
'กรมชล-กฟผ.'ยันเขื่อนทั่วไทยแข็งแรง
ส.ส.อุตรดิตถ์โวยภาครัฐถอนกำลังเกลี้ยงจุดดินโคลนถล่มน้ำปาด อ่างเก็บน้ำแม่ตูบล้นสปริงเวย์แล้วหลังฝนถล่ม ด้านกำแพงเพชรแจ้งเตือนผู้ที่พักริมฝั่งแม่น้ำปิง ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญ"กรมชล-กฟผ."ยันเขื่อนทั่วปท.แข็งแรง ผวจ.2จังหวัดเปิดศึกผู้ว่าฯขอนแก่นขวางเขื่อนปล่อยน
3ต.ค.2554 นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ เขต 2 กล่าวถึงการให้การช่วยเหลือชาวบ้าน ต.น้ำไผ่ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ที่ถูกน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมาว่า ล่าสุดทราบว่าทางเจ้าหน้าที่ชุดค้นหาผู้สูญหายที่เหลืออีก 1 รายคือ ด.ช.ยิ่งศักดิ์ อินดีสี อายุ 5 ขวบ ได้ยุติการค้นหาไปแล้ว สิ่งที่สำคัญหน่วยงานราชการทุกหน่วยกว่า 10 หน่วยงาน ถูกถอนกำลังออกไปหมด รวมทั้งหน่วย ปภ.ด้วยทำให้เกิดปัญหาตามมาหลายอย่าง เนื่องจากการเคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวางทางน้ำไม่ได้รับการดำเนินการให้เรียบร้อย หวั่นหากเกิดฝนตกหนักกระแสน้ำป่าอาจจะสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทำให้ประชาชนที่อพยพในศูนย์ชั่วคราวอยู่กันอย่างหวาดผวา หน่วยงานที่เฝ้าระวังรักษาความปลอดภัยไม่มี ทำให้ชาวบ้านขาดความมั่นใจในชีวิตและทรัพย์สิน
สำหรับศูนย์อพยพที่หน่วยงานราชการจัดหาให้บ้านต้นขนุน หมู่ 3 มีความล่อแหลมและเป็นอันตรายอย่างมากหากมีน้ำป่าถล่มซ้ำ ชาวบ้านต้องกลับมาใช้โรงเรียนเป็นที่หลับนอนทำให้เป็นอุปสรรต่อการเรียนการสอนของโรงเรียน เต้นที่พักชั่วคราวช่วงฝนตกมีน้ำรั่วซึมตลอดชาวบ้านอยู่อย่างลำบาก พื้นที่เพาะปลูกนาข้าวเต็มไปด้วยหินยังไม่ได้รับการปรับปรุงเคลื่อนย้ายปัญหาราคาข้าวโพดตกต่ำก็ยังไม่มีนโยบายให้การช่วยเหลือ เพราะพื้นที่ ต.น้ำไผ่ปลูกข้าวโพดเป็ยรายได้หลัก ผู้ประสบภัยเกือบทุกรายสิ้นเนื้อประดาตัว ไม่เหลือทรัพย์สินอะไรเลย แต่มีผลผลิตข้าวโพดอยู่ในมือกำลังรอคอยให้รัฐยื่นมือเข้ามาช่วย
นายศรัณย์วุฒิ กล่าวว่าปัญหาทุกอย่างที่เอ่ยมาทั้งหมดหน่วยงานของรัฐกำลังทอดทิ้งเขาให้อยู่เดียวดาย เหตุเพราะช่วงนี้เป็นฤดูโยกย้ายหลายคนนิ่งไม่ทำงาน เฝ้าแต่รอดูผลการโยกย้ายของตนเองที่จะออกมาว่าไปอยู่ ณ ที่แห่งหนใด ไม่สนใจที่จะให้การช่วยเหลือชาวบ้านน้ำไผ่เลยแม้แต่หน่วยงานเดียว อยากฝากให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ช่วยพิจารณาบุคคลที่มีความตั้งใจในการทำงานเพื่อชาวบ้านจริง เพราะชาวบ้านเลือกพรรคเพื่อไทยและคาดหวังในเรื่องของการแก้ปัญหาให้กับพวกเขา แต่ถูกหน่วยงานราชการเพิกเฉยไม่เหลียวแล สมควรได้รับการลงโทษ ไม่ใช่สนับสนุนให้ได้ดิบได้ดี
