ข่าว

เมื่อวานและวันนี้ที่หมู่บ้านเศรษฐกิจ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อวานและวันนี้ที่หมู่บ้านเศรษฐกิจ : วันเว้นวันจันทร์ พุธ ศุกร์กับ ประภัสสร เสวิกุล

                 เผลอประเดี๋ยวเดียว ปี พ.ศ.2554 ก็กำลังจะจากเราไปแล้ว แม้ว่าปีนี้จะเป็นปีที่สาหัสสากรรจ์ปีหนึ่งของประเทศไทยและคนไทย แต่ในความทุกข์ยากเดือดร้อนนั้น ผมเชื่อว่าคงต้องมีเรื่องดีๆ ให้เราได้เก็บไว้ในความทรงจำบ้างอย่างแน่นอน
   
               ในช่วงน้ำท่วมนี้หมู่บ้านเศรษฐกิจกลายเป็นชื่อที่คุ้นหูของคนทั่วไป เพราะประสบกับปัญหาน้ำท่วมขังนานนับเดือน และทำท่าว่าอาจจะเป็นพื้นที่สุดท้ายของกรุงเทพฯ ที่น้ำจะแห้ง ซึ่งก็หมายความว่าจะต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 3 สัปดาห์ หรือในราวสิ้นปีนี้  หมู่บ้านแห่งนี้เป็นที่ดินจัดสรรที่เก่าแก่และกว้างใหญ่ของฝั่งธนบุรี เข้าใจว่าเริ่มขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2500 เศษ เพราะในปี พ.ศ.2504 ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญ ธนบุรี ขึ้นในบริเวณนี้ และปีนี้ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 50 ปี ของโรงเรียน ทางโรงเรียนก็ได้มีการเตรียมจัดงานฉลองในเดือนพฤศจิกายน แต่เมื่อเจอภาวะน้ำท่วมในหมู่บ้านเศรษฐกิจก็ทำให้ต้องเลื่อนงานนี้ออกไปก่อน
   
               หมู่บ้านเศรษฐกิจถือกำเนิดขึ้นจากความคิดของ คุณไถง สุวรรณทัต อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ คุณไถงได้รับฉายาว่า “ไถงขาเดียว” เนื่องจากสูญเสียขาข้างหนึ่งจากการถูกคนร้ายขว้างระเบิดใส่ขณะปราศรัยบนเวทีไฮด์ปาร์กที่สนามหลวง ในยุคที่การเมืองอยู่ใต้อำนาจมืด คุณไถงได้นำที่ดินในเขตบางแคซึ่งเข้าใจว่าส่วนใหญ่เป็นของครอบครัวมาแบ่งขายเป็นแปลงเล็กๆ ให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยซื้อไปสร้างบ้านเรือน โดยตั้งชื่อว่าบางสตางค์น้อย และภายในหมู่บ้าน ได้ขุดทะเลสาบขนาดใหญ่เพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ รวมทั้งสร้างเมืองจำลองเช่น เมืองลุง เมืองปา ตามชื่อเมืองโบราณในสมัยอาณาจักรน่านเจ้า
   
               หมู่บ้านเศรษฐกิจ สมัยที่แรกสร้างเมื่อ 50 กว่าปีก่อน ถือว่าไกลสุดกู่ และเส้นทางจากวงเวียนใหญ่ผ่านบางหว้า บางแค วัดม่วง ไปถึงหมู่บ้าน ก็เป็นถนนสองเลน สองข้างทางเป็นคูคลองและเรือกสวนหรือโรงงานเก่าๆ รถเมล์ที่วิ่งไปถึงหมู่บ้านเศรษฐกิจ ก็มีเพียงรถสีน้ำเงิน สาย 91 ซึ่งตั้งต้นที่สนามหลวงเพียงสายเดียว แต่หมู่บ้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะทะเลสาบในหมู่บ้าน ซึ่งผมคลับคล้ายคลับคลาว่าจะชื่อสระอโนดาต ก็เป็นความหลังฝังใจของวัยรุ่นหลายคนในยุคนั้น ซึ่งถ้าไม่โดดเรียนชวนกันขึ้นรถเมล์ไปเที่ยวเป็นกลุ่ม ก็จะแอบพาคนที่ชอบพอไปหาที่กะหนุงกะหนิงกันสองต่อสอง เพราะในสมัยนั้น กรุงเทพฯ ยังไม่มีศูนย์การค้า โรงหนัง สวนสนุก หรือสถานที่เที่ยวที่อื่น
   
               สำหรับคุณไถง สุวรรณทัต นั้น คนรุ่นหลังอาจจะไม่รู้จักท่านในฐานะ ส.ส. หรือเจ้าของโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจ แต่บางคนอาจจะรู้จักในฐานะผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “พระลอ” ที่นำแสดงโดย มิตร-เพชรา (ออกฉาย พ.ศ.2511) และเป็นผู้ประพันธ์ร่ายในตอนต้นของเพลงยอยศพระลอ ที่ครูพยงค์ มุกดา ประพันธ์คำร้อง และมอบให้ชินกร ไกรลาศ ขับร้อง จนดังระเบิด
   
               ด้วยความที่เป็นหมู่บ้านจัดสรรรุ่นแรกๆ ซึ่งพื้นที่เดิมเป็นที่ลุ่ม อยู่ใกล้กับคลองทวีวัฒนาซึ่งเป็นทางระบายน้ำของกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก ประกอบกับมีประชากรอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น และโครงสร้างพื้นฐานไม่ดีพอ จึงทำให้ประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างรุนแรง จนผู้คนต้องอาศัยรถยีเอ็มซีของทหารในการเดินทางเข้าออก และประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านจำนวนหนึ่งต้องหอบหิ้วกันไปอยู่ตามศูนย์อพยพในต่างจังหวัด ซึ่งยังไม่ทราบว่าเมื่อใดจะได้กลับบ้าน
   
               และที่น่ากังวลมากกว่านั้นก็คือ คงไม่มีใครให้ความมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดน้ำท่วมขังในหมู่บ้านเศรษฐกิจอีก และหากเกิดน้ำท่วมคราวหน้าจะต้องใช้เวลานานเพียงใดกว่าที่น้ำจะแห้ง ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ หรอกครับ แต่ก็เป็นภาระที่เขตบางแคและ กทม.ต้องหาทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