ข่าว

ไอเดียกระฉูดพท.ชูตั้งกระทรวงน้ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'พท.' ผุดไอเดีย เตรียมเสนอรัฐบาลตั้ง 'กระทรวงน้ำ' ดึงกรม-กองที่ดูแลเรื่องน้ำจากทุกกระทรวงมารวมกัน เผย ปรึกษาฝ่ายกม. ร่างเป็นพรบ.เสนอต่อพรรค-รัฐบาล ระบุ ผังแก้น้ำท่วม '2P2R' สุดอืดผ่านหลายขั้นตอน จากท้องถิ่น-ถึงนายกฯ

          นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่กทม.และภาคตะวันออก สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ตนและส.ส.พรรคเพื่อไทยได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่นั้น ขณะนี้มีความเห็นตรงกันว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการบูรณาการน้ำให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยจะต้องทำให้เป็นวาระแห่งชาติ

          นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า วันนี้ หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งกรม กองที่บริหารจัดการเรื่องน้ำยังมีปัญหา ยังทำงานซ้ำซ้อน ทำแบบสะเปะสะปะ ดังนั้น น่าจะตั้งเป็นกระทรวงใหม่ขึ้นมา โดยอาจจะใช้ชื่อว่า กระทรวงน้ำ หรือกระทรวงทรัพยากรน้ำก็ได้ จากนั้นก็ดึงกรมที่เกี่ยวกับน้ำในกระทรวงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เข้ามาไว้ด้วยกัน ซึ่งจะทำให้ปัญหาเรื่องน้ำที่เมื่อถึงฤดูฝนหรือฤดูน้ำหลากน้ำมักจะท่วม ขณะที่ฤดูแล้งน้ำก็จะขาดนั้นได้รับการแก้ไข

          “วันนี้ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำอย่างจริงจัง รัฐบาลนี้มีแนวคิดพัฒนา 25 ลุ่มน้ำอยู่แล้ว ส่วนตัวคิดว่ารัฐบาลชุดนี้จะต้องเริ่มนับหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำอย่างครบวงจร โดยผมจะเสนอแนวคิดเรื่องการตั้งกระทรวงน้ำกับที่ประชุมส.ส.พรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคในสัปดาห์หน้าด้วย ซึ่งหากพรรคเห็นด้วยก็จะนำไปเสนอกับรัฐบาลเพื่อให้พิจารณาดำเนินการต่อไป”นายพร้อมพงศ์กล่าว

          ด้านนายคมเดช ไชยศิวามงคล ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเป็นไปแบบกระจัดกระจาย ใช้งบประมาณแบบเบี้ยหัวแตก เหมือนการตั้งรับปัญหาเพียงอย่างเดียว ทำให้เสียโอกาสในหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าจะทำได้ ซึ่งเขามองว่า มีแต่จะยิ่งลุกลาม จนอาจจะทำให้เกิดการขาดความเชื่อมั่นในสายตาของนักลงทุนด้วย เพราะเมื่อน้ำท่วมซ้ำซากก็จะไม่มีใครกล้ามาลงทุน ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องรีบแก้ไข

          เขาบอกว่า รัฐบาลควรจะผลักดันให้มีการจัดตั้งกระทรวงน้ำขึ้น โดยดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของแต่ละกระทรวงเข้ามาอยู่ด้วยกัน เพราะจะทำให้การแก้ปัญหามีทิศทางเอกภาพมากขึ้น

          "จากนี้ไป เชื่อว่า สถานการณ์น้ำท่วมจะเกิดขึ้นทุกปีและอาจจะหนักขึ้นเรื่อย ๆ ก็ได้ จากภาวะโลกร้อน รัฐบาลจะต้องรวมคนและงบประมาณที่กระจายอยู่ให้มากองรวมกันก่อน จากนั้นก็ส่งคนไปศึกษาสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศต่างๆ แล้วนำกลับมาปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับประเทศไทย ขณะนี้ ผมกำลังปรึกษาฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อเขียนร่างพรบ.จัดตั้งกระทรวงน้ำขึ้นเพื่อเสนอต่อพรรคและรัฐบาลด้วย" นายคมเดช ระบุ

 

เปิดผังแก้น้ำท่วม “2P2R”สุดอืดผ่านหลายขั้นตอนจากท้องถิ่น-ถึงนายกฯ

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6ต.ค.54 นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ปัญหาอุทกภัย ดินโคลนถล่มและภัยแล้ง (บอภ.) ครั้งที่ 1/2554 ที่ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ1 ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ เข้าร่วมประชุม เพื่อหารือถึงแนวทางในการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างเป็นระบบในทุกพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย

