
'นุ่น-ขวัญชนก'ตกหลุมรักโลกใต้น้ำ
ขอเวลานอก : 'นุ่น' ขวัญชนก ตกหลุมรักโลกใต้น้ำ : เรื่อง ชาญยุทธ ปะวะขัง /ขวัญชนก เตชะวิจิตร์ เอื้อเฟื้อภาพประกอบ
รู้หรือไม่...คุณสมบัติของน้ำนอกจากลักษณะทางกายภาพที่สามารถปรับตัวตามภาชนะบรรจุ ไหลจากที่สูงสู่ที่ต่ำ และยังประโยชน์มหาศาลแก่มวลมนุษย์ ทว่าบางครั้งที่ปริมาณมากเกินความต้องการก็สร้างความเดือดร้อนได้เช่นกัน จุ๊ จุ๊...น้ำที่ว่าใช่กำลังไหลบ่าท่วมกรุงอยู่เวลานี้ หากแต่คือมวลน้ำทะเลที่โอบล้อมโลกเราต่างหาก!
คราใดที่คลื่นลมสงบผืนน้ำสีน้ำเงินก็ได้เวลาโชว์ออฟ เชิญชวนให้เหล่าคนหลงทะเลดำดิ่งสู่โลกใต้น้ำไปพิสูจน์ความงามที่รังสรรค์ขึ้นอย่างไร้ลิมิต และนั่นเองทำให้ "นุ่น" ขวัญชนก เตชะวิจิตร์ ทายาทคนเล็กสุดในจำนวนสามคนของคุณแม่ ทิพวรรณ และคุณพ่อ ดร.วีระชัย เตชะวิจิตร์ กงสุลเอสโตเนียประจำประเทศไทย และเจ้าของโรงเรียนนานาชาติเดอะรีเจ้นท์ ออกอาการตื่นเต้นทุกครั้งที่มีโอกาสกระโจนสู่มหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ชนิดที่บางครั้งลืมไปว่า ยิ่งลึกยิ่งแฝงไว้ด้วยอันตราย
"เริ่มดำน้ำตอนอายุ 18 ค่ะ คือที่โรงเรียนรีเจ้นท์ของเรามีวิทยาเขตอยู่ที่เกาะช้าง ก็เลยได้จัดกิจกรรมช่วงซัมเมอร์สำหรับนักเรียน ครู และผู้ปกครอง มีปีนเขา แอดเวนเจอร์ พายเรือ และขาดไม่ได้คือการดำน้ำ แล้วคุณพ่อก็ชอบดำน้ำด้วย เรียนจนเป็นครูสอนครูดำน้ำเลย ท่านก็เลยชวนนุ่นมาดำน้ำเผื่อได้ใช้ประโยชน์ อย่างน้อยก็เป็นกิจกรรมยามว่าง ก็ไม่ต้องใช้เวลาตัดสินใจอะไร สนใจทันทีค่ะ" กรรมการผู้บริหารโรงเรียนนานาชาติ สาววัย 28 ปี เล่า ขณะชี้ชวนให้ดูภาพถ่ายน่าประทับใจที่ถ่ายไว้ ณ จุดดำน้ำต่างๆ ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศที่มีโอกาสไปสัมผัสความงามมาแล้ว
แต่ครั้งแรกที่ต้องแบกถังออกซิเจน แล้วครอบหน้ากากกันน้ำใช่ว่าจะง่ายดายและสวยงามอย่างที่คิด เธอยังจดจำความรู้สึกได้ดีว่ากลัวมาก เพราะหายใจไม่ค่อยถนัด โดยเริ่มต้นเรียนรู้การดำน้ำที่สระว่ายน้ำก่อนราวสองสัปดาห์ ครูสอนดำน้ำจะแนะวิธีการหายใจ การส่งสัญญาณต่างๆ เมื่ออยู่บนผิวน้ำและใต้น้ำ ถึงจะยากแต่ก็ท้าทายความกล้า โชคดีที่มีคุณพ่ออยู่เคียงข้างตลอด ทำให้มีกำลังใจและเรียนรู้ได้ค่อนข้างเร็ว
เมื่อความพร้อมผสมความกล้าลงตัวก็ถึงเวลาดำดิ่ง ซึ่งฐานทดสอบการเรียนดำน้ำระดับต้นที่เรียกว่า "ขั้นโอเพ่น" ต่อด้วย "ขั้นแอดวานซ์" ของสาวนุ่นก็คือ โลกใต้น้ำที่ว่ากันว่าสวยที่สุดของประเทศอย่าง "หมู่เกาะสิมิลัน" ลงไปลึกถึง 30 เมตร เช่นเคยด้วยความรักและห่วงลูกสาว จึงมีคุณพ่อคอยประกบอยู่ตลอด เรียกว่าความปลอดภัยเหนือสิ่งอื่นใดเสมอ
