ข่าว

พลิกแฟ้มคดีดัง : รัฐผิดพลาด...เผาจวนผู้ว่าฯ เมืองคอน

พลิกแฟ้มคดีดัง : รัฐผิดพลาด...เผาจวนผู้ว่าฯ เมืองคอน

02 พ.ค. 2552

สัปดาห์แรกของเดือนมกราคม 2518 ประชาชนส่วนใหญ่กำลังรื่นเริงอยู่กับการฉลองเทศกาลปีใหม่ แต่ไม่ใช่ชาวนครศรีธรรมราช ที่กำลังประสบกับความทุกข์เข็ญจากอุทกภัยครั้งใหญ่ ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักตั้งแต่วินาทีแรกของปี พอวันที่ 5 มกราคม น้ำก็ทะลักเข้าท่วมพื้นที่ส่วนใหญ่ข

จากภาวะน้ำท่วมครั้งใหญ่ ส่งผลให้สินค้าอุปโภคบริโภคพุ่งสูงลิบ ข้าวสารจากเดิมถังละ 75 บาท พุ่งขึ้นเป็น 80-90 บาท เพียงวันที่ 8 มกราคม ก็ขึ้นไปแตะที่ 100-120 บาท เนื่องจากบรรดาพ่อค้าแม่ค้าถือโอกาสกักตุนสินค้า

 "คล้าย จิตพิทักษ์" พ่อเมืองนครศรีธรรมราช ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบและสามารถยึดข้าวสารที่กักตุนไว้ได้ 2,000 กระสอบ จึงนำมาจำหน่ายให้ประชาชนที่ศาลาประชาคมในราคาถังละ 75 บาท หรือตกกระสอบละ 450 บาท

 ระหว่างการจำหน่ายข้าวสารให้ชาวบ้าน ปรากฏว่ามีผู้ค้าข้าวกลุ่มหนึ่งนำข้าวสารมาขายให้ประชาชนในบริเวณเดียวกัน ราคากระสอบละ 470 บาท แพงกว่าของรัฐ 20 บาท ต่อหน้าต่อตาตำรวจที่ควบคุมดูแลความเรียบร้อยอยู่ โดยกลุ่มผู้ค้าอ้างว่า ราคาที่แตกต่างกันเป็นค่ากระสอบ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่อนุญาตให้จำหน่ายได้เพียง 200 กระสอบเท่านั้น

 วันรุ่งขึ้น 10 มกราคม 2518 จู่ๆ พ่อเมืองนครฯ ก็ประกาศขึ้นราคาข้าวสารจากถังละ 75 บาท เป็น 85 บาท โดยให้เหตุผลว่าเห็นใจผู้ค้าที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยเช่นเดียวกัน สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนอย่างยิ่งยวด กลุ่มนักศึกษาและประชาชนในจังหวัดนัดรวมตัวต่อต้านนโยบายของผู้ว่าฯ คล้าย โดยกล่าวหาว่าสมคบนายทุนเอารัดเอาเปรียบและซ้ำเติมประชาชนที่กำลังเผชิญกับความเดือดร้อนอย่างเห็นแก่ตัว

 การเคลื่อนไหวต่อต้านลุกลามไปอย่างรวดเร็ว มีการปลุกระดมให้ชาวบ้านเกลียดชังเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะผู้ว่าฯ คล้ายอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเช้าวันที่ 21 มกราคม มีกลุ่มนักศึกษานำโดยวิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช ร่วมกับชาวบ้านกว่า 5,000 คน ไปชุมนุมประท้วงที่หน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัด เรียกร้องให้รัฐบาล "เสนีย์ ปราโมช" นายกรัฐมนตรี ย้ายผู้ว่าฯ คล้ายพ้นพื้นที่นครศรีธรรมราช

