
ขออภัยโทษต้อง'จำคุก'ก่อนหรือไม่?
ขอรับพระราชทานอภัยโทษ ต้อง 'จำคุก' ก่อนหรือไม่? โดย 'สมลักษณ์ จัดกระบวนพล' อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา และอดีตกรรมการ ปปช.
ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา ๑ บัญญัติว่า “ศาลยุติธรรมตามพระธรรมนูญนี้มีสามชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น” และตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๒๓ วรรคท้าย ยังบัญญัติไว้ว่า “คดีที่ศาลฎีกาได้พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งแล้วคู่ความไม่มีสิทธิที่จะทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาคัดค้านคดีนั้นต่อไป”
หมายความว่าอำนาจตุลาการนั้นสิ้นสุดที่ศาลสูงสุดคือศาลฎีกา ส่วนผู้ต้องโทษรายใดประสงค์จะขอรับพระราชทานอภัยโทษก็ต้องไปดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ซึ่งเป็นเรื่องของพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ หาใช่เป็นเรื่องอำนาจตุลาการไม่
วัตถุประสงค์ในการพระราชทานอภัยโทษ
๑. เพื่อให้เกิดผลต่อความมั่นคงของชาติ เพราะการพระราชทานอภัยโทษก่อให้เกิดความรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในหมู่ผู้ต้องราชทัณฑ์
๒. การพระราชทานอภัยโทษจะสามารถแก้ไขความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรม เปิดโอกาสให้มีการทบทวนโต้แย้งแสดงความบริสุทธิ์
๓. เป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหารโดยเฉพาะกิจการราชทัณฑ์ที่จะนำการพระราชทานอภัยโทษมาเป็นสิ่งจูงในให้ผู้ต้องราชทัณฑ์ประพฤติปฏิบัติตนดี มีผลต่อการปกครองในเรือนจำ
๔. ช่วยลดจำนวนนักโทษ ผ่อนคลายความแออัดยัดเยียดในเรือนจำลงได้ เป็นการประหยัดงบประมาณในการเลี้ยงดูนักโทษ และการสร้างเรือนจำเพิ่มเติม
๕. ลดความเป็นปฏิปักษ์ต่อสังคมในความรู้สึกของนักโทษ ก่อให้เกิดความสำนึกในการทำความดีต่อไป เป็นการสนับสนุนนโยบายการแก้ไขผู้ต้องขังให้กลับตนเป็นพลเมืองดี ซึ่งสอดคล้องกับหลักอาชญาวิทยา และทัณฑวิทยา
๖. เพื่อประโยชน์ต่อสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ ในกรณีมีการร้องขอจากประมุขหรือผู้นำของต่างประเทศ เช่น พระมหากษัตริย์, ประธานาธิบดี, นายกรัฐมนตรี เป็นต้น
๗. ผ่อนคลายความเคร่งครัดของกฎหมายตามลายลักษณ์อักษร โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมและเหตุผลทางด้านมนุษยธรรม เช่น ความเจ็บป่วย มูลเหตุจูงใจให้กระทำผิด ความเยาว์วัย หรือเหตุผลในด้านอื่นๆ ตามแต่กรณี
(หนังสือที่ใช้อ้างอิง คู่มือพระราชทานอภัยโทษ)
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพระราชทานอภัยโทษเท่าที่ผู้เขียนตรวจสอบพบ ได้แก่
๑. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๙๑ ซึ่งบัญญัติว่า “ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ
๒. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค ๗ มาตรา ๒๕๙ กับ มาตรา ๒๖๗
๓. พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ มาตรา ๓๔
๔. กฎกระทรวงมหาดไทยออกตามความ ในมาตรา ๕๘ แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ ข้อ ๑๒๐ ถึง ๑๒๖
การพระราชทานอภัยโทษแบ่งเป็นประเภทดังนี้
๑. การพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคล หรือคณะบุคคล
๒. การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป
กรณีนี้จะขอกล่าวเฉพาะการพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งเป็นปัญหาที่ถกเถียงเรื่องผู้ที่ทูลเกล้าฯ ขอรับพระราชทานอภัยโทษจะต้องมารับโทษจำคุกเสียก่อน จึงจะมีสิทธิทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาหรือไม่ ซึ่งหลังจากได้ตรวจดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพระราชทานอภัยโทษ ๔ ฉบับ ข้างต้น
ขอสรุปความเห็นในเรื่องนี้ ในมุมมองของผู้เขียนคือ
๑. ไม่พบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพระราชทานอภัยโทษมาตราใดหรือข้อใด บัญญัติไว้ชัดเจน ว่า ผู้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอรับพระราชทานอภัยโทษต้องรับโทษโดยเฉพาะโทษจำคุกเสียก่อนจึงจะมีสิทธิทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา สำหรับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๖๐ บัญญัติว่า “ ผู้ถวายเรื่องราวซึ่งต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำ.........” หมายความแต่เพียงว่า ถ้าผู้ถวายเรื่องราวอยู่ในเรือนจำจะต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง เท่านั้น
