
แฉซอยนานาตลาดค้า'ไม้กฤษณา'
แฉมอดไม้กฤษณาเคยตัดที่ "เขาใหญ่" จนเหี้ยน ป้อนตลาดหลัก "ตะวันออกกลาง" สกัดทำ "น้ำหอม" ด้านโรงกลั่นอยู่ที่ปราจีนฯ-ระยอง ตลาดมืดอยู่ที่ซอยนานา เผยวิธีเร่งน้ำมันหอมระเหย ใช้วิธีเจาะเข้าแก่นกลาง-มีดสับ ทำกฤษณา"ยืนต้นตาย"
หลังจากทีมข่าว "คม ชัด ลึก" เปิดเผยกลุ่มขบวนการลักลอบตัดไม้กฤษณา หรือ "ไม้หอม" ในผืนป่าสิริกิติ์ โดยเฉพาะป่าบาลา-ฮาลา ในพื้นที่เขตรอยต่อ จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา โดยเป็นกลุ่มนายทุน และผู้ลักลอบตัดไม้ที่มาจากภาคอีสานนั้น
แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ที่ร่วมทำงานป้องกัน และปราบปรามการลักลอบตัดไม้กฤษณาในพื้นที่รายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า นอกจากการบุกรุกเข้าไปตัดต้นไม้ และถางพื้นที่เพื่อแบ่งขายทำสวนยางพาราในราคาแปลงละ 3-4 หมื่นบาทแล้ว ผืนป่าบาลา-ฮาลายังเป็นเป้าหมายสำคัญของขบวนการลักลอบตัดไม้กฤษณา โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่มาจากภาคอีสาน และภาคตะวันออก เช่น สระแก้ว, ปราจีนบุรี เป็นต้น
ตัดที่เขาใหญ่จนเหี้ยน-ล่าไม้หอมบาลา-ฮาลา
แหล่งข่าวคนเดิมให้ข้อมูลอีกว่า กลุ่มมอดไม้ดังกล่าวเป็นกลุ่มเดียวกับที่เคยลักลอบโค่นไม้กฤษณาในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จนไม้กฤษณาในป่าเขาใหญ่เหลือน้อยเต็มที ประกอบกับเจ้าหน้าที่ปราบปรามอย่างเข้มงวดจึงย้ายไปลักลอบตัดไม้กฤษณาในเขตเทือกเขาสันกาลาคีรี ซึ่งเป็นป่าอีกแห่งที่มีต้นกฤษณาขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อนำเนื้อไม้กฤษณาไปส่งให้แก่ผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันกฤษณา
"โรงกลั่นน้ำมันกฤษณามีอยู่หลายแห่งในพื้นที่ภาคตะวันออก เช่น จ.ปราจีนบุรี จ.ระยอง เป็นต้น โดยมีทั้งโรงงานที่ได้รับอนุญาต และโรงงานที่ไม่ได้รับอนุญาต โดยมักจะมีการอ้างว่ารับซื้อไม้กฤษณามาจากเกษตรกรที่ปลูก" แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว
แหล่งข่าวชุดทำงานป้องกันและปราบปรามขบวนการมอดไม้กฤษณาเผยอีกว่า ไม้กฤษณาที่นำมาป้อนโรงกลั่นส่วนหนึ่งนำเข้ามาจากประเทศลาว กัมพูชา และมาเลเซีย แต่บางแห่งที่มีการจับผู้ต้องหาที่ลักลอบตัดมาจากป่าเขาใหญ่ โดยจะรับซื้อในราคาที่สูง เช่น หากเป็นต้นที่มีอายุ 6-8 ปี เส้นผ่าศูนย์กลางราว 8 นิ้ว จะรับซื้อในราคาต้นละ 3,000-5,000 บาท หากเป็นแก่นดำที่มาจากต้นกฤษณาอายุ 75 ปีขึ้นไป จะมีราคากิโลกรัมละหลายหมื่นถึง 1 แสนบาท เพื่อนำไปสกัดเอาน้ำมันระเหย ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่มตะวันออกกลาง โดยมีตลาดมืดรับซื้อกันในซอยนานา หรือสุขุมวิท กรุงเทพฯ ในราคาโตล่าละ 3,000 บาท (1 โตล่า = 12 ซีซี)
ตอ.กลาง ตลาดหลัก กลั่นทำ"น้ำหอม"
แหล่งข่าวคนเดิมอธิบายสาเหตุที่แก่นกฤษณาเป็นที่ต้องการของกลุ่มตลาดในตะวันออกกลางมากกว่า เนื่องจากน้ำมันระเหยจากไม้กฤษณาเป็นที่นิยมของกลุ่มชาวอาหรับในการนำไปเป็นหัวเชื้อของน้ำหอมที่ปราศจากสารเคมี