อ่างเก็บน้ำแม่ตูบล้นสปริงเวย์แล้วหลังฝนถล่ม
นายคมกริช ตรีธัญญพงศ์ นายอำเภอดอยเต่า จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า หลังจากมีฝนตกลงมาอย่างหนักในพื้นที่ส่งผลให้ขณะนี้น้ำในอ่างเก็บน้ำแม่ตูบ ตั้งอยู่ ต.โป่งทุ่ง อ.ดอยเต่า ล้นสปริงเวย์ คาดว่าน้ำจะไหลทะลักเข้าท่วมในพื้นที่ ม. 3 และ 4 ของต.โป่งทุ่ง และไหลไปท่วมในพื้นที่บ้านไร่เป็นจุดต่อไป ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มประสบอุทกภัยน้ำท่วมเนื่องจากน้ำในลำห้วยแม่หาดได้เอ่อล้นตลิ่งจนไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร และไร่นา ในพื้นที่ ม. 2 และ ม.10 แต่น้ำได้ลดระดับลงแล้ว
ทั้งนี้ล่าสุดในพื้นที่ฝนหยุดตกและท้องฟ้าเริ่มเปิดมีแสงแดดออกแล้วเช่นกัน แต่ยังมีน้ำท่วมขังบางจุดโดยเฉพาะพื้นที่นา อย่างไรก็ตามอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ได้ประกาศแจ้งเตือนราษฎรในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากอ่างเก็บน้ำแม่ตูบให้เตรียมความพร้อมรับมือเป็นจุดต่อไป
รายงานข่าวเพิ่มเติมแจ้งว่า สำหรับอ่างเก็บน้ำแม่ตูบ มีปริมาณความจุเต็มอ่างที่ 39.00 ล้าน ลบ.ม. ที่ผ่านมาน้ำไหลเข้าอ่างไม่เคยเต็มความจุ ปริมาณน้ำสูงสุดเคยอยู่ที่ 66.50% ของความจุอ่าง
ประกาศระบายน้ำเขื่อนแม่งัดฯ2ช่อง
นายวินัย พงษ์จินดา ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า สำนักชลประทานที่ 1 ได้ออกประกาศสำนักชลประทานที่ 1 ฉบับที่ 20/2554 เรื่องการระบายน้ำผ่านอาคารระบายน้ำล้นของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล หลังจากที่สถานการณ์ระดับน้ำแม่น้ำปิงได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่น้ำในเขื่อนแม่งัดมีปริมาณ 285.48 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 107.73% ของความจุอ่าง โดยจะสามารถรับน้ำได้แค่ 7.52 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น
ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือที่คาดการณ์ว่าระหว่างวันที่ 6-7 ตุลาคม ภาคเหนือตอนบนอาจได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นนาลแก อาจทำให้เกิดฝนตกหนัก ซึ่งอาจทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนแม่งัดฯ มากเกินความจุกักเก็บ โดยอาจส่งผลกระทบให้เกิดภาวะน้ำไหลล้นอาคารระบายน้ำฉุกเฉินหรือสปิลเวย์ จึงได้กำหนดแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน เพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว
