
ภารกิจคืนชีวิต'หอยปะ'ลุ่มปะเหลียน
เปิดใจผู้นำท้องถิ่น : คืนชีวิต'หอยปะ'ลุ่มปะเหลียน ภารกิจชุมชน'ธเนศ คืนตัก'
"ทุ่งกระบือ" เป็นตำบลหนึ่งของ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง มีพื้นที่ด้านทิศใต้ติดกับ 3 อำเภอ คือ อ.ปะเหลียน อ.กันตัง และ อ.หาดสำราญ เนื่องจากเป็นแนว "ลุ่มน้ำปะเหลียน" ที่ไหลลงสู่ทะเลอันดามัน ดังนั้นในพื้นที่ที่มีอยู่ 61.60 ตารางกิโลเมตร หรือราว 38,500 ไร่ และประชากร 2,063 ครัวเรือน จำนวน 8,096 คน จึงมีความเกี่ยวพันกับท้องทะเลในหลากหลายมิติ ก่อเกิดทั้งวิถีชีวิต อาชีพ รายได้ และสังคมรูปแบบต่างๆ จนถือเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
หนึ่งในนั้นคือ การอนุรักษ์ "หอยปะ" หรือ "หอย 2 ฝา" บางพื้นที่เรียก "หอยขาว" หรือ "หอยตลับลาย" ซึ่งมีอยู่นับล้านๆ ตัว ตลอดแนวหมู่บ้านปากแม่น้ำในฝั่งตะวันออกตั้งแต่บ้านหินคอกควาย และฝั่งตะวันตกตั้งแต่บ้านวังวนลงไป ได้บ่งบอกถึงทรัพยากรที่หล่อเลี้ยงผู้คนมายาวนาน โดยเฉพาะในร่องน้ำระหว่างสองฝั่งที่มีเกาะเล็กๆ ชื่อ "เกาะหอไหร้" ที่ปกคลุมไปด้วยป่าชายเลน ซึ่งเป็นทั้งที่ผสมพันธุ์ ฟูมฟัก และอาศัยของหอยปะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ธเนศ คืนตัก นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทุ่งกระบือ บอกว่า การหาหอยชนิดนี้ในอดีต ชาวบ้านเรียก "คุ้ยหอย" โดยใช้เท้าเขี่ยและมือเก็บด้วยวิธี "ถีบกระดาน" ครั้นเมื่ออุตสาหกรรมผลิตอาหารทะเลเริ่มซื้อหอยปะเข้าโรงงาน วิถีดั้งเดิมก็เปลี่ยนไป มีการใช้เรือและเครื่องมือคราดเก็บเพื่อให้ได้ครั้งละมากๆ จากเดิมเลือกเฉพาะหอยตัวใหญ่มากินมาขาย ก็กลายเป็นเก็บกวาดขึ้นมาหมดทั้งตัวเล็กตัวน้อย เพื่อนำไปลงกระทะต้มและส่งขายเป็นกิโลกรัม เปลือกหอยที่ซ้อนทับกันมานานปีในท้องทะเล จึงเริ่มเล็กลงตามจำนวนชั้นที่เพิ่มขึ้น
จากปัญหาการลักลอบใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ผิดกฎหมาย จ.ตรังในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อหอยปะ จนทำให้มีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็วนั้น ชาวประมงทั้งในพื้นที่ ต.ทุ่งกระบือ และตำบลใกล้เคียง เดือดร้อนอย่างหนัก เพราะอาชีพที่เคยเลี้ยงครอบครัวมาหลายชั่วอายุคนเริ่มมีท่าทีวิกฤติ และหากไม่มีผู้รับผิดชอบออกมาดำเนินการอย่างจริงจัง ก็ไม่แน่ว่าในอนาคตหอยชนิดนี้อาจต้องสูญพันธุ์ เพราะส่วนใหญ่จะถูกไล่ล่าเพื่อส่งให้พ่อค้าวันละจำนวนมากๆ
"เครื่องมือจับหอยที่ว่าจะเป็นเหล็กขนาด 2-3 หุน เชื่อมติดกันเป็น 4 เหลี่ยม เหมือนกรงนกขนาดใหญ่ ฝั่งหนึ่งเปรียบเหมือนด้านหน้า เว้นว่างเอาไว้สำหรับให้หอยเข้า ส่วนอีกฝั่งใช้อวนเย็บเป็นถุงเพื่อป้องกันไม่ให้หอยหลุดออก แล้วนำเครื่องมือนี้ไปผูกติดกับเรือลาก หอยที่ฝังตัวอยู่ในทรายจะเข้าไปติดในอวน เมื่อได้จำนวนมากก็นำหอยขึ้นมาเทในเรือ ซึ่งหากมองทั่วๆ ไปก็เหมือนกับเรือวิ่งธรรมดา เพราะเครื่องมือดังกล่าวถูกผูกจมอยู่ในน้ำ"
