ข่าว

พิษณุโลกแจกคูปองน้ำท่วมรอบ2แล้ว

พิษณุโลกแจกคูปองน้ำท่วมรอบ2แล้ว

26 ม.ค. 2555

พลังงานพิษณุโลกแจกคูปองสินค้าเบอร์ 5 เยียวยาผู้ประสบอุทกภัยรอบ 2 ระหว่าง10-20 กุมภาพันธ์นี้ นายกรัฐมนตรีร่วมประชุม WEF ย้ำความเชื่อมั่นแก่ผู้นำและนักลงทุน ชี้แจงแผนป้องกันหลังวิกฤตน้ำ กทม.-รัฐบาลตกลงร่วมกัน 12 ข้อครึ่ง แก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ

               26ม.ค.2555 นายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงพลังงาน ได้จัดทำโครงการ “สินค้าเบอร์ 5 เยียวยาผู้ประสบอุทกภัย” เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่ประสบอุทกภัย โดยโครงการดังกล่าวได้มีการแจกจ่ายคูปองส่วนลดให้กับครัวเรือนของ ผู้ที่ประสบอุทกภัยเป็นมูลค่าครัวเรือนละ 2,000 บาท สำหรับเป็นส่วนลดซื้อเครื่องใช้ ไฟฟ้าประหยัดพลังงานเบอร์ 5 ในร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2554 ถึงวันที่ 6 มกราคม 2555 เนื่องจากมีประชาชนผู้ประสบอุทกภัยจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้รับคูปอง กระทรวงพลังงานจึงมีกำหนดแจกคูปอง รอบที่ 2 ในระหว่างวันที่ 10-20 กุมภาพันธ์ 2555 ณ ที่ว่าการอำเภอที่ประสบอุทกภัย โดยคูปอง รอบที่ 1 และรอบที่ 2 สามารถใช้ได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2555 จังหวัดจึงขอประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัยได้ทราบโดยทั่วถึงกัน
 
                 สำหรับร้านค้าในจังหวัดพิษณุโลกที่ได้เข้าร่วมโครงการกับกระทรวงพลังงาน มีจำนวน 13 ร้าน ได้แก่ หจก.ราชาริมน้ำการไฟฟ้า บริษัทสะอาดอีเล็คทริค จำกัด บจก.ไทยมาร์ท อิเล็คโทรนิก มอลล์ บจก. ไทยมาร์ท อิเล็คโทรนิก เซ็นเตอร์ หจก.แอร์ ซิตี้ ร้านที วี ดิจิตอล บางระกำ(ธานินทร์วิวัฒน์) หจก.พิพัฒน์ อีเล็คทริคส์ ร้านรวมการไฟฟ้า ห้าง บิ๊ก ซี ห้างโลตัส หจก.พิษณุโลก อาร์ พี เซอร์วิส ร้านเพาเวอร์บาย สาขาไทยวัสดุ พิษณุโลก และ ร้านเพาเวอร์บาย สาขาเซ็ลทรัล พิษณุโลก

                 รายงานข่าวจากผู้ประสบภัยน้ำท่วมจังหวัดนนทบุรีโดยเฉพาะฝั่งตะวันตกซึ่งท่วมนานกว่า 2 เดือนว่า ขณะนี้เพิ่งได้รับเงินช่วยเหลือ 5 พันบาท ส่วนที่มีการประเมินรับเพิ่มนั้นไม่รู้ว่าจะผ่านการพิจารณาจ่ายเมื่อใดทั้งๆที่แจงเรื่องไปยังเทศบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เรียบร้อยไปนานแล้ว ส่วนคูปองดังกล่าวไม่ต้องพูดถึงเพราะเงียบฉี่


รณรงค์ฟื้นฟูพื้นที่การเกษตร

                 ที่ห้องประชุมสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดพิษณุโลก ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก ชั้น 5 นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ตรวจเยี่ยมและพบปะผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัดพิษณุโลก เพื่อรับทราบและติดตามการดำเนินงานการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของรัฐบาลรวมถึงเสียงสะท้อนจากเกษตรกรและประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ที่มีต่อแนวทางและมาตรการการช่วยเหลือของรัฐบาล
 
