
หน.อุทยานทับลานลั่นเดินหน้ารื้อรีสอร์ท48แห่ง
ทับลานยังเดินหน้าเอาผิดคนบุกรุกพื้นที่ โดยรอหลังวันที่ 5 ธ.ค.จะดำเนินการ เหตุรอให้พ้นพิธีการเฉลิมฉลองไปก่อน
28 พ.ย.54 นายเทวินทร์ มีทรัพย์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการเข้าดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ทางอุทยานแห่งชาติทับลานมีหลักฐานเชื่อได้ว่าบุกรุกเข้ามาในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ในพื้นที่ 2 จังหวัด ซึ่งประกอบด้วยนครราชสีมา และปราจีนบุรี หลังจากที่เมื่อวันที่ 30 ต.ค. ที่ผ่านมา เป็นวันครบกำหนดตามกรอบระยะเวลาที่ทางอุทยานแห่งชาติทับลานได้ประกาศให้ผู้ที่เข้าครอบครองพื้นที่ทั้งหมดรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและย้ายออกจากพื้นที่ โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2504 มาตรา 22 ว่า จากการตรวจสอบและดำเนินการจนถึง ณ ขณะนี้ พบมีการกระทำผิดโดยการเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานทั้งในส่วนของ จ.นครราชสีมา และพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี รวมทั้งสิ้น 122 คดี แบ่งเป็นการเข้ามาใช้ประโยชน์และปลูกสิ่งปลูกสร้างจำนวน 64 คดี ส่วนที่เหลืออีก 58 คดี เป็นการบุกรุกพื้นที่เพื่อใช้ทำประโยชน์ทางการเกษตรและอื่นๆ
ทั้งนี้ ในส่วนนี้ทางอุทยานแห่งชาติทับลานจะเน้นดำเนินการในส่วนของการบุกรุกพื้นที่ที่มีสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 64 คดีก่อนในเบื้องต้น ซึ่งได้มีการติดป้ายประกาศให้ผู้ครอบครองพื้นที่และสิ่งปลูกสร้างทั้ง 64 แห่ง รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและย้ายออกจากพื้นที่ทั้งหมด และครบกำหนดระยะเวลาที่จะต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างไปแล้วในขั้นแรกตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งใน จำนวน 64 คดี อยู่ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา 21 คดี และอยู่ในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี 43 คดี โดยในจำนวนนี้ได้มีการทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปแล้ว 7 แห่ง ในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี 2 แห่ง และ จ.นครราชสี มาอีก 5 แห่ง ซึ่งมีทั้งในส่วนของผู้ครอบครองพื้นที่ยินยอมรื้อถอนเอง และขอให้ทางอุทยานแห่งชาติทับลานดำเนินการให้โดยทางผู้ครอบครองเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน
นายเทวินทร์ กล่าวต่อว่า นอกจากที่กล่าวมาแล้ว มีผู้ครอบครองพื้นที่จำนวน 10 แห่ง ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้มีคำสั่งระงับการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง แต่ศาลปกครองมีคำสั่งยกคำร้องไปแล้ว 1 แห่ง และยังเหลืออีก 9 แห่ง ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ซึ่งในส่วนที่ยังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองนั้นทางอุทยานแห่งชาติทับลานจะยังไม่เข้าไปดำเนินการจนกว่าคำตัดสินของศาลจะออกมาชัดเจน ส่วนที่เหลืออยู่อีกจำนวน 48 คดี นั้น ทางอุทยานแห่งชาติทับลานยังมีความจำเป็นที่จะต้องบังคับใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ มาตรา 22 เพื่อบังคับให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าการบังคับใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติมาตรา 22 จะครบระยะเวลาที่กำหนดไปแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่เพื่อความเป็นธรรมและระเอียดรอบคอบในการดำเนินการ ทางอุทยานแห่งชาติทับลาน ได้ออกหนังสือแจ้งเตือนให้กับผู้ครอบครองพื้นที่ทั้ง 48 แห่ง ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่โดยยืดระยะเวลาให้อีก 30 วัน โดยจะสิ้นสุดระยะเวลาการให้โอกาสภายในวันที่ 30 พ.ย.2554 นี้ และหากยังไม่มีการดำเนินการทางอุทยานแห่งชาติทับลานจำเป็นที่จะต้องเข้าไปดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ทั้งหมด
"ทั้งนี้เนื่องจากในวันที่ 5 ธ.ค.2554 ที่จะถึงนี้ เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และอยู่ในระหว่างการเฉลิมฉลองของประชาชนชาวไทย ทางอุทยานแห่งชาติทับลานจึงจะยังไม่มีการดำเนินการรื้อถอนในช่วงนี้ และจะรอให้เทศกาลให้การเฉลิมฉลองผ่านพ้นไปก่อน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเริ่มดำเนินการเข้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่เหลืออยู่อีก 48 แห่งได้ประมาณกลางเดือน ธ.ค.2554 นี้” นายเทวินทร์ กล่าว
ส่วนกรณีที่ทางองค์การบริหารส่วนตำบลไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ได้รอขอความช่วยเหลือไปยังทางสำนักงานคดีปกครอง สภาทนายความ ให้เข้ามาช่วยเหลือด้านกฎหมาย เพื่อขอให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเพิกถอนแนวเขตป่าตามท้ายประกาศพระราชกฤษฎีกาอุทยานแห่งชาติทับลานปี 2524 โดยระบุว่า หน่วยงานทางการปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดำเนินกิจการทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฏหมายทำให้ประชาชน 521 คน ต้องได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
พร้อมกับเตรียมที่จะยื่นฟ้อง 1.กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช 2.กรมป่าไม้ โดยอธิบดีกรมป่าไม้ 3.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4.คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ 5.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและ 6.คณะรัฐมนตรีที่ออกมติ ครม.เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2540 ต่อศาลปกครองสูงสุดนั้น นายเทวินทร์ มีทรัพย์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน ให้ความเห็นเพียงสั้นๆว่า ยังไม่ทราบในรายละเอียดของเรื่องนี้ว่าเป็นไปเป็นมาอย่างไร หรือผู้ฟ้องมีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร แต่ยืนยันว่าที่ผ่านทางทางอุทยานแห่งชาติทับลานทำไปตามหน้าที่และกฎหมายที่มีอยู่ และการดำเนินการต่างๆนั้นเป็นการดำเนินการตามคดีเก่าที่มีมาตั้งแต่ พ.ศ.2543 และดำเนินการกับกลุ่มผู้บุกรุกที่กระทำความผิดชัดแจ้งด้วยการเข้ามาปลูกสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่อุทยานเท่านั้น ส่วนเกษตรกรที่อ้างว่าอยู่อาศัยในพื้นที่มาก่อนการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาตินั้น ก็ยังคงอยู่ในกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ถือครอง และทางอุทยานแห่งชาติทับลานเองก็ไม่เคยที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือดำเนินการใดๆกับชาวบ้านกลุ่มนี้ ทั้งนี้หากเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องจริง ส่วนตัวก็มองว่าเป็นสิทธิที่แต่ละบุคคลจะสามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอนกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งหากว่ามีผลออกมาอย่างไรตนเองในฐานะผู้ปฎิบัติหน้าที่หากกฎหมายบังคับมาอย่างไรก็ต้องทำตามนั้น