 ระหว่างการชุมนุมประท้วงกำลังดำเนินต่อไป ผู้ว่าฯ คล้ายกำลังทำพิธีปัดรังควานอยู่ที่วัดมหาธาตุ ภายในจวนผู้ว่าราชการจังหวัดมีเพียง "ประเมิน จิตรพิทักษ์" ภรรยาและบุตรวัย 5 ขวบ อยู่กันตามลำพัง

 ผ่านไป 3 ชั่วโมง กลุ่มผู้ชุมนุมนำโดย "สุรชัย แซ่ด่าน" เรียกร้องให้ผู้ว่าฯ คล้ายออกมาพบ แต่ข้อเรียกร้องไม่ได้รับการปฏิบัติตาม นักศึกษาและชาวบ้านกลุ่มหนึ่งบุกเข้าไปในจวน ปล่อยนกและสัตว์เลี้ยงของผู้ว่าฯ ไปจนหมด แล้วลงมือรื้อทำลายข้าวของจนระเนระนาด ประเมินต้องหอบลูกหนีออกจากจวนอย่างทุลักทุเล

 ทันทีที่ทราบเรื่อง ผู้ว่าฯ คล้ายรีบกลับมาที่จวนผู้ว่า เข้าไปเจรจรกับกลุ่มผู้ชมุนุม แต่ก็ไม่เป็นผล ข้อเรียกร้องยังเป็นเหมือนเดิม คือ ผู้ว่าฯ คล้ายต้องย้ายออกนอกพื้นที่ทันที กระทั่งกระทรวงมหาดไทยส่ง "ชะลอ วนะภูติ" ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงไปควบคุมสถานการณ์ไม่ให้บานปลาย โดยเข้าพักที่โรงแรมไทยโฮเตล กลุ่มผู้ประท้วงตามไปกดดันถึงโรงแรม ให้ปลัดชะลอสั่งย้ายพ่อเมืองคอนทันที แต่กลุ่มผู้ชุมนุมต้องผิดหวัง เมื่อไม่พบปลัดชะลอ พวกเขาเข้าใจว่าเจ้าของโรงแรมพาหนี จึงขู่จะเผาโรงแรมทิ้ง

 สถานการณ์ทั่วทั้งเมืองนครศรีธรรมราชคุกรุ่นไปด้วยกลิ่นอายความรุนแรง จนทหารจากมณฑลทหารบกที่ 5 ต้องส่งกำลังออกมารับตัวปลัดชะลอและผู้ว่าฯ คล้ายไปพักในค่ายทหาร เพราะเกรงจะไม่ได้รับความปลอดภัย

 เช้าตรู่วันที่ 22 มกราคม กลุ่มผู้ชุมนุมเผาหุ่นผู้ว่าฯ คล้าย พร้อมกับขีดเส้นตายให้ทหารนำตัวมาส่งคืน โดยขู่ว่าหากไม่ทำตามจะเผาจวนผู้ว่าราชการจังหวัด อีกทั้งมีการจี้รถเมล์โดยสารประจำทางไปปิดกั้นถนนหลายสาย จนการจราจรในเมืองนครศรีธรรมราชเป็นอัมพาตไปชั่วขณะ พอถึงเที่ยงตรงก็มีคนกลุ่มหนึ่งบุกเข้าไปรื้อค้นทรัพย์สินในจวนผู้ว่าฯ อีกครั้ง ก่อนจะจุดไฟเผาจวนผู้ว่าฯ ในเวลาบ่าย 3 โมง

 สถานการณ์ช่วงนั้นตลบอบอวลไปด้วยบรรยากาศแห่งความสับสนอลหม่าน กระทรวงมหาดไทยจึงตัดไฟแต่ต้นลม ด้วยการสั่งย้ายผู้ว่าฯ คล้ายพ้นพื้นที่ แล้วให้ "ศุภโชค พาณิชย์วิทย์" ไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชแทน กลุ่มผู้ประท้วงจึงยอมสลายตัว
 ขณะนั้นประเทศไทยอยู่ระหว่างการเลือกตั้งใหม่ รัฐบาลเสนีย์ ปราโมช หมดอำนาจลง ขณะที่รัฐบาล "ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช" มีโอกาสเข้ามาทำหน้าที่แทน กระบวนการสอบสวนเอาผิดเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนั้นจึงเริ่มต้นขึ้น