                 หลังจากนั้น อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้เดินทางไปเป็นประธานเปิดงานรณรงค์ “โครงการรณรงค์ฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรหลังน้ำลดปี 2554” ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดพิษณุโลก(พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง) อำเภอเมือง จ.พิษณุโลก โครงการดังกล่าว กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลัก ในการพัฒนาเกษตรกรให้เสามารถผลิตสินค้าเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการกำหนดมาตรการที่จะเยียวยาพี่น้องเกษตรกรผู้ประสบภัยให้สามารถพลิกฟื้นที่ดินทำกินทางการเกษตรให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เพื่อให้สามารถเริมต้นการผลิตได้อย่างรวดเร็วและสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยทุกสาขาอาชีพทุกราย ได้รับการเยียวยา มีพืชผักไว้บริโภคในครัวเรือน เพื่อเป็นการลดรายจ่ายของครอบครัว ภายหลังเปิดงานแล้ว อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้เข้าเยี่ยมชมบูธการส่งเสริมและพัฒนาอาขีพ พร้อมทั้งได้ให้กำลังใจกับเกษตรกรที่ได้เข้าร่วมในโครงการครั้งนี้ด้วย


ทต.ริมปิงเยียวยาเหยื่อน้ำท่วม

                 นายอเนก มหาเกียรติคุณ นายกเทศบาลตำบลริมปิง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเทศบาลตำบล(ทต.)ริมปิง อ.เมือง จ.ลำพูนได้ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(น้ำท่วม)แก่ประชาชนใน ต.ริมปิงให้ได้รับเงินช่วยเหลือกรณีน้ำท่วมขังกว่า 93 หลังคาเรือน หลังคาเรือนละ 5,000 บาท รวมเงินทั้งสิ้นกว่า 465,000 บาท เนื่องจากพื้นที่ของ ทต.ริมปิง เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ที่มักประสบปัญหาอุทกภัยเป็นประจำ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น หมู่ 1 2 3 6 9 และหมู่ 10 ซึ่งถือว่าประสบปัญหากว่าครึ่งตำบล จากต.ริมปิงมี 10 หมู่บ้าน

                 ทั้งนี้ ได้เตรียมแผนดูแลในการแก้ไขปัญหา แต่ก็จำกัดในด้านงบประมาณ และขณะนี้ทาง ทต.ริมปิงได้เสนอโครงการขอรับความช่วยเหลือ ไปยังหน่วยงานส่วนกลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ อำเภอ โยธาจังหวัด ฯลฯ เพื่อ พิจารณาให้ความช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยมีโครงการต่างๆที่ได้เสนอไป ซึ่งเป็นโครงการตามแผนงานฟื้นฟูและเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดจังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นโครงการต่างๆที่ได้เสนอไป เช่น ความเดือดร้อนของประชาชนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ อำเภอ โยธาจังหวัด ฯลฯ เพื่อ เช่น โครงการก่อสร้างอาคารป้องกันตลิ่ง ( หมู่ที่ 7 บ้านหนองผำ ถึง หมู่ที่ 9 บ้านสบปะ , โครงการปรับปรุงพนังกั้นน้ำปิง โดยการถมหินคลุกบดอัดแน่นหนา 0.30 ม. และก่อสร้างผิวทางคอนกรีตเสริมเหล็กหมู่ที่ 1 บ้านป่าแกถึงสะพานศรีวิชัย ,  โครงการปรับปรุงพนังกั้นน้ำลำเหมืองชลประทาน ซอยเลียบลำเหมืองชลประทาน ซอย 1 หมู่ที่ 2 บ้านร่องกาศ ต.ริมปิง , โครงการปรับปรุงพนังกั้นน้ำลำเหมืองชลประทาน ซอยเลียบลำเหมืองชลประทาน ซอย 2 หมู่ที่ 2 บ้านร่องกาศ , โครงการปรับปรุงพนังกั้นน้ำลำเหมืองชลประทาน ซอยเลียบลำเหมืองชลประทาน หมู่ที่ 1 บ้านป่าแก ตำบลริมปิง เป็นต้น ซึ่งถ้าโครงการเหล่านี้ถ้าได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานต่างๆที่เทศบาลฯได้เสนอโครงการ จะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้มาก

