
'ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร'
ชุมชน คนท้องถิ่น : ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร วีรสตรีเมืองถลาง : โดย ... เรือนอินทร์ หน้าพระลาน
งานสดุดีท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร 13-15 มีนาคม 2555 ณ โคกชนะพม่า (บ้านเหรียง) อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ได้รับยกย่องเป็นวีรสตรี เพราะป้องกันเมืองถลางจากพม่าที่ยกทัพมาประชิด ในสงครามเก้าทัพ เมื่อ พ.ศ.2328 ไว้ได้
ท้าวเทพกระษัตรี เดิมชื่อ จัน ท้าวศรีสุนทร เดิมชื่อ มุก เป็นบุตรีเจ้าเมืองถลาง ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านตะเคียนเรียกกันว่า จอมร้างบ้านตะเคียน
วีรกรรมของท่านทั้งสอง มีบันทึกในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ว่า
"...ฝ่ายยี่วุ่นแม่ทัพเรือพม่าก็ยกทัพเรือลงไปตีเมืองตะกั่วป่าตะกั่วทุ่งแตก แล้วยกไปถึงเกาะถลาง ให้พลทหารขึ้นบกเข้าตั้งค่ายล้อมเมืองถลางไว้เป็นหลายค่าย และเมื่อกองทัพพม่าไปถึงเมืองนั้น พระยาถลางถึงแก่กรรมเสียก่อนแล้ว ยังหาได้ตั้งเจ้าเมืองใหม่ไม่ และจันภรรยาพระยาถลางกับน้องหญิงคนหนึ่งชื่อมุก คิดอ่านกับกรมการทั้งปวง เกณฑ์ไพร่พลตั้งค่ายใหญ่สองค่าย ป้องกันรักษาเมืองเป็นสามารถ และตัวภรรยาพระยาถลางกับน้องผู้หญิงนั้น องอาจกล้าหาญมิได้เกรงกลัวย่อท้อต่อข้าศึก เกณฑ์กรมการกับพลทหารทั้งชายหญิง ออกระดมยิงปืนใหญ่น้อยนอกค่ายสู้รบกับพม่าทุกวัน ทัพพม่าจะหักเอาเมืองมิได้ แต่สู้รบกันอยู่ประมาณเดือนเศษ พม่าขัดเสบียงอาหาร จะหักเอาเมืองมิได้ ก็เลิกทัพลงเรือกลับไป..."
วีรกรรมครั้งนั้นทำให้รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ คุณหญิงจัน เป็น ท้าวเทพกระษัตรี นางมุก เป็นท้าวศรีสุนทร
ราชการได้ตั้งนามสถานที่ตั้งเมืองถลางเมื่อครั้งศึกพม่าว่า ต.เทพกระษัตรี และรวม ต.ท่าเรือ กับ ต.ลิพอน ตั้งเป็นตำบลชื่อ ต.ศรีสุนทร
จังหวัดได้สร้างอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร เมื่อ พ.ศ.2509 กลางวงเวียน ถนนเทพกระษัตรี อ.ถลาง (บ้านท่าเรือ)
บริเวณทุ่งนาหลวง ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง ที่เชื่อว่าเป็นทุ่งสมรภูมิของวีรกรรมในครั้งนั้น หรือที่ชาวบ้านเรียก โคกชนะพม่า จังหวัดจัดสร้างเป็นอนุสรณ์สถานถลางชนะศึก เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสำคัญของตน
----------
(หมายเหตุ : ชุมชน คนท้องถิ่น : ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร วีรสตรีเมืองถลาง : โดย ... เรือนอินทร์ หน้าพระลาน)
----------