นอกจากนี้ ยังนำไปใช้ในวงการเภสัชกรรม เนื่องจากมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ แก้โรคปวดตามข้อ แก้ลมวิงเวียนศีรษะ แก้คลื่นไส้ อาเจียน ขับลมในกระเพาะ รักษาอาการปวดแน่นหน้าอก หืดหอบ และเสริมสร้างสมรรถภาพของเพศชาย ส่วนตำรายาไทยบันทึกไว้ว่า กฤษณามีรสขมหอม สุขุม คุมธาตุ บำรุงโลหิตในหัวใจ (อาการหน้าเขียว) บำรุงตับ ปอด ให้เป็นปกติ แก้ลมวิงเวียน หน้ามืด แก้ลมซาง บำรุงหัวใจ ตำรับยาที่เข้ากฤษณาจึงมีมากมายหลายชนิด ตั้งแต่ตำรับยาที่ใช้สำหรับเด็ก สำหรับสตรี บุรุษ และคนแก่ โดยเฉพาะโรคลม เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ไม้กฤษณา หรือที่เกษตรกรผู้ปลูกไม้กฤษณาเรียกันว่า "ไม้หอม" ถือเป็นไม้เศรษฐกิจอีกตัวที่สร้างรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรกรใน จ.ปราจีนบุรี เช่น ในพื้นที่ อ.ประจันตคาม เป็นอย่างมาก โดยในระยะหลังมีการนำมาปลูกทดแทนไม้ยูคาลิปตัส ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกเป็นอย่างมาก ทั้งยังเป็นไม้ที่ดูแลรักษาง่าย อย่างไรก็ตาม แม้จะมีกลุ่มเกษตรกรจำนวนหนึ่งเริ่มทำการปลูก แต่ปริมาณของแก่นไม้กฤษณาที่นำมาใช้เป็นหัวน้ำหอม และเข้าตำรับยาต่างๆ ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในรูปอุตสาหกรรม
เจาะลำต้นเร่งน้ำมันหอม-กฤษณายืนต้นตาย
นอกจากนี้ ไม้กฤษณาที่มีอายุมาก และมีลำต้นขนาดใหญ่ ซึ่งมีปริมาณของแก่นกฤษณาเป็นจำนวนมากก็หาได้ยากมาก ดังนั้น กลุ่มขบวนการมอดไม้กฤษณาจึงต้องใช้วิธีลักลอบเข้าไปตัดไม้กฤษณาในป่าธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่ มีแก่นกฤษณามาก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเนื่องจากมีการเข้าไปลักลอบตัดกันมาก จึงมักจะเหลือเพียงต้นกฤษณาขนาดเล็กขนาดลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8 นิ้วขึ้นไป
แหล่งข่าวในวงการค้าไม้กฤษณาอธิบายว่า เนื่องจากต้นกฤษณาขนาดเล็กมักจะให้แก่นกฤษณาน้อย ดังนั้น จึงมีการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อบังคับ หรือเร่งให้ต้นกฤษณาสร้างน้ำมันหอมระเหยขึ้นมา โดยเมื่อเสาะหาจนพบต้นกฤษณาตามขนาดที่ต้องการ ก็จะมีการใช้วิธีการเจาะรู หรือตอกตะปูเข้าไปใจกลางไม้กฤษณาตลอดลำต้น โดยเว้นระยะทุกระยะ 30 ซม. หรือใช้มีดสับให้เกิดเป็นแผลรอบต้นให้เนื้อไม้เป็นแผลลึก10 ซม. เพื่อให้เกิดยางไม้ หรือ "ตกตะเคียน" เพื่อเอายางไปกลั่นเอาน้ำมันหอมระเหย แต่จะทำให้ต้นกฤษณาตายไปด้วย
แหล่งข่าวในวงการค้าไม้กฤษณาคนเดิม อธิบายเพิ่มเติมถึงกระบวนกลั่นเอาน้ำมันหอมระเหยด้วยว่า การต้มหรือสกัดเอาน้ำมันหอม 1 หม้อนั้น จะบรรจุชิ้นส่วนไม้หอมตกตะเคียนราว 7 กิโลกรัม ใช้เวลาต้มประมาณ 5-10 วัน ถึงจะได้น้ำมันหอม 7 ซีซี เพื่อบรรจุ 1 หลอดเรียกว่า 1 โตล่า มี 12 ซีซี จำหน่ายโตล่าละ 3,000 บาท เพื่อนำส่งตลาดตะวันออกกลางและยุโรป เพื่อเป็นหัวเชื้อน้ำหอม และทำตำรับยา