                 สำหรับภัยหนาวนั้นทางเทศบาลตำบลริมปิงก็ได้มีการดูแลและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุผู้พิการหรือผู้ด้อยโอกาส รวมไปถึงประชาชนตำบลริมปิงทุกคนที่ประสบภัย โดยที่ผ่านมาได้มีการสำรวจข้อมูลและมีการแจกผ้าห่มเพื่อบรรเทาความหนาวให้แก่ประชาชนต่อไป


นายกฯร่วมประชุมWEFย้ำความเชื่อมั่นหลังวิกฤตน้ำท่วม

                 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการเดินทางไปร่วมประชุมประจำปี World Economic Forum (WEF) ที่เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 26-29 มกราคมนี้ ว่า WEF เป็นเวทีสำคัญ ที่มีทั้งผู้นำและนักธุรกิจหลายประเทศเข้าร่วม ถือเป็นโอกาสที่เราสร้างความเชื่อมั่น และเปิดความสัมพันธ์ให้กับนักลงทุนที่จะเข้ามาในประเทศไทย พร้อมชี้แจงนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของไทย โดยเฉพาะนโยบายหลังเกิดเหตุการณ์อุทกภัยว่าไทยมีแผนป้องกันน้ำท่วมในเมืองเศรษฐกิจสำคัญ เมืองหลวงและนิคมอุตสาหกรรมอย่างไร รวมทั้งการปรับแผนบริหารจัดการน้ำรวมศูนย์ในที่เดียว เพื่อความคล่องตัวในการทำงาน และแผนรองรับสถานการณ์ต่างๆ  

กทม.-รัฐบาลตกลงร่วมกัน12ข้อครึ่งแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ

                 เมื่อเวลา 13.00 น. นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยผลการประชุมเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯว่า รัฐบาล และกทม.มีข้อตกลงร่วมกัน 12 ข้อ ได้แก่ 1. รัฐบาลจะเข้าไปช่วยกทม. เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วม โดยทางฝ่ายรัฐบาลจะมอบหมายให้บางกระทรวงเข้าช่วยกทม.ในบางพื้นที่ 2.งบประมาณที่กทม. ได้รับไปแล้ว 1,964 ล้านบาท นั้นกทม. จะดำเนินการเอง 4 เรื่อง คือ การซ่อมแซมเขื่อนตามแนวลำน้ำ การติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ การติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และปรับปรุงระบบระบายน้ำของคลองระพีพัฒน์

                 3.การขุดลอกคูคลอง 29 คูคลอง ซึ่งเป็นคลองสายหลัก กทม.ยินดีให้หน่วยราชการอื่นๆ ที่มีขีดความสามารถ เช่น ทหาร เข้าไปดำเนินการ 4.กองทัพเรือ จะผลิตเครื่องผลักดันน้ำเคลื่อนที่ จำนวน 100 เครื่อง เพื่อใช้ในกรณีเกิดความจำเป็น 5.กองทัพเรือ และกระทรวงวิทยาศาสตร์ จะร่วมกันเป็นที่ปรึกษาทางเทคนิค ในการออกแบบและติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำถาวรให้กับทุกจังหวัดที่มีความต้องการ 6.กองทัพบก จะดำเนินการขุดคูคลองใหม่ขนาดเล็ก 347 คลอง งบประมาณ 770 ล้านบาท ให้กับกทม. 7.สำหรับท่อระบายน้ำของประชาชน เช่น บ้านจัดสรรซึ่งอุดตันในขณะนี้ กระทรวงมหาดไทย จะร่วมมือกับทางกทม.หารือกับเอกชน เพื่อขอเข้าไปดำเนินการ 8.ระบบเตือนภัย คณะทำงานของกยน. กับกทม. จะร่วมดำเนินการให้ระบบมีความเชื่อมต่อกัน ไม่แยกจากกัน ซึ่งกทม. ได้งบไปแล้ว 24 ล้านบาท และคณะทำงานกยน. ได้ไปแล้ว 1,000 ล้านบาท

