ข่าว

'ชาวนนท์'จองคิวซ่อมรถ-ค่าอะไหล่ปรับเพิ่ม

'ชาวนนท์'จองคิวซ่อมรถ-ค่าอะไหล่ปรับเพิ่ม

29 พ.ย. 2554

ชาวบ้าน จ.นนทบุรี แห่นำรถเข้าอู่ซ่อม หลังน้ำเริ่มลด จนอู่ซ่อมรถต้องออกคิวให้รอนานเป็นเดือน ด้าน ราคาอะไหล่ปรับสูงขึ้นเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์

          29 พ.ย.54 หลังจากประชาชนในหลายอำเภอของจังหวัดนนทบุรี ต้องประสบอุทกภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่มานานกว่า 2 เดือน จนขณะนี้ในหลายพื้นที่ระดับน้ำเริ่มลดลงจนประชาชนบางส่วนสามารถกลับเข้าไปสำรวจทรัพย์สินภายในบ้านได้แล้ว ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านเป็นห่วงก็คือรถยนต์ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่สามารถนำไปจอดหนีน้ำได้ทันนั้น เนื่องจากคาดไม่ถึงว่าระดับน้ำจะมีมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาจนทำให้รถยนต์ที่จอดอยู่ในบ้านจมน้ำโดยที่ไม่สามารถทำอะไรได้เลย ทำได้เพียงอย่างเดียวคือทำใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ของตัวเองและเมื่อน้ำเริ่มลดลงชาวบ้านส่วนใหญ่จึงรีบนำรถยนต์ไปตรวจซ่อมตามอู่รถต่างๆเป็นจำนวนมากจนอู่ซ่อมไม่สามารถให้บริการได้ทันต้องมีการจองคิวกันนานเป็นเดือน

          นายนภดล ตั้งนาวาดี อายุ 53 ปี เจ้าของอู่ซ่อมรถยนต์อินเตอร์เพ็ญภัทร ถ.ติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาอู่ซ่อมรถของตนได้รับรถลูกค้าที่จมน้ำจากน้ำท่วมในจังหวัดนนทบุรี และกรุงเทพฯ เข้ามาใช้บริการที่อู่อย่างต่อเนื่องจนทางอู่ไม่สามารถให้บริการได้ ต้องปฎิเสธลูกค้าไปหลายราย เนื่องจากร้านของตนนั้นมีช่างประจำร้านเพียง 10 คน และรองรับรถที่จะซ่อมได้เพียง 30 คันเท่านั้น ซึ่งรถที่จมน้ำเข้ามาซ่อมนั้นส่วนใหญ่จะเป็นอาการน้ำท่วมห้องเครื่อง ไดสตาร์ทไม่ทำงาน ระบบเบรคติดร่วมถึงไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่ารถปกติ เพราะต้องตรวจเช็คทุกอย่างใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นระบบเกียร์ ระบบไฟและเครื่องยนต์มากกว่าเป็น 2 เท่า เนื่องจากรถจมอยู่ในน้ำเป็นเวลานานเป็นเดือน ทำให้ต้องตรวจเช็คอย่างละเอียด รวมทั้งต้องรออะไหล่ และชิ้นส่วนที่จะนำมาเปลี่ยน ซึ่งหาได้ยากกว่าปกติ และต้องรอนานเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ ส่วนเรื่องราคาอะไหล่นั้นก็มีการปรับสูงขึ้นมาจากเดิมประมาณ 10 %

          นายภวดล กล่าวด้วยว่า ราคาค่าซ่อมรถของลูกค้านั้นจะขึ้นอยู่กับสภาพรถว่าจมน้ำเสียหายมากน้อยขนาดไหน อย่างลูกค้ารายหนึ่งต้องจ่ายค่าซ่อมรถสูงถึง 4 หมื่นบาท เพราะต้องเปลี่ยนเกียร์รถใหม่ เนื่องจากถูกสนิมเกาะจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ แต่ถ้ารายไหนนำรถไปจอดหนีน้ำทันก็จะเจอปัญหาแบตเตอรี่เสื่อม เนื่องจากจอดรถทิ้งไว้เป็นเวลานาน ไม่ได้สตาร์ทเครื่อง ซึ่งลูกค้าบางหลายไม่มีเงินที่จะซ่อมก็นำเล่มรถยนต์ไปจำนำเพื่อนำเงินมาเป็นค่าซ่อมรถ เพราะไม่อยากทิ้งรถไว้นานเพราะกลัวรถจะเป็นหนักกว่าเดิมถ้าไม่รีบนำมาซ่อม

