ข่าว

บุญผะเหวด ของชาวร้อยเอ็ด

บุญผะเหวด ของชาวร้อยเอ็ด

02 มี.ค. 2555

ชุมชนคนท้องถิ่น : บุญผะเหวด ของชาวร้อยเอ็ด โดย...เรือนอินทร์ หน้าพระลาน

                งานบุญผะเหวดร้อยเอ็ด 2-4 มีนาคม 2555 ณ บริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด และบริเวณบึงพลาญชัยร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด

               ร้อยเอ็ด มีนามเต็มในตำนานว่า "เมืองร้อยเอ็ดประตู" หมายถึง เมืองที่อำนาจทางการเมืองและการค้าแผ่ขยายกว้างไกลออกไปทุกสารทิศ เสมือนมีร้อยเอ็ดประตูเมือง ประดุจกรุงทวารวดีในมหากาพย์ของชมพูทวีป จากหนังสือ ร้อยเอ็ด มาจากไหน? กระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.2553)

              งานบุญผะเหวดเป็น 1 ในประเพณี 12 เดือน หรือ ฮีตสิบสอง ของชาวอีสาน จัดขึ้นในเดือนสี่ ตรงกับช่วงเดือนมีนาคม

              ผะเหวด หมายถึง พระเวสสันดร ตามสำเนียงอีสาน

             หัวใจสำคัญของประเพณีนี้คือ การเทศน์เรื่องพระเวสสันดรชาดกหรือเทศน์มหาชาติ จำนวน 13 กัณฑ์ เพื่อระลึกถึงพระเวสสันดร พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญเพียรบารมีชาติสุดท้ายของพระองค์ก่อนจะเสวยชาติ และตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าภายหลัง

             เดือนสี่ เป็นช่วงหลังเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหาร ชาวนาชาวไร่พักรอฤดูการผลิตใหม่ในช่วงฤดูฝนจะมาถึง มีอาหารและพืชพันธุ์ที่เพาะปลูกเก็บตุนไว้พร้อม จึงเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านจะพัก และเตรียมซ่อมแซมเครื่องมือเครื่องใช้ในการเพาะปลูก ทำมาหากิน มีการเผาศพที่เก็บฝังไว้ก่อนหน้านี้ รวมไปถึงทำบุญ ทำพิธีไหว้ผีไหว้บรรพชน

            ปรานี วงษ์เทศ อธิบายไว้ในหนังสือ ประเพณี 12 เดือน (มติชน, 2548) ว่า ช่วงนี้ชุมชนท้องถิ่นสมัยก่อนจะมีงานชุกชุมทั้งงานวัด งานบุญ งานศพ เลี้ยงผี เช่น ผีบรรพชน (ผีฟ้า ผีมด ผีเม็ง) ฯลฯ ในอีสาน-สองฝั่งโขงสมัยก่อน นิยมมีบุญพระเวส คือเทศน์มหาชาติ เพราะชาวบ้านมีเวลาหลังเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหาร ข้าวปลาอาหารสมบูรณ์แล้ว

            เหตุนี้ชุมชนท้องถิ่นอีสาน จึงมีพิธีกรรมเลี้ยงผีครั้งใหญ่ตามวัฒนธรรมดั้งเดิม เมื่อรับพุทธศาสนาจึงนำมาผสมกลมกลืนเป็นทำบุญตามความเชื่อทางศาสนา

..........................
(ชุมชนคนท้องถิ่น : บุญผะเหวด ของชาวร้อยเอ็ด โดย...เรือนอินทร์ หน้าพระลาน)