          โดยแหล่งข่าวในที่ประชุมเปิดเผยในช่วงหนึ่งของการประชุมว่าได้มีการรายงานผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการ “2P2R” ที่แบ่งเป็นคณะอนุกรรมการ 4 ชุด ที่ทำงานมาจนถึงวันที่ 5 ตุลาคม ได้รายงานผลการทำงานให้ที่ประชุมรับทราบ

          ทั้งนี้ ที่น่าสนใจคือ รายละเอียดของแผนผัง “คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และศูนย์ปฏิบัติการตามหลัก 2P2R” ที่จัดทำโดยสำนักนโยบายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นการทำงานประสานงานจากระดับท้องถิ่นไปยังรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีมีอำนาจสูงสุด

          โดยระดับท้องถิ่นนั้นจะมีนายอำเภอ,ผู้อำนวยการเขตและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้รายงานและประสานงานกับคณะกรรมการ2P2Rระดับจังหวัดที่มี 4 ชุด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าฯกทม.ดูแล คือ 1. คณะกรรมการด้านการป้องกัน(Prevention) 2.คณะกรรมการด้านการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์(Preparation) 3.คณะกรรมการด้านการเผชิญเหตุ(Response) และ4.คณะกรรมการด้านการฟื้นฟู(Recovery)

          โดยคณะกรรมการฯระดับจังหวัดจะรายงานสถานการณ์ฉุกเฉินหรือระยะเร่งด่วน ผ่านผู้ว่าฯไปยังศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและบริหารสถานการณ์(ศอส.) โดยมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้อำนวยการศูนย์ แล้วจากนั้นศอส.จะรายงานต่อไปยังคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทุกภัยวาตภัยแลดินโคลนถล่ม(คอส.) ที่มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯและรมว.มหาดไทย เป็นประธานคอส. และจากนั้นคอส.จะรายงานต่อไปยังนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

          แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาที่เป็นมาตรการระยะกลางและระยะยาวนั้นเป็นรายงานจากระดับท้องถิ่นมายังนายกฯเช่นเดียวกัน ซึ่งตามแผนผังจะพบว่าคณะกรรมการ 2P2R ระดับจังหวัด จะต้องประสานผ่านผู้ว่าฯมายังคณะกรรมการ2P2R ชุดใหญ่ของรัฐบาลที่มีอีก 4 ชุด อีกทอดหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วย 1.อนุกรรมการด้านการป้องกันที่มีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 2.อนุกรรมการด้านการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน 3.อนุกรรมการด้านการเผิชญเหตุ ที่มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน และ4.อนุกรรมการด้านการฟื้นฟู ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน

          “คณะกรรมการ 2P2R ของรัฐบาลที่มีปลัดกระทรวงเป็นประธานต้องประสานกับศอส. และรายงานให้คอส. เพื่อรายงานถึงนายกฯอีกครั้ง”แหล่งข่าว กล่าว

          อย่างไรก็ในส่วนของอนุกรรมการด้านการฟื้นฟู หรือ R ตัวที่สองนั้น ต้องทำงานประสานกับคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนงาน/โครงการและงบประมาณ การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทุกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่ม ที่มีผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเป็นประธานอนุฯกลั่นกรอง ซึ่งอนุฯกลั่นกรองจะรายงานผลการกลั่นกรองการฟื้นฟูต่อไปยังคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ปัญหาอุทกภัย ดินโคลนถล่มและภัยแล้ง ที่มีนายกฯหรือรองนายกฯที่นายกฯมอบหมายเพื่อพิจารณาอีกครั้ง 

          “ดังนั้นจึงจะเห็นว่าตามนโยบาย2P2R นั้นกว่าเรื่องจากระดับท้องถิ่นจะรายงานถึงนายกรัฐมนตรีนั้นต้องผ่านคณะกรรมการและอนุกรรมการหลายขั้นตอนอย่างมาก” แหล่งข่าว กล่าว

