ข่าว

'รักษาสันติภาพ'ตร.ไทยในเวทีโลก

'รักษาสันติภาพ'ตร.ไทยในเวทีโลก

09 ต.ค. 2554

'รักษาสันติภาพ'ตำรวจไทยในเวทีโลก : สัมภาษณ์พิเศษ พ.ต.ท.หญิง ปราณี อินทรีย์วงศ์ พยาบาล สบ 3 ศูนย์ส่งกลับและรถพยาบาล โรงพยาบาลตำรวจ และ พ.ต.ท.สรรเพชญ์ ศิรพรสันติ สว.อก.สภ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี ผู้เคยผ่านภารกิจ "รักษาสันติภาพ" มาแล้วหลายประเทศ

           นับเนื่อง 14 ปีแล้ว ที่ตำรวจไทย 242 ชีวิต เข้าร่วมภารกิจ "รักษาสันติภาพ" ในนามของสหประชาชาติ ในประเทศ บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา, ติมอร์เลสเต และ เฮติ ด้วยภารกิจรักษาสันติภาพในประเทศที่เพิ่งผ่านพ้นวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองใหม่ๆ และปัจจุบันมีตำรวจไทยอีก 20 นาย ที่ปฏิบัติภารกิจอยู่ที่ "เฮติ" และ "ติมอร์เลสเต" นั้น...พวกเขาต้องมีคุณสมบัติอย่างไร จึงจะได้รับภารกิจอันมีเกียรตินี้


           พ.ต.ท.หญิง ปราณี  อินทรีย์วงศ์ พยาบาล สบ 3 ศูนย์ส่งกลับและรถพยาบาล โรงพยาบาลตำรวจ และ พ.ต.ท.สรรเพชญ์ ศิรพรสันติ สว.อก.สภ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี ผู้เคยผ่านภารกิจ "รักษาสันติภาพ" มาแล้วหลายประเทศ มาร่วมเผยประสบการณ์ชีวิตและภารกิจตำรวจไทยในต่างแดน

-ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรที่ได้รับการคัดเลือก

           พ.ต.ท.หญิง ปราณี : ต้องสอบภาษาอังกฤษ มีทักษะการขับรถยนต์ และมีทักษะการใช้อาวุธปืน  หลังจากนั้นสหประชาชาติก็จะคัดเลือกให้ไปปฏิบัติหน้าที่ตามความสามารถที่มี

- ภารกิจแรกในต่างแดนทำอะไรบ้าง

           พ.ต.ท.หญิง ปราณี :  เคยไปประจำการประเทศติมอร์เลสเต อยู่ 3 ครั้ง ในช่วงปี 2545-2546 ครั้งแรกรับหน้าที่เป็นตำรวจชุมชนสัมพันธ์ เมืองแรกที่ไปอยู่คือเมือง Oecussi เป็นเมืองที่ติดริมทะเลแต่ไปทางรถไม่ได้เพราะต้องผ่านอินโดนีเซีย ต้องเดินทางโดยเครื่องบินหรือนั่งเรืออ้อมไป ซึ่ง 3 เดือนแรกที่ไปเกือบถอดใจกลับบ้านแล้ว เพราะยังปรับตัวไม่ได้ เพราะไม่มีไฟฟ้าไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเหมือนอยู่เมืองไทย พื้นที่ทำงานก็ค่อนข้างอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ต้องขับรถโฟร์วิลส์ขึ้นเขาไปทำงาน หน้าที่หลักที่ทำก็คือ การคอยไกล่เกลี่ยปัญหาเรื่องที่ดิน และการแย่งน้ำ

           พ.ต.ท.สรรเพชญ์  : ผมไปมาแล้ว 2 ประเทศ คือ ติมอร์เลสเต และเฮติ  ตอนนที่ไปติมอร์ ยังไม่มีองค์กรตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจของสหประชาชาติจึงส่งตำรวจมาจาก 40 ประเทศ เพื่อมาเป็นเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายในประเทศติมอร์ มีอำนาจสืบสวน สอบสวน จับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย ผมไปประจำอยู่ที่โรงพัก ทำหน้าที่เหมือนตำรวจตามโรงพักทั่วไป และยังทำหน้าที่ครูฝึกชาวติมอร์ที่จะรับคัดเลือกมาเป็นตำรวจด้วย

- เคยเจอสถานการณ์วิกฤติในต่างแดนบ้างไหม

           พ.ต.ท.หญิง ปราณี : เมื่อปี 2549 เกิดวิกฤติในเมืองหลวงขึ้น ถูกเรียกตัวกลับไปปฏิบัติภารกิจอย่างเร่งด่วนอีกครั้ง เนื่องจากเกิดปัญหาระหว่างทหารกับตำรวจ มีประชาชนก็มีการออกมารวมกลุ่มกัน ตำรวจติมอร์ถึงขั้นใส่เครื่องแบบไม่ได้ ตอนนั้นสถานการณ์รุนแรงมากจนบ้านหลายหลังถูกเผา ชาวบ้านต้องอพยพหนีกันไปที่ค่ายอพยพ ที่นั่นก็กลายเป็นแหล่งรวมของอาวุธ และกลุ่มหัวโจกที่ขนาดอยู่ในค่ายก็ยังตีกันเอง หลายๆ คนเขาไม่ยอมรับตำรวจ ถึงขนาดมีการขว้างปาก้อนหินใส่รถของสหประชาชาติเลยทีเดียว