                 9.กทม.ร้องขอว่าหากมีน้ำเหนือลงมาเป็นจำนวนมาก ให้ปล่อยให้น้ำไหลลงมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นระบบ 10.กทม. ขอให้กระทรวงมหาดไทย ทำความเข้าใจกับประชาชนตามขอบพื้นที่รอยต่อจังหวัด ให้เข้าใจวิธีการระบายน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเผชิญหน้าเหมือนครั้งที่ผ่านมา 11.กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่ระหว่างจัดทำแผนเผชิญเหตุน้ำท่วม รวมถึงการให้มีคลังเครื่องมือ เช่น เครื่องสูบน้ำ เครื่องดันน้ำ เสื้อชูชีพเป็นต้น เพื่อใช้เผชิญเหตุน้ำท่วม 2.กทม.ยืนยันว่าการบุกรุกตามแนวคลองขนาดเล็ก กทม.คิดว่าจะแก้ไขปัญหาได้ในปีนี้ แต่สำหรับคลองขนาดใหญ่ เช่น คลองเปรมประชากร คลองบางซื่อ ขอให้เป็นนโยบายร่วมกับรัฐบาล  

                 "และข้อ 12 ครึ่ง จะหาทางระบายน้ำผ่านทางตะวันออกของกทม.ให้ได้ ซึ่งคราวที่แล้วทำไม่ได้ นอกจากนี้ยังได้ฝากที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อย้ำกับนายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรฯ ว่าเขื่อนขนาดใหญ่จะต้องถูกใช้เพื่อป้องกันอุทกภัยเป็นอันดับแรก ส่วนเรื่องการเกษตรหรือเรื่องอื่นนั้นขอให้เป็นเรื่องรอง โดยที่ปรึกษารัฐมนตรีฯก็แสดงความเห็นด้วยในเรื่องนี้" รมว.วิทยาศาสตร์ฯกล่าวและว่า

                 การประชุมครั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกทม.มาแทนผู้ว่าฯกทม.เนื่องจากผู้ว่าฯกทม.เดินทางไปต่างประเทศ และรองผู้ว่าฯกทม. บอกว่าจะโทรศัพท์ไปรายงานให้ผู้ว่าฯกทม.ทราบถึงข้อตกลงดังกล่าว และตนก็จะรายงานนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ส่วนการขุดลอกคูคลอง ทั้งหมดจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน หรือในเดือนกรกฎาคมนี้ สำหรับผลการประชุมทั้งหมดนี้ เชื่อว่าจะสามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมได้  

                 “ผลของการตกลงกันวันนี้ จะทำให้ชาวกรุงเทพฯสบายใจได้ ว่าน้ำจะไม่ท่วมและจะรักษาพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจจะได้รับการปกป้อง และจะป้องกันให้ปลอดภัยล้านแปอร์เซ็นต์ หรือหากน้ำท่วมก็จะให้อยู่ในระยะสั้นและเสียหายน้อยที่สุด ส่วนปริมณฑลนั้นถือเป็นทางระบายน้ำอยู่แล้ว” นายปลอดประสพ กล่าว  

                 ผู้สื่อข่าวถามว่าการทำงานร่วมกันระหว่างกทม.กับรัฐบาลจะไม่ขัดแย้งกันอีก นายปลอดประสพ กล่าวว่า หลายคนก็บ่นว่าการเมืองต้องเอาไว้ตอนเลือกตั้ง ตอนนี้แก้น้ำท่วมให้ได้ ซึ่งรองผู้ว่าฯกทม.ก็เห็นด้วยกับตนว่าต้องละการเมืองออก เพราะไม่ใช่สมัยเลือกตั้งมาช่วยรักษากรุงเทพฯกันดีกว่า นายปลอดประสพ ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับจุดใหญ่ที่พบข้อบกพร่องคือใต้สะพาน หลังจากสร้างสะพานเสร็จแล้วไม่มีการรื้อนั่งร้านออก จึงได้หารือกันว่าจากนี้ไปสะพานข้ามคลองส่งน้ำต้องไม่มีตอหม้อ