
'ไจก้า'แนะไทยเพิ่มช่องทางระบายน้ำ
ทูต-ทีมผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นพบ “ประชา” ยินดีให้ความช่วยเหลือประเทศไทยทุกด้าน “ผู้เชี่ยวชาญด้านระบายน้ำ ไจก้า”แนะให้รัฐบาลไทยเพิ่มช่องทางระบายน้ำให้มาก เพราะลักษณะภูมิประเทศไทยไม่สูงชัน ทำให้น้ำระบายช้า เผยพื้นที่ท่วมขังน้ำจะทรงตัว 2-
31ต.ค.2554 นายเซอิจิ โคจิมะ เอกอัคราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย พาคณะผู้เชี่ยวชาญทางน้ำ, การประปา, ป้องกันน้ำท่วมสนามบินและสถานีรถไฟใต้ดิน ของรัฐบาลญี่ปุ่นและองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า) เข้าพบพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เพื่อนำเสนอผลการลงสำรวจพื้นที่น้ำท่วมของประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงวันที่ 20 ต.ค. เป็นต้นมา โดยตลอดการนำเสนอผลการสำรวจ ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนชาวไทยและประเทศญี่ปุ่นเข้ารับฟัง
ประเทศญี่ปุ่นได้นำเสนอรายงานผลการศึกษา ว่าได้ลงพื้นที่เพื่อพบปะผู้เชี่ยวชาญของประเทศไทย ส่วนการระบายน้ำนั้น ยังไม่ทราบ แต่ศปภ.เตรียมที่จะประสานให้ทีมระบายน้ำของประเทศไทยได้หารือกับทีมระบายน้ำของประเทศญี่ปุ่น
จากนั้นนายเซอิจิ ให้สัมภาษณ์ผ่านล่ามแปลภาษาว่า รัฐบาลญี่ปุ่นพร้อมจะให้ความช่วยเหลือประเทศไทยในทุกด้านเพื่อเป็นการตอบแทนความมีน้ำใจที่ประเทศไทยได้ให้ความช่วยเหลือชาวญี่ปุ่นช่วงที่ประสบภัยสึนามิ
นายกิมิโอะ ทาเคยะ ที่ปรึกษาอาวุโสไจก้า ด้านการระบายน้ำ เปิดเผยข้อมูลด้านการระบายน้ำในภาพรวมของประเทศไทยที่อยู่ระหว่างประสบปัญหาน้ำท่วมว่า ต้องยอมรับว่าการพัฒนาเศรษฐกิจ อาทิ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทย ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่นำแบบการพัฒนาเศรษฐกิจมาจากประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2542 นั้น มีความก้าวหน้าไปมากกว่าการพัฒนาศักยภาพของระบบระบายน้ำ แต่ไม่ได้หมายความว่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจะเป็นพื้นที่ขวางทางน้ำไหล ทั้งนี้ในพื้นที่ตั้งของกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่น จะมีการขุดบ่อน้ำเพื่อเป็นแหล่งรองรับน้ำก่อนที่ไหลเข้าท่วมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม
นายกิมิโอะ กล่าวอีกว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในอนาคต จำเป็นที่ต้องให้ประชาชน, ชุมชน และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมาระดมความคิดเพื่อหาทางแก้ไข
ผู้สื่อข่าวถามว่าจากปริมาณน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ต่างๆ พบมีช่องทางไหนที่ระบายน้ำออกไปอย่างรวดเร็วหรือไม่ นายกิมิโอะ กล่าวว่า เชื่อว่ารัฐบาลน่าจะมีช่องทางระบายน้ำได้ แต่โดยสภาพพื้นที่ของประเทศไทย ที่ไม่มีความลาดชันมากนัก เชื่อว่าน้ำจะไหลออกอย่างช้า ๆ และคงสภาพในปัจจุบันต่อไป 2-3 สัปดาห์ ดังนั้นรัฐบาลไทยควรหาช่องทางระบายน้ำออกไปให้เร็วที่สุดแทน
ผู้สื่อข่าวรายงานงานว่าผลการสำรวจของคณะผู้เชี่ยวชาญประเทศญี่ปุ่น ที่ได้เสนอต่อพล.ต.อ.ประชา นั้น ประกอบด้วย การป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ ที่คณะผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าอยู่ในระดับป้องกันที่ดี, การป้องกันน้ำท่วมรถไฟฟ้าใต้ดิน ทางคณะผู้เชี่ยวชาญ มีความเป็นห่วงเป็นอย่างมาก เพราะรถไฟฟ้าใต้ดินนั้นมีจุดเสี่ยงที่น้ำจะเข้าท่วมหลายจุด อาทิ ประตูทางเข้าออก และ ช่องระบายอากาศ ทั้งนี้จากการเข้าเยี่ยมพื้นที่ที่บริษัทบีเอ็มซีแอล พบว่ามีมาตรการป้องกันน้ำเข้าท่วมเป็นอย่างดี และมีการสร้างเครื่องป้องกันน้ำ สูง 1-3.2 เมตร แต่ทางคณะผู้เชี่ยวชาญยังห่วงว่า หากน้ำมีการท่วมขังและสูงเกิน 4 เมตรระบบของรถไฟฟ้าใต้ดินจะได้รับผลกระทบ