ข่าว

'ภุมรัตน์'แนะแนวป้องก่อการร้าย

'ภุมรัตน์'แนะแนวป้องก่อการร้าย

20 ม.ค. 2555

ภุมรัตน์ ทักษาดิพงศ์ "ป้องก่อการร้ายร่วมมือนานาชาติ-ไม่สร้างศัตรู" : สัมภาษณ์พิเศษโดยสมถวิล เทพสวัสดิ์

                ต้องยอมรับว่า “รัฐบาล” เสียหน้าไปพอสมควรหลังจาก “นางคริสตี้ เคนนีย์” เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย โพสต์ทวิตเตอร์ยืนยันยังจะไม่ถอนคำเตือนต่อพลเมืองสหรัฐกับภัยการก่อการร้ายในกรุงเทพมหานคร ส่งผลให้คำเตือนอีกกว่าสิบประเทศต้องดำเนินตามรอยของสหรัฐอเมริกา
 
                 บทบาทและท่าทีของรัฐบาลที่แสดงต่อกรณีนี้ ไม่เพียงทำให้อดีตผู้ทำงานด้านความมั่นคงค่อนข้างกังวลใจต่อการตัดสินใจของ “ฝ่ายนโยบาย” ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศ เพราะบุคคลที่ควรออกมาสร้างความเข้าใจกับทั่วโลกอย่าง “รมว.ต่างประเทศ” ในฐานะโฆษกประเทศกลับไม่ทำหน้าที่ให้มากกว่าที่ควรจะเป็น
 
จึงทำให้เกิดคำถามตามมาถึงศักยภาพการทำงานด้านการข่าวของไทยอีกด้วย!
 
                 “ตำรวจเมื่อจับคนร้ายได้ไม่ว่าจะเป็นตัวจริงหรือตัวปลอมก็ต้องดำเนินการไปก่อน ดีกว่าปล่อยให้ประเทศชาติเสียหายมากกว่านี้” เป็นคำเตือนของ “ภุมรัตน์ ทักษาดิพงศ์” อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) ที่เฝ้ามองปรากฏการณ์ในการจับกุมนายอาทริส ฮุสเซน ผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย ที่ขณะนี้ถูกส่งตัวไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครแล้ว
 
                 ในฐานะที่เคยเป็นอดีตผู้ควบคุมความลับหน่วยข่าวกรองของประเทศ “ภุมรัตน์” มองเรื่องที่เกิดขึ้นว่า หน่วยข่าวไม่ได้มีหน้าที่ป้องกันประเทศตนเองเท่านั้น แต่ต้องดูแลความปลอดภัยให้ประเทศเพื่อนบ้านโดยการแสวงหาความร่วมมือจากมิตรประเทศ ไม่ให้กลุ่มก่อการร้ายสากลเข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นฐานซ่องสุมขุมกำลังหรือขยายเครือข่ายไปก่อการในประเทศอื่น สำหรับกรณีนี้ การแจ้งเตือนจากสหรัฐอย่างไม่เป็นทางการ แสดงให้เห็นว่าสหรัฐมีข้อมูลมากพอที่จะดำเนินการผ่านสถานทูตโดยไม่ยอมใช้วิธีแจ้งเตือนเหมือนปกติที่เคยทำมา แต่ก็ใช่ว่า เมื่อมีข้อมูลแล้วหน่วยข่าวไทยจะเมินเฉย เพราะจะเห็นว่าทันทีที่มีข้อมูลเผยแพร่ออกมาก หน่วยงานด้านการข่าวของไทยก็ตอบโต้ทันควันด้วยการบุกจับผู้ต้องหาได้ แม้จะมีข้อครหาว่า การจับกุมครั้งนี้จะเป็นการจัดฉากแต่นี่เป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศชาติที่ควรจะนำมาเสี่ยง จึงต้องมีการสืบสวนและตรวจสอบข้อมูลให้รัดกุม ซึ่งการทำหน้าที่ของตำรวจในครั้งนี้ในแง่การข่าวถือว่า “สอบผ่าน”
 
                 เพราะฉากสุดท้ายภายหลังการจับกุม ผู้ต้องหารายนี้ให้การรับสารภาพและยังให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี อีกทั้งยังพาไปชี้จุดที่มีการเก็บคลังวัตถุอันตรายที่เตรียมจะใช้ในการก่อเหตุด้วย
 
                 แม้จะมีหน่วยงานด้านความมั่นคงวิเคราะห์ว่า ไทยไม่ใช่เป้าหมายของการก่อเหตุ หากแต่ถูกใช้เป็นทางผ่านในการลำเลียงยุทธภัณฑ์เข้าไปในประเทศที่สาม แต่ในสายตาของอดีต ผอ.สำนักข่าวกรองให้ข้อคิดในมุมกลับว่า กรณีหากตำรวจไม่สามารถจับตัวนายอาทริส พร้อมอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบวัตถุระเบิดได้ และแผนการก่อวินาศกรรมประสบผลสำเร็จจริง คำถามที่ตามมาคือ ประเทศไทยจะประสบชะตากรรมเช่นใด
 
