเข้มกับ...ครูแดร์ : สารพันตำรวจ โดย พัฐอร พิจารณ์โสภณ
หลายคนอาจสงสัยว่า "ครูแดร์" คือใคร? แต่เด็กๆ กว่า 7 แสนคน ในรอบ 13 ปีนี้ ไม่มีใครไม่รู้จัก "ครูแดร์" !!
"ครูแดร์" ก็คือ ตำรวจ ที่สลัดคราบโหดๆ มาเป็น ครู สอนฮาๆ ตามโครงการ D.A.R.E. (Drug Abuse Resistance Education) หรือที่เรียกทับศัพท์ว่า "แดร์" เป็นโครงการป้องกันการแพร่ระบาดยาเสพติดในเด็กนักเรียนของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจะเน้นติวเข้มเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ทั่วประเทศ เพราะเด็กชั้น ป.6 กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเสี่ยงต่อการตกเป็นทาสยาเสพติด
"...ดี เอ อาร์ อี-แดร์..." เสียงใสๆ ของเด็กชั้น ป.6 ดังมาจากชั้นเรียนวิชาแนะแนวพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา ภายในงาน "รวมพลังคน D.A.R.E. สู้ภัยยาเสพติด" เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา โดยงานนี้ เป็นการรวมตัวของครูแดร์เกือบทุกรุ่น
ตลอด 13 ปี ตั้งแต่โครงการแดร์มาดำเนินการในประเทศไทยเมื่อปี 2542 ผลิตครูตำรวจแดร์กว่า 2,000 คน...พ.ต.ท.ธีรวีร์ แก้วฉีด สวป.สภ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี หนึ่งในครูตำรวจแดร์รุ่นบุกเบิก บอกว่า มาสอนด้วยความสมัครใจ เพื่อให้เด็กมีความรู้เกี่ยวกับการป้องกันตัวเองจากปัญหายาเสพติด ซึ่งครูแดร์นั้น จะต้องมีมนุษยสัมพันธ์ดี แต่ไม่เน้นว่าจะต้องหน้าตาดี (ฮา) ส่วนการสอนนั้นจะเน้นให้เด็กมีส่วนร่วม สนุกสนานที่จะเรียนรู้ สร้างภูมิคุ้มกันต่อเรื่องยาเสพติด
"ทุกวันนี้ เด็กๆ จำนวนไม่น้อยรู้จักครูตำรวจแดร์ เพราะเมื่อเขาเห็นสัญลักษณ์ เด็กๆ จะก็มาถามว่า พี่เป็นครูแดร์รึเปล่าครับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขารู้จักเรา และเขาได้รับวัคซีนจากเราไปเรียบร้อยแล้วในการป้องกันยาเสพติด" พ.ต.ท.ธีรวีร์ บอก
พ.ต.ท.ธีรวีร์ บอกด้วยความภูมิใจอีกว่า การเป็นครูตำรวจถือว่าเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่มาก ในการช่วยแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่เยาวชน ให้รู้จักและกล้าที่จะปฏิเสธยาเสพติด ตลอดจนดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากยาเสพติด
"สิ่งที่ได้เห็นในการสวมเครื่องแบบแล้วมาสอนในหลายๆ โรงเรียน รู้สึกได้เลยว่า เด็กมีทัศนคติที่ดีกับตำรวจมากขึ้น เด็กๆ ส่วนใหญ่ ยังอยากที่จะเป็นตำรวจ พวกเขาบอกว่าอยากเป็นตำรวจเหมือนครู" ครูตำรวจแดร์บอกด้วยรอยยิ้มภูมิใจ
เช่นเดียวกับ พ.ต.ท.ธัญญา จันทร์ตา สวป.สภ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ สมัครใจมาเป็นครูตำรวจแดร์ ครบ 10 ปีเต็ม บอกว่า จากประสบการณ์ในการทำงานด้านยาเสพติดมา ทำให้รู้ว่ามันน่ากลัวและเลวร้าย จึงอยากจะนำประสบการณ์ที่มีมาเติมทักษะให้เด็กๆ เพื่อที่เด็กๆ จะได้ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดได้มากขึ้น
"ในห้องหนึ่งถ้ามีเด็กนักเรียน 30 คน เมื่อเราสอนแล้วเขาเชื่อเกินครึ่งก็ถือว่าประสบผลสำเร็จแล้ว ครูแต่ละคนก็จะมีเทคนิคประสบการณ์ มุกตลก กิจกรรมแตกต่างกัน แต่สิ่งที่มีเหมือนกันคือการสอนเกี่ยวกับการไม่ให้เด็กไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด" พ.ต.ท.ธัญญา บอกถึงหัวใจสำคัญของการเป็นครูแดร์
พ.ต.ท.ธัญญา บอกอีกว่า ถึงแม้ว่าตอนนี้ครูตำรวจแดร์ จะยังไม่เยอะเพราะบางทีฝึกมาแล้วเขาก็ย้ายไป ก็ต้องมีการผลิตในพื้นที่เข้ามาทดแทน ซึ่งปัญหาอีกอย่างนอกจากครูยังไม่พอแล้ว ปัญหาในพื้นที่โรงเรียนห่างไกล ครูแดร์ก็ต้องพยายามบุกป่าฝ่าดง เข้าไปสอนเด็กๆ ให้รู้ถึงพิษภัยและโทษของยาเสพติดด้วย
ด้าน ด.ต.นพรัตน์ มาระศรี ผบ.หมู่งานป้องกัน สภ.เมืองนนทบุรี ยอมรับว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา รู้สึกภูมิใจที่มีส่วนทำให้เด็กไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด โดยจะสอนเด็กๆ ถึงพิษภัยของยาเสพติดร้ายแรงเพียงใด อย่าเข้าไปยุ่งเกี่ยว หากใครกำลังยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอยู่ ต้องรีบไปบำบัดเสีย
ส่วน ร.ต.ท.สิทธิศักดิ์ บุปผามาลา รองสว.ป.สภ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา บอกว่า ครูตำรวจเป็นงานที่ท้าทายมาก ไม่รู้ว่าเด็กๆ จะเชื่อแค่ไหน แต่อยากให้เขารู้ถึงวิธีปฏิเสธเวลาเพื่อนชวน และรู้วิธีป้องกันตัวเองให้ห่างไกลยาเสพติดได้เท่านั้น
...........
(หมายเหตุ : 'Say No To Drugs'ติวเข้มกับ...ครูแดร์ : สารพันตำรวจ โดย พัฐอร พิจารณ์โสภณ)