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในพื้นที่ จ.นนทบุรี อู่ซ่อมรถส่วนใหญ่ได้รับความเสียหายจากการถูกน้ำท่วมเช่นกัน ทำให้อู่ต้องปิดตัวลงโดยบางอู่เครื่องไม้เครื่องมือในการซ่อมชำรุดเสียหาย จึงต้องเร่งกู้ทำให้ไม่สามารถให้บริการเจ้าของรถที่ต้องการนำรถมาซ่อมได้ ทำให้เกิดภาวะขาดอู่ซ่อมรถ และเจ้าของรถบางรายต้องเคลื่อนย้ายรถโดยการว่าจ้างรถลากให้ลากไปหาอู่ซ่อมรถในต่างจังหวัดและในเขต กทม.

 

อู่กรุงเก่าไม่ว่างเจ้าของรถแห่ซ่อมคิวยาวนับเดือน


           น้ำท่วมเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาประมาณการกันว่ามีรถยนต์หลายร้อยคันจมน้ำเพราะหนีออกไม่ทัน อีกทั้งส่วนใหญ่ไปธุระต่างจังหวัดจำเป็นต้องทิ้งรถเอาไว้ในบ้าน และส่วนใหญ่ก็มั่นใจว่าน้ำจะไม่ท่วม จึงเป็นเหตุให้มีรถจมน้ำอยู่มากนั่นเอง ภายหลังน้ำในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาลดลงจนแห้ง ทำให้เจ้าของรถยนต์จำนวนมากพากันนำรถไปซ่อมตามอู่ต่างๆ จนอู่ซ่อมรถและซ่อมเครื่องยนต์ ร้านคาร์แคร์มีงานมากไม่เว้นแต่ละวัน และหลายแห่งยังมีรถอยู่ในอู่มีคิวยาวไปจนถึงปีหน้าก็มี


           นายวันชัย มานพ อายุ 45 ปี เจ้าของอู่ซ่อมรถเคเอสวี ริมถนนศูนย์ราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า หลังจากน้ำท่วมได้รับการติดต่อจากลูกค้ามากกว่า 30 รายให้ไปลากรถยนต์ที่จอดเสียอยู่ในสถานที่ต่างๆในเกาะเมือง หลังจากน้ำแห้งแล้ว ซึ่งตนไม่ได้คิดค่าลากในระยะใกล้ๆ ซึ่งการซ่อมก็ต้องมาตรวจเช็คว่ามีอะไรเสียหายบ้าง ส่วนมากก็จะเป็นเบรกติด ล้อตาย ระบบกรองอากาศเสียหาย สายไฟฟ้า ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาเช็ค 3-4 วันจากนั้นก็จะลงมือทำ โดยส่วนใหญ่ก็ต้องทำหลักๆคือถ่ายของเสีย หากไม่เสียหายมากก็จะเสร็จในเวลา 1 สับดาห์ ส่วนราคาหากเสียหายไม่มาก ก็จะมีตั้งแต่ 3000-12,000 บาท เท่านั้น แต่หากกล่องอีซียู ซึ่งเป็นกล่องควบคุมระบบคอมพิวเตอร์ในรถยนต์รุ่นใหม่ ซึ่งแตกต่างกันไปแต่ละรุ่น ก็อาจจะต้องเพิ่มเงินอีก 15,000- 20,000 บาท อย่างไรก็ตาม ราคาที่ทำส่วนใหญ่สามารถให้ลูกค้าไปตรวจสอบเปรียบเทียบราคาได้ ซึ่งราคาที่ทำอยู่เป็นราคาที่มาตรฐานและทำอย่างมีคุณภาพ