กำแพงเพชรแจ้งเตือนผู้ที่พักริมฝั่งแม่น้ำปิง
ที่ห้องประชุมทุ่งเศรษฐี นายวันชัย สุทิน ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ได้เชิญนายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ นายกเทศมนตรีเมืองกำแพงเพชร เข้าร่วมประชุมอย่างเร่งด่วน เนื่องจากได้รับแจ้งจากสำนักงานชลประทานจังหวัดกำแพงเพชร ว่า ขณะนี้ เขื่อนภูมิพลได้ปล่อยน้ำลงสู่แม่น้ำปิงวันละ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร และรวมถึงน้ำจากแม่น้ำวังที่มาจากจังหวัดลำปางที่ยังคงมีปริมาณสูง คาดว่าภายใน 5 วันนี้ น้ำอาจจะท่วมพื้นที่ของจังหวัดกำแพงเพชร ได้แก่ ตำบลโกสัมพี ตำบลเพชรชมพู ตำบลลานดอกไม้ตก อำเภอโกสัมพี ตำบลลานดอกไม้ ตำบลทรงธรรม ตำบลหนองปลิง ตำบลนครชุม ตำบลในเมือง ตำบลไตรตรึงษ์ ตำบลเทพนคร อำเภอเมืองกำแพงเพชร ตำบลท่าพรุทรา ตำบลวังบัว ตำบลคลองขลุง ตำบลท่ามะเขือ ตำบลแม่ลาด ตำบลวังยาง ตำบลวังแขม อำเภอคลองขลุง และ ตำบล เกาะตาล ตำบลยางสูง ตำบลแสนตอ ตำบลป่าพุทรา อำเภอขาณุวรลักษบุรี
เขื่อนกิ่วลมยืนยันปิดประตูระบายน้ำเขื่อนแล้ว
นายชัยประเสริฐ เนตรอนงค์ ผู้อำนวยการโครงการ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการฯได้ปิดประตูระบายน้ำของเขื่อนกิ่วลมแล้วตั้งแต่เวลา 09.00 น. วันนี้ ( 3 ต.ค.) เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับพื้นที่ตัวเมืองลำปาง หลังจากคืนที่ผ่านมาเกิดฝนตกหนักในพื้นที่จนน้ำป่าจากดอยพระบาทไหลทะลักเข้าท่วมตัวเมืองหลายจุด สำหรับระดับน้ำของเขื่อนกิ่วลมล่าสุดขณะนี้มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 54 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 51% ของความจุที่ 106.22 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งยังสามารถรองรับน้ำได้อีกมากเช่นกัน
ส่วนปริมาณน้ำในเขื่อนกิ่วคอหมาใกล้เต็มความจุอ่างที่ 100% โดยล่าสุดปริมาณอยู่ที่ 167.680 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 98.47% ของความจุอ่าง 170.288 ล้าน ลบ.ม. แต่ทั้งนี้ระดับเก็บกักสูงสุดของเขื่อนกิ่วคอหมา สามารถรับน้ำได้สูงสุดถึง 209 ล้าน.ลบ.ม. หรือ 120% จึงยังสามารถรองรับน้ำได้เพิ่มอีก 40 ล้าน ลบ.ม และขอยืนยันว่าเขื่อนกิ่วคอหมามีสภาพแข็งแรงมีการตรวจสอบทุกสัปดาห์ จึงขอให้ประชาชนอย่าเชื่อข่าวลือเรื่องเขื่อนแตก
นอกจากการปิดประตูระบายน้ำเขื่อนกิ่วลมลงสู่แม่น้ำวัง โครงการฯยังปิดประตูระบายน้ำเขื่อนกิ่วลมที่ระบายลงสู่เขื่อนกิ่วคอหมาด้วย แต่หากสถานการณ์น้ำท่วมในตัวเมืองลำปางเริ่มคลี่คลายเขื่อนกิ่วลมจะพิจารณาปล่อยน้ำในเขื่อนอีกครั้ง ซึ่งการปล่อยน้ำจากเขื่อนกิ่วลมจะใช้เวลาเดินทางถึงตัวเมือง 14 ชั่วโมง และถึงอ.เกาะคา 24 ชั่วโมง
