
'นวนคร'กลายเป็น'นิคมการเมือง'
เมื่อ "นวนคร" กลายเป็น "นิคมการเมือง" : ขยายปม โดย สมถวิล เทพสวัสดิ์
"ที่พูดกันก็พูดไม่หมด คนสั่งการพูดไปเรื่อย แต่คนทำงานทำแทบตาย คนปทุมธานีไม่มีสิทธิบริหารน้ำ เอาคนอื่นมาบริหาร เป็นความเจ็บปวดของคนปทุมฯ ศปภ.ไม่เคยฟังคนพื้นที่ ไปฟังแต่นักวิชาการ ไปฟังคนนอนห้องแอร์ ถ้าน้ำแตกอย่างนี้ไม่มียุบแล้ว มีแต่ขึ้น การบริหารจัดการน้ำไม่ดี เดิมแก้ไขได้ ทำไมจะทำไม่ได้ แต่วันนี้พูดไปก็ไม่มีประโยชน์ พูดไปก็ไม่มีใครฟัง ผู้ใหญ่ไม่ฟัง มันจมหมดแล้ว" นี่เป็นการถ่ายทอดความรู้สึกของ "ชาญ พวงเพ็ชร์" นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี หลังจากน้ำเข้าท่วมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร ซึ่งเป็นเหมือนอู่ข้าวอู่น้ำของชาวปทุมฯ
ความพยายามในการรักษา "นิคมอุตสาหกรรมนวนคร" ของหลายฝ่าย เพื่อไม่ให้น้ำเข้าท่วม ถือว่า "ล้มเหลว" แม้จะใช้ "กำลังภายใน" ของ "บอร์ด" บางคนช่วยประสาน "ผู้หลักผู้ใหญ่" เข้ามาช่วยรักษานิคมไว้ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ
เนื่องจากปัญหาของ "มวลน้ำ" ที่มีมากกว่าปกติและปัญหา "มวลชน" ภายนอกนิคมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม "พื้นที่การเกษตร" ของประชาชนที่อยู่บริเวณรอบๆ ก็ทำให้การตัดสินใจ "จัดการน้ำ" ไม่สามารถทำได้เต็มที่
เพราะการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งของรัฐบาลย่อมส่งผลกระทบต่อ "ฐานคะแนนเสียง" ของรัฐบาลอย่างแน่นอน
หากมาไล่เรียง "ผู้แทน" หรือ "ส.ส." ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี ทั้ง 6 เขต ล้วนเป็น "ส.ส.พรรคเพื่อไทย" ทั้งหมด
"สุทิน นพขำ" เขต 1 "สุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล" เขต 2 "สมศักดิ์ ใจแคล้ว" เขต 3 "พรพิมล ธรรมสาร" เขต 4 "ว่าที่ ร.ต.สุเมธ ฤทธาคนี" เขต 5 และ "ชูชาติ หาญสวัสดิ์" เขต 6
โดยเฉพาะ "จ.ปทุมธานี" มี "รัฐมนตรี" ถึง 2 คน คือ "สุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ "ชูชาติ หาญสวัสดิ์" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
แต่มาตรการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ยังมีเสียงบ่น บางพื้นที่ถึงกับตัดพ้อ "ส.ส.หนีหน้า" ไม่มาให้เห็นเหมือนช่วงลงพื้นที่หาเสียงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.