๒. ตรวจพบในพระราชกฤษฎีกา รวม ๓ ฉบับ ได้แก่ พระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๔๙ พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.๒๕๕๐ และพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.๒๕๕๓ ซึ่งเป็นการออกพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป เนื่องในโอกาสสำคัญ ๆ เช่น ในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๙ ซึ่งมีพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ, พระราชกฤษฎีกา พ.ศ.๒๕๕๓ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ปีที่ ๖๐ วันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เป็นต้น
พระราชกฤษฎีกาทั้ง ๓ ฉบับ มีมาตรา ๔ บัญญัติไว้ชัดเจนว่า
“ผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ต้องมีตัวอยู่ในความควบคุมของ
ทางราชการ หรือถูกกักขังไว้ในสถานที่หรือที่อาศัยที่ศาลหรือทางราชการกำหนด ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับติดต่อกันไปจนถึงวันที่ศาลออกหมายสั่งปล่อยหรือลดโทษ หรือนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งปล่อยหรือลดโทษตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกานี้ เว้นแต่ผู้ทำงานบริการสังคม หรือทำงานสาธารณะประโยชน์แทนค่าปรับและผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ ”
ดังนั้นผู้ที่จะต้องถูกจำคุกเสียก่อนจึงได้รับการอภัยโทษ หมายถึงผู้ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปเท่านั้น ทั้งนี้เพราะบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ต้องขังตามคำพิพากษาอยู่ในเรือนจำอยู่แล้ว สำหรับการพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคล น่าจะต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา มาตรา ๒๖๕ วรรคหนึ่ง มาพิจารณาประกอบมุมมองของผู้เขียน กล่าวคือมาตรา ๒๖๕ วรรคแรก บัญญัติว่า
“ในกรณีที่มีการอภัยโทษเด็ดขาดโดยไม่มีเงื่อนไข ห้ามมิให้บังคับโทษนั้น ถ้าบังคับโทษไปบ้างแล้วให้หยุดทันที ถ้าเป็นโทษปรับที่ชำระแล้ว ให้คืนค่าปรับให้ทั้งหมด ...........”
กฎหมายมาตรานี้อาจตีความได้ว่า การอภัยโทษมีทั้งกรณีที่ยังไม่ได้บังคับโทษคือยังไม่มารับโทษจำคุก ถ้ามีการอภัยโทษก็ห้ามมิให้มีการบังคับโทษคือบังคับโทษจำคุก ส่วนกรณีที่รับโทษจำคุกมาบ้างก็หยุดบังคับโทษจำคุกทันที
๓. ส่วนที่มีผู้คนจำนวนหนึ่งอ้างว่า ไม่มารับโทษจำคุกเสียก่อนแสดงว่าไม่สำนึก ว่าเป็นผู้กระทำความผิดนั้นเป็นการอ้างลอย ๆ ไม่มีกฎหมายสนับสนุน นอกจากนั้นการดำเนินการเกี่ยวกับการขอพระราชทานอภัยโทษของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ยังล่าช้าโดยหาได้คำนึงถึงจิตใจของผู้ต้องขังที่ได้ดำเนินการขอพระราชทานอภัยโทษไปตามขั้นตอน และต้องมีชีวิตอย่างทุกข์ทรมานอยู่ในเรือนจำไม่ ผู้ต้องขังบางคนพ้นโทษมาแล้วหลายเดือนยังไม่ทราบว่า การขอพระราชทานอภัยโทษของเขาไปตกอยู่ในขั้นตอนใด หากการบริหารจัดการในเรื่องนี้ ล่าช้า และไม่คำนึงถึงจิตใจมนุษย์โดยทั่วไป ที่ว่าไม่มีมนุษย์คนใดประสงค์จะติดคุกแม้แต่เพียงวันเดียวหรือชั่วโมงเดียว ก็จะอ้างประเพณี โดยยกคดีอื่นเป็นตัวอย่าง ก็น่าจะอ้างลำบากเพราะข้อเท็จจริงแต่ละคดีย่อมต่างกันอยู่แล้ว
๔. ในกรณีที่ผู้ใช้สิทธิทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาไม่ใช่บุคคลตามที่กฎหมายบัญญัติ อันได้แก่ ผู้ต้องโทษที่คดีถึงที่สุดหรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เช่น บิดา มารดา บุตร คู่สมรส สถานทูต (ในกรณีที่เป็นนักโทษชาวต่างประเทศ) ก็ดี หรือเนื้อความในฎีกาขัดต่อพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๒๓ วรรคสอง ก็ดี หรือการยื่นไม่ถูกต้องกล่าวคือ มิได้ยื่นต่อรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ก็ดี ผู้มีหน้าที่พิจารณาก็ต้องแจ้งให้ผู้ดำเนินการขอรับพระราชทานอภัยโทษดำเนินการเสียให้ถูกต้อง และต้องกระทำโดยไม่ล่าช้า
แต่ทว่าผู้มีอำนาจหน้าที่บางคนไม่ทำหน้าที่ดังกล่าว แต่กลับไปตรวจความถูกต้องของผู้ยื่นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ซึ่งไม่มีสิทธิตามกฎหมายแล้วส่งกลับไปกลับมาให้เสียเวลาเกือบปี (ตามข่าวหนังสือพิมพ์) น่าจะเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง
หากมีกฎหมายบัญญัติในเรื่องนี้ไว้ชัดเจนและผู้เขียนตรวจไม่พบขอได้โปรดชี้แนะผู้เขียนด้วย
.............
(หมายเหตุ : ที่มา : ขอรับพระราชทานอภัยโทษ ต้อง 'จำคุก' ก่อนหรือไม่? โดย 'สมลักษณ์ จัดกระบวนพล' อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา และอดีตกรรมการ ปปช.) www.isranews.org/)