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับผลการประชุมคณะกรรมการบอภ. ที่มีนายยงยุทธเป็นประธานในวันนี้นั้น รมว.วิทยาศาสตร์ฯได้เสนอ “แผนปฏิบัติการแก้วิกฤตน้ำท่วมใหญ่พ.ศ.2554” ด้วย โดยที่ประชุมบอภ.เห็นว่าสถานการณ์น้ำในตอนนี้ถึงจุดวิกฤตและเห็นควรมีมติกำหนดมาตรการบริหารจัดการเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขังเป็นการด่วน จึงรับทราบแผนปฏิบัติการแก้วิกฤติน้ำท่วมใหญ่ฯตามที่รมว.วิทยาศาสตร์ฯนำเสนอนายกรัฐมนตรีให้ทราบแล้ว

          สำหรับแผนปฏิบัติการฯจะแบ่งออกเป็น 2 มาตรการ คือ 1. มาตรการเร่งรัดการระบายน้ำลงสู่ทะเล เพื่อลดน้ำท่วมขัง มี 4 กลยุทธ์ ประกอบด้วย กลยุทธ์ที่ 1 แบ่งเขตเร่งส่งต่อน้ำ โดยแบ่งเขตการบริหารน้ำท่วมขังเป็น 5 เขต และให้มีการตั้งคณะกรรมการประสานงานแต่ละเขต โดยมีผู้ตรวจราชการสำนักนายกฯประจำเขตเป็นประธาน กลยุทธ์ที่ 2 เร่งระบายน้ำลงทะเล ให้มีการดำเนินการเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมลงสู่ทะเล โดยมอบให้กรมชลประทาน กองทัพบก กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กฟผ. การท่าเรือฯและหน่วยราชการที่มีเรือหรือเครื่องดันน้ำ ดันน้ำลงสู่ทะเล โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯเป็นผู้ประสานงาน  

          กลยุทธ์ที่ 3 ขุดลอกและเปิดทางน้ำ มีการกำหนดจุดที่เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯและกรมชลประทานสำรวจกำหนดจุดและมอบให้กรมชลประทาน หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กระทรวงคมนาคม กทม.ดำเนินการขุดลอกและเปิดเส้นทางน้ำเพื่อให้น้ำไหลลงสู่ทะเลด้วยความสะดวกและรวดเร็ว และกลยุทธ์ที่ 4 โครงการเรือประชาอาสาดันน้ำลงทะเล เชิญชวนภาคเอกชนร่วมกันใช้เรือดันน้ำลงสู่ทะเลในช่วงน้ำลง โดยรัฐบาลจะพิจารณาสนับสนุนเชื้อเพลิงให้

          ส่วนมาตรการที่ 2. ของแผนปฏิบัติการฯนั้น เพื่อให้สามารถช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย ได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ เห็นควรเสริมมาตรการอีก 3 กลยุทธ์ดังนี้

          กลยุทธ์ที่ 1 การสนธิกำลัง มอบหมายให้กองทัพจัดกำลังระดับกรมประจำจังหวัด ระดับกองพันประจำอำเภอ สนธิกำลังกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยราชการอื่น ตลอดจนองค์กรภาคประชาชน ช่วยเหลือราษฎร โดยให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการประจำพื้นที่นั้น ๆ เพื่อรับผิดชอบในการปฏิบัติการ

          กลยุทธ์ที่ 2 การใช้เครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ประสานภาคประชาคม องค์กรและมูลนิธิอื่น ๆ เพื่อรับทราบปัญหาในพื้นที่และกระชับการประสานงานระหว่างภาคราชการและภาคเอกชน

          กลยุทธ์ที่ 3 การรักษาพื้นที่สำคัญ ให้จังหวัดควบคุมและติดตามตรวจสอบคันดินที่ถูกสร้างขึ้นเป็นการชั่วคราว เพื่อรักษาที่อยู่อาศัยและพื้นที่สำคัญให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา และหากพบว่ามีการชำรุด เสียหาย ก็ให้จัดการซ่อมให้แล้วเสร็จโดยทันที

          นอกจากนั้นนายปลอดประสพยังเสนอข้อพิจารณาอีกว่า เพื่อให้การกำหนดมาตรการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเร่งด่วน ควรมอบให้นายยงยุทธในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมีคำสั่งให้คอส.ไปจัดทำรายละเอียดของแผนปฏิบัติการฯข้างต้นและดำเนินการสั่งการให้ทุกหน่วยงานนำไปปฏิบัติทันที โดยให้รายงานตรงกับนายกฯทุกวัน และที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการปัญหาอุทกภัยดินโคลนถล่มและภัยแล้งได้รับแผนปฏิบัติการฯที่นายปลอดประสพเสนอต่อนายกฯมาบรรจุไว้ในการประชุมวันนี้ด้วยเช่นกัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