                 “การออกคำสั่งเตือนพลเมืองสหรัฐโดยสถานทูตสหรัฐให้ระมัดระวังการเข้าไปในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ ในประเทศไทย ไม่ผิดและเป็นสิทธิที่เขาทำได้ เพราะเขาต้องดูแลความปลอดภัยพลเมืองของตนเองอยู่แล้ว แต่การข้ามขั้นตอน โดยไม่แจ้งทางการไทยก่อนทั้งๆ ที่เราเป็นเจ้าของบ้านถือเป็นการกระทำที่ผิดมารยาททางการทูต เนื่องจากส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของไทยโดยตรง และแม้ขณะนี้เราจะจับกุมผู้ต้องหาและพยายามกำลังขยายผลการจับกุมไปยังคนร้ายรายอื่นแล้ว ระดับอันตรายก็ลดลงแล้ว เหตุใดสหรัฐยังไม่ลดระดับคำเตือน การปล่อยให้เขาวิพากษ์วิจารณ์เราฝ่ายเดียว ไม่ได้ส่งผลกระทบด้านความมั่นคงในประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวด้วย”
 
                 อดีต ผอ.สำนักข่าวกรองกล่าวย้ำว่า การทำผิดมารยาททางการทูตของสหรัฐไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก แต่ถือเป็นครั้งที่สองแล้ว โดยเฉพาะการออกมาแสดงความเห็นต่อการแก้กฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยอ้างว่ากฎหมายบ้านเราไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งถือเป็นการก้าวล่วงกิจการภายในของประเทศ และยังละเมิดต่อกระบวนการยุติธรรมและอำนาจอธิปไตยของไทย ในขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยไม่แสดงท่าทีๆ ใดทั้งสิ้น นอกจากการเชิญทูตสหรัฐเข้าชี้แจง เป็นเหตุให้คนไทยจำนวนไม่น้อยเกิดความไม่พอใจและเข้าไปตอบโต้การกระทำของสหรัฐ ผ่านระบบโซเชียลมีเดียอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการใช้ถ้อยคำต่อว่านางคริสตี้ ว่าผิดมารยาท
 
                 ภุมรัตน์ให้ความเห็นว่า การจับกุมนายอาทริสไม่ได้ทำให้ไทยตกเป็นคู่ขัดแย้งกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ เนื่องจากประเทศเป้าหมายของกลุ่มก่อการร้าย คืออิสราเอลและสหรัฐ ที่ทำผลประโยชน์อยู่ในประเทศไทย เช่น สถานทูต กงสุล สำนักงานการค้า สายการบิน โบสถ์ โรงแรมที่สหรัฐเป็นเจ้าของ หรือที่พักของนักท่องเที่ยวชาวสหรัฐที่อยู่ในประเทศไทย กลุ่มก่อการร้ายไม่ได้มุ่งโจมตีผลประโยชน์ของไทย แต่ที่เลือกทำในประเทศไทย เพราะบ้านเราเป็นเมืองท่องเที่ยวเปิด นักท่องเที่ยวเข้ามาได้โดยง่าย ช่องทางเข้าออกง่าย ถือเป็นจุดอ่อนอย่างมาก เมืองไทยไม่เข้มงวดเรื่องกฎหมาย ที่สำคัญประเทศไทยเป็นแหล่งหาอาวุธหรือสารประกอบอาวุธได้ง่าย ประเทศไทยจึงเหมือนเป็นสวรรค์ของผู้ก่อการร้าย จึงเชื่อได้ว่าคนกลุ่มนี้จึงไม่คิดจะก่อการร้ายในประเทศไทย
 
                 “กฎหมายเป็นแค่มาตรการหนึ่งเท่านั้นในการแก้ปัญหาการก่อการร้าย แต่เราควรแสวงหาความร่วมมือจากนานาชาติและไม่สร้างศัตรู หรือเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคู่ขัดแย้งของมหาอำนาจ ซึ่งการกระทำความผิดของคนที่ตกเป็นผู้ต้องหา ยังต้องผ่านขั้นตอนการพิสูจน์อีกเยอะว่า เขาเป็นผู้ก่อการร้ายจริงหรือไม่ เพราะความผิดตามกฎหมายยังไม่ชัดเจน” อดีต ผอ.สำนักข่าวกรองทิ้งท้าย

............


(หมายเหตุ : ภุมรัตน์ ทักษาดิพงศ์ "ป้องก่อการร้ายร่วมมือนานาชาติ-ไม่สร้างศัตรู"  : สัมภาษณ์พิเศษโดยสมถวิล เทพสวัสดิ์)