           แม้ว่าจะมีอู่หลายอู่ที่ทำได้อย่างมาตรฐานและมีคุณภาพ แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่บางแห่งที่เจ้าของรถไม่ได้โชคดีเสมอไป อาจจะสร้างความหนักใจให้กับลูกค้าเพิ่มขึ้นอีก จนต้องนำรถกลับไปซ่อมแล้วซ่อมอีก อย่างเช่น นายสาโรจน์ ฉิมพล อายุ 45 ปี บ้านอยู่ ต.ข้าวงาม อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา มีอาชีพเป็นข้าราชการครู และมีรถตู้ให้เช่าจอดอยู่ในโรงเรียนศิริเสนา เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ปรากฏว่า น้ำท่วมคราวนี้ทำให้รถตู้ที่ให้เช่าจำนวน 3 คันจมน้ำทั้งหมด เนื่องจากช่วงที่น้ำท่วมสูงไม่สามารถนำรถออกมาได้ทัน ต้องรอจนน้ำแห้งจึงนำรถมาเข้าอู่ ปรากฏว่ารถทุกคันต้องทำเครื่องใหม่ เริ่มที่ราคา 5 พันบาท 8 พันบาท และ 1.6 หมื่นบาท ตามแต่ลักษณะของเครื่องยนต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่องยนต์รุ่นเก่า แต่สิ่งที่หนักใจคือ เมื่อซ่อมมาแล้วก็เกิดปัญหาเครื่องรวน ระบบไฟไม่ติด ก็ต้องไปซ่อมกันใหม่

          
           นางดนยมล อะฎะวินทร์ อายุ 62 ปี บ้านอยู่ ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า จอดรถกระบะยี่ห้ออีซูซุ ดีแมกซ์ ที่เพิ่งซื้อมาไม่นานเอาไปไว้ที่ว่าการอำเภอพระนครศรีอยุธยา ปรากฎว่าน้ำท่วมมิดหลังคาในวันแรก ไม่สามารถนำออกมาได้ ปล่อยไว้จนน้ำลดลงแล้วเข้าไปกู้นำออกมาซ่อมที่อู่แห่งหนึ่ง ใช้เงินไปกว่า 26,000 บาท สิ่งที่เป็นปัญหาตามมาคือ กระจกไฟฟ้า และคงต้องทะยอยซ่อมต่อไป

 

กทพ.เปิดให้บริการด่านบางพูน 1 ธ.ค.


           กทพ.เตรียมเปิดให้บริการด่านบางพูน ขาเข้า-ออก ตามปกติ ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 1 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป ขณะนี้น้ำที่ท่วมขังบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางบางพูนลดลงสู่ภาวะปกติ รถยนต์สามารถสัญจรผ่านได้แล้ว สำหรับด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษบางปะอิน  และด่านฯ เชียงราก ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยนั้น ขณะนี้ยังคงมีน้ำท่วมขังบริเวณด่านฯ ต้องงดการให้บริการที่ด่านฯ ดังกล่าวต่อไป  ส่วนผู้ใช้บริการทางพิเศษอุดรรัถยา ยังใช้บริการได้ที่ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษเมืองทอง ศรีสมานและบางพูนได้ตามปกติ



น้ำท่วมอยุธยาท่องเที่ยวเจ๊ง6พันล้านบาท



           น.ส.จุฑาทิพย์ เจริญลาภ ผอ.ททท.สำนักงานพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า หลังเหตุการณ์น้ำท่วมในจ.พระนครศรีอยุธยา ที่ผ่านมา  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมีการประเมินความเสียหายและรายได้จากการท่องเที่ยวที่หายไปในช่วงน้ำท่วมพบว่าเฉพาะ  จ.พระนครศรีอยุธยา  เพียงจังหวัดเดียวมีความเสียหายที่เกือบ 6,000 ล้านบาท โดยแยกเป็น 3,000 ล้านบาท ที่เป็นการสูญเสียในหลายด้านทั้งความเสียหายของธุรกิจท่องเที่ยวของผู้ประกอบการที่ถูกน้ำท่วม และต้องกลับมาซ่อมแซมฟื้นฟู ปรับปรุงสภาพความเสียหายทั้งตัวอาคารสถานที่ให้บริการนักท่องเที่ยว ให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมและความเสียหายในโบราณสถานและแหล่งท่องเที่ยว ส่วนอีก 3,000 ล้านบาท เป็นความเสียหายในเชิงธุรกิจช่องทางธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งในช่วงน้ำท่วมและในอนาคตหลังน้ำท่วมที่เชื่อว่ากว่าจะเข้าระบบตะรางทัวร์เดิมก็อาจใช้เวลานานเช่นกัน


           ทั้งนี้ ในแต่ละปี ๆ ที่ผ่านมาธุรกิจท่องเที่ยวในเขต จ.พระนครศรีอยุธยา สามารถทำเงินด้านการให้บริการนักท่องเที่ยวปีละไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาทและ ในปี 2550 เคยทำรายได้สูงสุดไว้ที่ 5,000 ล้านบาท