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวิธีดังกล่าว ทำได้แม้จะเป็นช่วงที่น้ำทะเลขึ้นสูง ที่สำคัญคือทำให้ได้หอยครั้งละมากๆ อีกทั้งเสมือนไปตัดห่วงชีวิตในการเจริญเติบโต เนื่องจากหอยไม่สามารถว่ายน้ำหนีการดักจับได้ ดังนั้นชาวประมงพื้นบ้านจึงร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายอำเภอ ผู้นำท้องถิ่น กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ทั้ง 3 พื้นที่ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้หาทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและจริงจัง
ต่อมาจังหวัดจึงได้หารือร่วมกับหลายฝ่าย รวมทั้ง อบต.ทุ่งกระบือ เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับพื้นที่อนุรักษ์หอยปะบริเวณ "ลุ่มน้ำปะเหลียน" ตามมติ 5 ข้อหลัก คือ 1.ให้จัดระบบเรื่องบริหารงานทั้ง 3 อำเภอ และกำหนดเขตอนุรักษ์ให้ชัดเจน 2.ให้ปักหลักแนวเขตอนุรักษ์ พร้อมทำป้ายให้เห็นเด่นชัด 3.ให้ใช้อวนตาถี่ขนาดไม่น้อยกว่า 2.5 เซนติเมตร 4.ให้ปล่อยพันธุ์หอยลงสู่พื้นที่อนุรักษ์ และ 5.ห้ามชาวประมงนำคราดไปประกอบเรือยนต์เพื่อจับหอย หากพบจะจับกุมและยึดเรือทันที เพราะถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย
"เป็นที่น่าดีใจว่าชาวบ้านชายฝั่ง ทั้งบ้านแหลมวังวน อ.กันตัง บ้านหินคอกควาย อ.ปะเหลียน หรือบ้านทุ่งตะเซะ อ.ย่านตาขาว ได้รวมตัวกันจัดกิจกรรมฟื้นฟูป่าชายเลนบนเกาะหอไหร้ และพื้นที่โดยรอบ ตั้งแต่ปี 2541 มีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน อบต.พื้นที่ ให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะ นายน้อม ฮันเย็ก อดีตผู้ใหญ่บ้านทุ่งตะเซะ ผู้เสียสละแรงกายแรงใจรักษาทรัพยากรธรรมชาติมานานหลายสิบปี"
กิจกรรมดังกล่าว "ธเนศ คืนตัก" มองว่า เป็นกรณีตัวอย่างของการใช้สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น และการรักษาป่าชายเลนลุ่มน้ำปะเหลียน พร้อมเป็นการฟื้นฟูธรรมชาติ สร้างความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ รวมทั้ง "หอยปะ" รอบๆ เกาะ อันเชื่อมโยงไปถึงการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่เป็นเจ้าของทรัพยากรร่วมกัน และแบ่งสันปันส่วนใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ก่อนที่สัตว์น้ำประจำถิ่นจะสูญหายไป เพราะการไล่ล่าของมนุษย์อย่างไร้ขอบเขต เพียงเพื่อกอบโกยผลประโยชน์
.................................
(เปิดใจผู้นำท้องถิ่น : ภารกิจชุมชน'ธเนศ คืนตัก'คืนชีวิต'หอยปะ'ลุ่มปะเหลียน)