ข่าว

แม่น้ำท่าจีน

แม่น้ำท่าจีน

16 พ.ย. 2554

แม่น้ำท่าจีน โดย...เรือนอินทร์ หน้าพระลาน

         มวลน้ำก้อนใหญ่เริ่มรุกเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ ทางราชการต้องเร่งขุดคูคลองระบายน้ำฝั่งตะวันตกลงสู่แม่น้ำท่าจีน เร่งผลักดันน้ำให้ไหลออกอ่าวไทย

          แม่น้ำท่าจีนแยกออกมาทางฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ ต.มะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท ไหลผ่าน จ.สุพรรณบุรี,จ.นครปฐม และออกสู่อ่าวไทยที่ ต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร ความยาว 325 กิโลเมตร

          แม่น้ำท่าจีนมีชื่อเรียกต่างๆ กันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปากแม่น้ำ ได้แก่ ไหลผ่าน จ.ชัยนาท เรียก "แม่น้ำมะขามเฒ่า" ผ่าน จ.สุพรรณบุรี เรียก "แม่น้ำสุพรรณบุรี" ผ่าน จ.นครปฐมเรียก "แม่น้ำนครชัยศรี" ผ่าน จ.สมุทรสาคร และไหลลงสู่อ่าวไทยเรียก "แม่น้ำท่าจีน"

          มีลำน้ำสาขา ได้แก่ ใน จ.สมุทรสาคร คือคลองพิทยาลงกรณ์ หรือคลองสรรพสามิต, คลองมหาชัย, คลองสุนัขหอน, คลองดำเนินสะดวก, คลองบางยาง, คลองภาษีเจริญ, ใน จ.นครปฐม มีคลองบางแก้ว, คลองมหาสวัสดิ์, คลองเจดีย์บูชา, คลองบางพระ, คลองพิสมัย, คลองทวีวัฒนา, คลองท่าสาร-บางปลา, คลองบางภาษี, คลองพระพิมลราชา และใน จ.สุพรรณบุรี มีคลองพระยาบันลื

         ช่วงตอนบนต้นน้ำตั้งแต่ จ.ชัยนาท, จ.สุพรรณบุรี ไหลผ่านที่ดอน พาดตรงลงทิศใต้ แต่ช่วงตอนล่างทางปากน้ำไหลคดเคี้ยวมากตั้งแต่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ไปออกอ่าวไทยที่ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

         คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เคยให้ความเห็นไว้ว่า ลักษณะคดเคี้ยวของแม่น้ำท่าจีน ทำให้คนจีนพิจารณาตามหลักฮวงจุ้ย แล้วเชื่อว่าเป็นที่อยู่ของมังกรตัวหนึ่ง จึงเรียกบริเวณตั้งแต่ปากน้ำท่าจีนที่มหาชัยถึงนครชัยศรีว่าเล่งเกียฉู่ แปลว่าบ้านที่อยู่ของมังกร และน่าจะเป็นคำเดียวกับ"หลั่งเกียฉู่" หรือ"หลั่งยะสิว" ที่เอกสารจีนใช้เรียกแม่น้ำในยุคทวารวดี ราวหลัง พ.ศ.1000

          แม่น้ำท่าจีน คงเป็นชื่อใหม่สมัยหลังทวารวดี แต่ยุคทวารวดีคนจีนเรียกแม่น้ำเล่งเกียฉู่ หรือหลั่งเกียฉู่ แปลว่า บ้านที่อยู่ของมังกร

---------------------------

(แม่น้ำท่าจีน โดย...เรือนอินทร์ หน้าพระลาน)