 การสืบสวนสอบสวนดำเนินไปไม่ทันถึงเดือน พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดีกรมตำรวจ และ พล.ต.ต.วิจิตร โตสุวรรณ ผู้บังคับการตำรวจเขต 8 นำกำลังบุกจับกุม 17 แกนนำ มีทั้งอาจารย์วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช นักศึกษา ข้าราชการตำรวจ และประชาชน ในความผิดก่อการจลาจล ลักทรัพย์ และวางเพลิง

 หลังจาก 17 แกนนำถูกจับกุม สร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มนักศึกษาและประชาชนใน จ.นครศรีธรรมราช เป็นอย่างมาก เนื่องจากมองว่าตำรวจจับกุมแบบเหวี่ยงแห โดยเฉพาะอาจารย์วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช รวมถึง "สุรชัย แซ่ด่าน" ไม่ได้รู้เห็นกับการเผาจวนผู้ว่าฯ เลยแม้แต่น้อย เพราะขณะเกิดเหตุจลาจลคนเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นโฆษกอยู่บนเวทีปราศรัย

 การรวมตัวต่อต้านเกิดขึ้นอีกครั้ง และลุกลามขยายไปทั่วประเทศ ภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มนักศึกษาและประชาชนมากถึง 11 กลุ่ม รวมตัวเคลื่อนไหวกันอย่างเหนียวแน่น ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2518 มีนักศึกษาและประชาชนกว่า 2 หมื่นคน ไปรวมตัวกันที่สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช กดดันให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัว 17 แกนนำ

 นักศึกษาและประชาชนรวมตัวกันอยู่นาน 3 วัน เหตุการณ์มีทีท่าจะบานปลาย พล.ต.อ.พจน์ เภกะนันท์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น จึงมีคำสั่งให้ปล่อยตัว 8 แกนนำ หนึ่งในนั้นคือ สุรชัย แซ่ด่าน เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2518 ส่วนที่เหลือให้ประกันตัวไปโดยอ้างว่าหลักฐานอ่อน

 ทันทีที่แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมได้รับการปล่อยตัว สร้างความไม่พอใจให้แก่ตำรวจใน จ.นครศรีธรรมราช เป็นอย่างยิ่ง มีตำรวจกว่า 300 นาย รวมตัวประท้วงที่ บก.ภ.จว.นครศรีธรรมราช แสดงความไม่เห็นด้วยกับคำสั่งข้างต้น โดยยกเหตุผลที่ว่า ต่อไปโจรคงเต็มบ้านเต็มเมือง เพราะทำผิดก็ไม่ต้องรับโทษ

 สถานการณ์การประท้วงของตำรวจลุกลามไปทั้งประเทศ ตำรวจผละงานไม่ปฏิบัติหน้าที่ ทำให้คนร้ายฉวยโอกาสก่อคดีร้ายแรงในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี จึงออกประกาศจะนำทหารมาทำหน้าที่แทนตำรวจชั่วคราว

 ต่อมาตำรวจได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาล 6 ข้อ โดยหนึ่งในนั้นคือ ให้นายกรัฐมนตรีประกาศต่อสาธารณะว่า การปล่อยตัว 17 ผู้ต้องหาเป็นเพราะการเมืองบีบ ไม่ใช่เพราะตำรวจทำหลักฐานอ่อน ถัดมาอีก 4 วัน พล.ต.ท.ประมาณ อดิเรกสาร รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ก็ออกประกาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ยอมรับตามข้อเรียกร้องของตำรวจ การประท้วงของตำรวจจึงยุติลง