"เมืองไทยโชคดีที่มีทรัพยากรทางทะเลเยอะมาก มีปลาใหญ่ๆ นุ่นเคยไปดำที่เกาะเต่า เจอฉลามวาฬในระดับน้ำลึกแค่ 3 เมตร มีปลากระเบนด้วย แต่ช่วงหลังเริ่มไม่ค่อยเจอแล้ว เทียบกับช่วงแรกความสวยลดลงมาก ล่าสุดเมื่อกลางปีที่ผ่านมานี้เอง ไปสิมิลันกับครอบครัวอีกรอบ ไปอยู่ 3-4 วัน กินนอนบนเรือเลย มีความสุขมาก แต่ก็ไม่กลัวดำนะ เพราะใส่เวตสูท แล้วก็ทาครีมกันแดด แต่ที่ประทับใจที่สุดคงเป็นที่แนวปะการังเกรตแบริเออรีฟที่สวยงามติดอันดับโลก ของออสเตรเลีย เจอฉลามเป็นฝูงเลย แล้วเจอคลื่นสูง 4 เมตรด้วย น่ากลัวมาก แต่คุณพ่อไม่กลัวลงไปให้อาหารฉลาม เสียดายที่ไม่ได้ถ่ายรูปไว้เยอะ เพราะพายุมา" นักดำน้ำสาวที่ตอนนี้ฝีมือระดับเรสคิวไดรเวอร์ หรือระดับที่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นเบื้องต้นได้ เล่าอย่างอารมณ์ดี
นอกจากความประทับใจที่ใช่ว่าทุกคนจะมีโอกาสได้สัมผัส สาวผู้ชื่นชอบกิจกรรมท้าทายจนต้องแบ่งสรรเวลาในแต่ละปีไปดำน้ำให้ได้อย่างน้อย 4-5 ครั้ง บอกด้วยว่า ขณะอยู่ใต้ทะเลลึกท่ามกลางสิ่งมีชีวิตหลากหลาย ยังต้องอยู่กับตัวเองเพื่อกำหนดลมหายใจเข้าออกยาวๆ ซึ่งส่งผลให้ปอดทำงานดีขึ้น เพราะหากหายใจไม่เป็นจังหวะก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และผลพลอยได้กว่านั้นคือ "สมาธิ"
"เมื่อก่อนตัวเองไม่ค่อยมีสติ ขี้ตกใจ พอได้ทำกิจกรรมนี้รู้สึกว่าทำให้มีสมาธิมากขึ้น ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานได้ด้วยนะ นุ่นจบตรีด้านบริหารที่ Oxford Brookes University แล้วต่อโทด้านการเงิน ที่ Cass Business School Londoncity University ประเทศอังกฤษ ตอนนี้ช่วยงานที่บ้านในตำแหน่งกรรมการบริหารโรงเรียน ดูแลเอกสารต่างๆ ก็ตรงกับที่เรียนมา เป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบและต้องมีวิสัยทัศน์ที่ดี ก็ค่อนข้างหนัก เพราะเรามีนักเรียนกว่า 1,000 คน จำนวนนี้เป็นนักเรียนต่างชาติถึง 75 เปอร์เซ็นต์ คิดว่าการทำงานด้านการศึกษาต้องทุ่มเทค่ะ เพราะเราเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพัฒนาเด็กให้มีศักยภาพ" ทายาทคนสุดท้องของโรงเรียนนานาชาติชื่อดัง ทิ้งท้าย
งานบริหารการศึกษาเธอตั้งใจเต็มร้อย ควบคู่กับกิจกรรมเสริมสมาธิเมื่อโอกาสอำนวย แต่คงไม่หวังต่อยอดระดับการดำน้ำให้สูงกว่านี้ เพราะเป้าหมายขอเพียงมีโอกาสได้เดินทางไปสัมผัสท้องทะเลสวยๆ ทั่วโลกก็พอใจแล้ว...
----------------------
(ขอเวลานอก : 'นุ่น' ขวัญชนก ตกหลุมรักโลกใต้น้ำ : เรื่อง ชาญยุทธ ปะวะขัง /ขวัญชนก เตชะวิจิตร์ เอื้อเฟื้อภาพประกอบ)