ข่าว

ไทดำรำพัน

ไทดำรำพัน

16 ธ.ค. 2554

ไทดำรำพัน : วันเว้นวันจันทร์ พุธ ศุกร์กับ ประภัสสร เสวิกุล

             วันก่อนมีผู้ถามผมว่า บางชาติเขามีเพลงหรือดนตรีประจำชาติ ที่คนในชาติจะเกิดความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเมื่อได้ยินหรือร้องเพลงนั้นร่วมกัน ก็เลยอยากทราบว่าของไทยเรามีเพลงหรือดนตรีเช่นนั้นหรือไม่? ในตอนแรกที่ได้ฟังคำถามสิ่งแรกที่ผุดขึ้นในความคิดก็คือเพลง “สามัคคีชุมนุม” ซึ่งขึ้นต้นว่า “พวกเราเหล่ามาชุมนุม ต่างคุมใจรักสมัครสมาน ล้วนมิตร จิตชื่นบาน สราญเริงอยู่ทุกผู้ทุกนามฯ” อันเป็นบทประพันธ์ของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) แต่ก็ติดว่านำทำนองมาจากเพลงโอแลงซายน์ (Auld Lang Syne) ของสกอต จึงมีลักษณะเป็นลูกครึ่ง ไม่ใช่เพลงไทยเต็มตัว
   
              ผมมาคิดดูอีกทีว่าเพลงหรือดนตรีประจำชาติ กับเพลงที่ทำให้คนในชาติเกิดความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน น่าจะเป็นคนละอย่างกัน เพลงหรือดนตรีประจำชาติ น่าจะมีอยู่ 2 ประเภท คือเพลงหรือดนตรีที่มีลักษณะเฉพาะท้องถิ่นที่แสดงถึงชาตินั้น ๆ เช่นเพลงในจังหวะแทงโกhของอาร์เจนตินา เพลงในจังหวะแซมบ้าของบราซิล หรือร็อกแอนด์โรลของอเมริกัน เป็นต้น กับเพลงบางเพลงซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของชาตินั้นๆ เช่น ดาฮิล ซาโย ของฟิลิปปินส์ หรือ ราซาซา ยังเฮ ของมาเลเซีย เป็นต้น
   
              ถ้าเป็นเพลงประเภทแรกแล้ว เพลงที่สำแดงความเป็นไทยก็น่าจะเป็นเพลงรำวง ที่รัฐบาลในสมัยสงครามให้การส่งเสริมเพื่อเป็นวัฒนธรรมไทย ทั้งการประดิษฐ์ท่ารำ และการแต่งเพลง ซึ่งเพลงหลายเพลงได้รับความนิยมสืบเนื่องมาระยะหนึ่ง เช่นเพลงงามแสงเดือน ใกล้เข้าไปอีกนิด หล่อจริงนะดารา บูชานักรบ ฯลฯ แต่ต่อมาการรำวงและเพลงรำวงก็ค่อยๆ เลือนหายไป
   
              ย้อนกลับมาถึงเพลงไทยที่เป็นที่รู้จักกันดีทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ แต่เดิมน่าจะเป็นเพลงรักคุณเข้าแล้ว และเพลงบัวขาว ที่ฟรานซิส ยิป นักร้องฮ่องกงนำมาร้อง แต่ระยะหลังๆ กลายเป็นเพลงลอยกระทง แต่ผมก็คิดว่ายังไม่ใช่เพลงที่ให้ความรู้สึกร่วมของคนในชาติอยู่ดี
   
              เรื่องเพลงเรื่องดนตรีนี้ พูดกันเป็นเรื่องบันเทิง หรือเรื่องเล่นๆ ก็ได้ แต่จะพูดให้เป็นเรื่องเคร่งเครียดจริงจังก็ได้เหมือนกัน อย่างเมื่อหลายปีก่อนมีเพลงเพลงหนึ่ง ซึ่งขับร้องโดยนักร้องชาวลาวที่ชื่อ ก.วิเสส บรรเลงโดยวงดนตรีราบอากาศวังเวียง ที่เป็นที่ชื่นชอบทั้งคนลาวและคนไทย เพลงนั้นคือเพลงไทดำรำพัน ซึ่งมีท่อนจบว่า “สิบห้าปีที่ไตเฮาเสียแดนเมือง เคยฮุ่งเฮืองหมู่ข้าน้อยอยู่สุขสบาย ลุงแก่นตาได้สร้างสาบ้านเมืองไว้ให้ บัดนี้จากไกล ไตเสียดายเด้ฯ”
   
              ไตดำหรือไทดำก็คือคนไทยเผ่าหนึ่ง มีถิ่นฐานอยู่บริเวณแม่น้ำดำในเวียดนาม ซึ่งแต่เดิมก็คือดินแดนสิบสองจุไท ชนเหล่านี้นิยมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีดำ จึงเรียกว่าไตดำหรือไทดำ และคนไตดำบางส่วนได้อพยพเข้ามาอยู่ในดินแดนที่เป็นประเทศลาวในปัจจุบันตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช และสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ยกทัพไปตีลาว และนำชาวไตดำเข้ามาอยู่ในประเทศไทย แต่ด้วยความเข้าใจผิดว่าคนไทดำเป็นลาว จึงเรียกว่าลาวทรงดำ หรือลาวโซ่งดำ และย่อลงเหลือแค่ลาวโซ่ง ต่อมาเมื่อเกิดสงครามระหว่างเวียดนามกับฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟู ชาวไตดำในเมืองนั้นบางส่วนได้หลบหนีเข้ามาอยู่ในประเทศลาวอีกระลอกใหญ่ ซึ่งเพลงไทดำรำพันน่าจะหมายถึงเหตุการณ์ในช่วงดังกล่าวนี้
   
              เพลงไทดำรำพันได้บรรยายถึงความรู้สึกของคนที่สูญเสียบ้านเมือง ต้องทิ้งนาทิ้งไร่ซัดเซพเนจรไปอาศัยแผ่นดินอื่นอยู่ ซึ่งคนไทยที่เคยชอบร้องและชอบฟังเพลงนี้จะมีความเข้าใจถึงที่มาที่ไปของเพลง และบังเกิดความรู้สึกสะเทือนใจหรือไม่ ผมก็ไม่อาจทราบได้ แต่ลองคิดว่าถ้าวันดีคืนร้ายเกิดมีเพลงไทยน้อยรำพัน ซึ่งบรรยายเหตุการณ์ทำนองเดียวกับที่เกิดขึ้นกับคนไทดำเมื่อ 60-70 ปีก่อน ขึ้นมาบ้าง เราจะรู้สึกอย่างไร? จะมีน้ำหน้ามองหน้าคนชาติอื่นได้หรือไม่ ?
   
              ผมคงยังไม่สามารถหาคำตอบเรื่องเพลงที่มีผู้ถามมาได้หรอกครับ แต่ตอนนี้ถ้าคนไทยไม่อยากจะฟังเพลงแบบไทดำรำพัน ก็คงจะต้องร่วมกันร้องเพลง “รักกันไว้เถิด” ของครูนคร ถนอมทรัพย์ ให้บ่อยๆ และดังๆ ไว้ครับ