           การทำงานในฐานะตำรวจชุมชนสัมพันธ์ต้องพยายามเข้าหาข่าวจากชาวบ้าน ด้วยการเข้าไปหาเด็กๆ ก่อน พอเขาไว้ใจก็เริ่มเข้าหาผู้หญิงและด้วยบุคลิกแบบไทยๆ ทำให้เขาเริ่มไว้ใจเรา เวลาที่ค่ายอพยพมีปัญหาก็จะรับหน้าที่ไปไกล่เกลี่ยกับกลุ่มหัวโจกทั้งสองฝ่าย พอมีโอกาสไปปฏิบัติภารกิจครั้งที่ 3 เริ่มเปลี่ยนไปทำหน้าที่พนักงานสอบสวน เพราะเริ่มพูดภาษาเตตุ้มได้แล้ว และหากมีโอกาสจะสมัครไปปฏิบัติภารกิจนี้อีก

           พ.ต.ท.สรรเพชญ์  : ตำรวจที่มาปฏิบัติหน้าที่ประเทศที่มีความขัดแย้งกันรุนแรงในด้านต่างๆ ต้องเจอวิกฤติ และมีความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่กันทุกนาย ส่วนใหญ่มักจะเป็นความขัดแย้งระหว่างท้องถิ่น และต้องเวลาหลายชั่วโมงกว่าจะเดินทางเข้าไปในพื้นที่ได้ อย่างกรณี เกิดเหตุทะเลาะวิวาท อีกกลุ่มหนึ่งมาแจ้งความและพาผู้บาดเจ็บมาด้วย แต่อีกกลุ่มที่เป็นคู่กรณีก็พาคนพร้อมอาวุธครบมือและคบเพลิงมาล้อมโรงพักไว้แล้ว ต้องขอกำลังมาช่วยสนับสนุนตอนนั้นก็รู้สึกกดดันมาก เพราะโรงพักมีเจ้าหน้าที่อยู่ไม่กี่คน แต่โชคดีที่การมาปฏิบัติภารกิจต่างแดนครั้งนี้ ไม่มีตำรวจไทยได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต

           จากที่มีการทำหน้าที่แบบ "รายบุคคล" (Individual Police Officer - IPO) ในภารกิจรักษาสันติภาพจนเป็นที่ชื่นชมของสหประชาชาติ ตอนนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีแผนที่จะจัดตั้ง "กองกำลังปฏิบัติการพิเศษในแบบกองร้อยปฏิบัติการ" (Formed Police Unit-FPU) เพื่อให้มีการมีส่วนร่วมในภารกิจรักษาสันติภาพของตำรวจไทยในสากลมากขึ้น

           พล.ต.ท.จิโรจน์ ไชยชิต ผช.ผบ.ตร. บอกว่า ตอนนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มอบหมายให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาในการส่งตำรวจไทยในลักษณะกองกำลังปฏิบัติการพิเศษแบบกองร้อยปฏิบัติการ (Formed Police Unit-FPU) ซึ่งจะประกอบด้วยกำลัง 1 กองร้อย และจะแบ่งเป็น 3 หมวด จะให้ 1 หมวดเป็นตำรวจหญิง และอีก 2 หมวดเป็นตำรวจชาย คิดไว้น่าจะมีประมาณ 140 คน โดยจะคัดเลือกตำรวจที่ทำงานมาแล้ว 5 ปี เพื่อมาฝึกทางยุทธวิธีโดยเน้นการฝึกควบคุมฝูงชน อารักขาบุคคล  เป็นต้น โดยกองร้อยจะอยู่ภายใต้การดูแลของกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน 

           "ตอนนี้อยู่ระหว่างเสนอโครงการจัดตั้งกองร้อยปฏิบัติการพิเศษเพื่อภารกิจสันติภาพต่อรัฐบาล ถ้าหากได้รับการอนุมัติคาดว่าภายในปี 2556 ทางเราก็จะมีความพร้อมในการสนับสนุนภารกิจการรักษาสันติภาพได้ แต่ก็คงต้องขอรัฐบาลให้พิจารณาเพิ่มกำลังพลมาทดแทนส่วนที่หายไปด้วย" พล.ต.ท.จิโรจน์ กล่าว

           ด้าน พ.ต.อ.ศุภลักษณ์ ไชยลังการณ์ รองผบก.กองการต่างประเทศ บอกว่า เริ่มแรกการรักษาสันติภาพจะใช้กำลังทหาร แต่ระยะหลังจะมีปัญหาความขัดแย้งภายในรัฐ ตำรวจจะทำหน้าที่ได้เหมาะสมกว่า ทั้งนี้ปัญหาในค่ายอพยพนั้นส่วนใหญ่มีการจี้ปล้น ข่มขืน มีเหตุชุลมุนทะเลาะกัน รวมทั้งมีการขนอาวุธมาซุกซ่อน รวมทั้งยาเสพติด จึงมักใช้กองกำลังตำรวจเข้าไประวังเหตุได้

           อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.ศุภลักษณ์ มองว่า เมืองไทยเองก็มีการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองที่รุนแรง อย่างมีการเผาอาคาร ขว้างปาหินใส่ตำรวจ ก็น่าจะมีชุด FPU เข้าดำเนินการได้ เหมือนที่ประเทศติมอร์ ก็มีชุด FPU ของประเทศบังกลาเทศ ปากีสถาน โปรตุเกส ไปปฏิบัติหน้าที่นี้