
วารีวลี:คำที่ว่าด้วยน้ำ
วารีวลี:คำที่ว่าด้วยน้ำ :วันเว้นวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ กับ ประภัสสร เสวิกุล
นั่งลุ้นว่าน้ำจะท่วมบ้านหรือไม่ ทำให้ตระหนักความจริงประการหนึ่งว่าคนไทยมีชีวิตอยู่กับน้ำมาตั้งแต่โบราณกาล เราอาศัยอยู่ตามริมแม่น้ำลำคลองและใช้น้ำในชีวิตประจำวัน การทำมาหากิน และการคมนาคม ดังนั้น จึงมีวลีที่เกี่ยวกับน้ำเป็นจำนวนมาก คำแรกที่เราคุ้นหูน่าจะเป็นคำที่เชื่อกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย นั่นก็คือ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ที่ปรากฏในหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของอาณาจักรสุโขทัย และในสุภาษิตพระร่วง ซึ่งสันนิษฐานว่า สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงชำระ ก็มีคำว่า “น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ” อันหมายถึงการโอนอ่อนผ่อนตามต่อกระแสที่กำลังมาแรง
ในอิศรญาณภาษิต ของหม่อมเจ้าอิศรญาณมีคำว่า “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า” แสดงถึงความสำคัญของน้ำในด้านการคมนาคม คนรุ่นใหม่ที่ห่างแม่น้ำลำคลองอาจจะสงสัยว่าทำไมน้ำถึงพึ่งเรือแทนที่จะเป็นเรือพึ่งน้ำ ข้อเท็จจริงก็คือเมื่อต้องใช้การเดินทางโดยเรือ ก็จำเป็นที่จะดูแลเส้นทางน้ำให้อยู่ในสภาพที่ดี ไม่ตื้นเขินหรือมีขยะปฏิกูล ผิดกับปัจจุบันที่เราหันไปใช้รถยนต์และถนนหนทาง คูคลองก็กลายเป็นที่ทิ้งขยะหรือทางน้ำเน่าไม่สามารถรองรับการไหลของน้ำที่มีปริมาณมากได้ ส่วนเสือพึ่งป่านั้น ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในเรื่อง “หนามยอกหนามบ่ง” ว่า “เสือพีเพราะป่าปก และป่ารกเพราะเสือยัง” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันของธรรมชาติ
และธรรมชาติของน้ำก็เป็นที่มาของวลีที่รู้จักกันดีทั้งไทยและฝรั่ง อย่าง “น้ำนิ่งไหลลึก” (Still water runs deep) "กินน้ำเผื่อแล้ง” (Keep something for a rainy day) “สายน้ำไม่ไหลกลับ” หรือ ‘The River of No Return’ ในเพลงของมาริลีน มอนโร เป็นต้น และแม้ว่า “สายน้ำตัดไม่ขาด” ก็อาจจะมี “น้ำแยกสาย ไผ่แยกกอ” แต่ถึงอย่างไร “เลือดก็ย่อมข้นกว่าน้ำ” เป็นธรรมดา ในขณะที่ทางภาคอีสานก็มีคำว่า “อาบน้ำร่วมท่า กินปลาร่วมข้อง” ซึ่งแสดงถึงความสนิทสนมผูกพัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องสองฝั่งโขง
น้ำพริกเป็นอาหารประจำวันของคนไทยในสมัยก่อน ดังนั้น การทำอะไรที่ใหญ่โตแต่ได้ไม่คุ้มเสีย จึงถูกเปรียบเทียบว่าเป็นการ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” แต่วลีที่ถือว่าเป็นปรัชญาอย่างยิ่งก็คือ “เวลาและสายน้ำไม่เคยคอยใคร” ดังนั้น อย่ามัวแต่โอ้เอ้หรือผัดวันประกันพรุ่ง
“น้ำมาปลากินมด น้ำลดมดกินปลา” แปลเป็นภาษาไทยปัจจุบันก็คือ “ทีฮู (who) ทีอิท (it)” หรือ “ทีเอ็งข้าไม่ว่า ทีข้าเอ็งอย่าโวย” คล้ายๆ กับการทำงานของ ศปภ.กับ กทม.ที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม.ครั้งต่อไปเป็นเดิมพัน นั่นแหละครับ และวิกฤติการณ์น้ำท่วมในคราวนี้ ก็ทำให้คนไทยอยู่ในอาการ “น้ำท่วมปาก” พูดอะไรไม่ออกไปตามๆ กัน โดยเฉพาะการที่เห็นคนบางคนถือคติ “น้ำขึ้นให้รีบตัก” ฉกฉวยประโยชน์หรือเอาหน้าจากสิ่งของที่มีผู้บริจาคช่วยผู้ประสบภัย
ส่วน “น้ำลดตอผุด” เป็นเหตุการณ์ที่มักจะได้เห็นกันภายหลังน้ำท่วมครับ