ขณะเดียวกันเมื่อไปดู "รายชื่อกรรมการ" ของ "นิคมอุตสาหกรรมนวนคร" จะพบว่าส่วนใหญ่มีความ "ใกล้ชิด" กับคนในรัฐบาล จึงไม่แปลกที่หลายฝ่ายพยายาม "รักษา" ให้นิคมอยู่รอดให้นานที่สุด
โดยเฉพาะ "ประธานบอร์ดนวนคร" ที่ชื่อ "บิ๊กแอ๊ว" พล.อ.อัครเดช ศศิประภา อดีตรอง ผบ.สส. ซึ่งเป็นน้องชายของ "บิ๊กอ๊อด" พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม ซึ่งจัดอยู่ในก๊วนทหารเครือข่ายทักษิณมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลไทยรักไทย และ "หัฏฐจิต หนุนภักดี" กรรมการบริหาร และรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน)
ปฏิบัติการรักษานวนคร จึงมี "บิ๊กอ๊อด" ลงมาเป็น "มือประสาน" ด้วยตัวเอง พร้อมกับมีการนำกำลังทหารจากกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ จำนวน 625 นาย เข้ามาช่วยรักษานิคมอุตสาหกรรมนวนครอย่างเต็มที่ โดยมี "เสธ.อ๊อบ" พ.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ลูกชาย พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี อดีต ผบ.ทบ. และเลขาฯ รสช. ในฐานะ "ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์" มากำกับดูแลด้วยตัวเอง
ขณะเดียวกันก็มี "พล.อ.วิชา ศิริธรรม" ที่ปรึกษาและประธานอนุกรรมการฝ่ายกิจการพิเศษ นวนคร ก็เป็น "แนวหน้า" ในการขับเคลื่อน เพื่อรักษานวนครไม่ให้ถูกน้ำท่วม พยายามประสานกับรัฐบาลผ่านทาง "ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย" หรือ ศปภ. แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร
จึงออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ "ทั้งต่อว่าและแขวะรัฐบาล" เพื่อขอให้รัฐบาลเปิดประตูระบายน้ำทั้ง 5 บาน เช่น ประตูระบายน้ำเชียงรากน้อย เชียงรากใหญ่ สารพัน คลองระพีพัฒน์ และคลองเปรมประชากร เพื่อระบายน้ำออก และรักษาพื้นที่เศรษฐกิจไว้ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลจนกระทั่งไปเชิญ "บรรหาร ศิลปอาชา" อดีตนายกรัฐมนตรี มาช่วยเจรจา แต่ว่าก็ไม่ประสบความสำเร็จ
จนกระทั่งต้องให้ "บิ๊กอ๊อด" พล.อ.ยุทธศักดิ์ เป็นผู้ประสานตรงกับ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี
เพราะปัญหาน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรมนวนครเริ่มมีการถกเถียงเรื่องการระบายน้ำที่บางพื้นที่ไปกระทบต่อพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของ "ส.ส.ปทุมธานี" จึงไปแจ้งกับ "พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก" รมว.ยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) อย่าระบายลงในพื้นที่ฐานเสียง ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกข้าว สวนส้ม พืชไร่
และจุดนี้เองทำให้การระบายน้ำในนิคมนวนครมีปัญหา!
จนเป็นที่มาของการ "นั่งโต๊ะเจรจา" เพื่อหาทางออก ระหว่างรักษาพื้นที่เศรษฐกิจ กับพื้นที่การเกษตร
และท้ายที่สุดก็ต้อง "รัฐบาล" ต้องทำตามข้อเสนอของ "นวนคร" ที่ขอให้เปิดประตูระบายน้ำทั้ง 5 บาน เพื่อรักษาพื้นที่เศรษฐกิจไว้ เนื่องจากการ "กู้" ภาคการเกษตรทำได้ง่ายกว่าการกอบกู้ภาคธุรกิจที่มีต่างประเทศมาร่วมลงทุนรวมกันหลายแสนล้าน
แต่นั่นหมายความว่า "รัฐบาล" ต้องเข้าไปทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือและหาเงินชดเชยสิ่งที่ชาวบ้านยอมแลกกับการรักษาภาคธุรกิจไว้
ก่อนหน้านี้ "กองทัพ" และ "กฤษฎีกา" เคยเสนอให้ "รัฐบาล" ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ เพราะปัจจุบันที่ใช้อำนาจตามพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของกระทรวงมหาดไทย ปี 2550 ใช้ไม่ได้ผลไม่สามารถดูแลประชาชนได้ แต่รัฐบาลหวาดระแวงที่จะมอบอำนาจให้ทหารเป็นผู้ดูแลจนสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มบานปลาย
บทเรียน "น้ำท่วมนวนคร" ถือเป็นบทเรียนที่สำคัญของรัฐบาล เพราะนอกจากแก้ไขปัญหามวลน้ำที่มีมากแล้วยังต้องเผชิญกับมวลชนที่ไม่พอใจการบริหารน้ำของรัฐบาลจนเกิดการกระทบกระทั่งกันหลายจุด
เพราะเหตุการณ์ที่ "นิคมอุตสาหกรรมนวนคร" ครั้งนี้ไม่เหมือน "นิคมอุตสาหกรรม" ทั่วไป แต่เกี่ยวโยงกับ "การเมือง" อีกด้วย!