ผู้เชี่ยวชาญ"กรมชล-กฟผ."ยันเขื่อนทั่วปท.แข็งแรง
นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านเขื่อนจากกรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) มาแถลงข่าวที่ศูนย์แถลงข่าว ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล โดยนายชูชาติ ฉุยกลม วิศวกรใหญ่กรมชลปประทาน กล่าวถึงการเก็บกักน้ำในเขื่อนว่า ที่เราพูดกันว่าเก็บกัก 100 % นั้นคือระดับเก็บกักที่มีการคำนวณไว้แล้ว แต่ที่เกินกว่านั้นคือน้ำจะสูงขึ้นแต่ว่าไม่ได้มีอันตรายกับตัวเขื่อน เขาเรียกว่าระดับน้ำสูงสุด และหลังจากระดับสูงสุดแล้วก็ยังมีระดับที่เราเผื่อไว้อีกถึงตัวเขื่อน บางแห่งอาจ 3 - 5 เมตร ฉะนั้นการที่น้ำเกิน 100 % ขึ้นไปหมายความว่าน้ำยังอยู่ในระดับน้ำสูงสุด ซึ่งเป็นการคำนวณเผื่อความแข็งแรงมั่นคงของเขื่อนทุกกรณีไว้แล้ว ส่วนระดับน้ำจะสูงมากน้อยเท่าไร หรือจนถึงระดับสูงสุดก็ขึ้นอยู่กับสภาพของแต่ละเขื่อน จะสังเกตุว่าบางเขื่อนน้ำมาเร็ว เราก็เผื่อไว้สูงหน่อย บางเขื่อนน้ำมาปกติเราก็เผื่อไว้ไม่มากนัก
“ดังนั้นที่สงสัยว่าน้ำ 100 % กว่าแล้ว เพราะสูงกว่าระดับเก็บกัก ขณะนี้มีการล้นผ่านสปริงเวย์แล้ว เมื่อล้นผ่านสปริงเวย์แล้วก็จะคำนวณไว้อีกว่าถึงระดับน้ำสูงสุดจะผ่านได้เท่าไร และจากระดับน้ำสูงสุดที่เกิดกรณีพายุก็จะมีระดับเผื่อเอาไว้อีกถึงระดับสันเขื่อนอีกก็อาจจะ 3 - 5 เมตร และเขื่อนขนาดใหญ่อาจจะถึง 8 เมตร ดังนั้นขอให้มั่นใจได้ว่าเขื่อนทั้งหมดมีการบริหารจัดการด้านของการเก็บกักน้ำ และความมั่นคงตลอดเวลา ” วิศวกรใหญ่กรมชลฯ กล่าว
จากนั้นนายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ กฟผ. กล่าวเสริมว่า ภาพใหญ่ของเขื่อนที่น้ำเต็มเขื่อนมี2แห่งคือเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งในส่วนของเขื่อนสิริกิติ์เหลือประมาณ 39 เมตร ก็จะเต็มเขื่อน ส่วนเขื่อนภูมิพลเหลืออีก 2.49 เมตร ทั้งนี้ในส่วนของการออกแบบเขื่อนสิริกิติ์ที่ระดับ100% ของความจุ เราวางไว้ที่ 1.62 เมตรของทะเลปานกลาง แต่ที่สันเขื่อนอยู่ที่ระดับ 1.69 เมตร เหนือระดับทะเลปานกลาง ส่วนระดับแกนดินเหนียวอยู่ที่ระดับ 1.66 เมตร ซึ่งหลักการของเขื่อนดินทั้งหลายเราจะให้น้ำเกินแกนดินเหนียวไม่ได้ ฉะนั้นเราก็จะสามารถเก็บน้ำเกิน100%ได้นิดหน่อย ที่อาจจะขึ้นได้ถึง1.62 ม. สำหรับเขื่อนภูมิพลเป็นเขื่อนคอนกรีตระดับสูงสุดอยู่ที่ 2.60 เมตร สันเขื่อนอยู่ที่ 2.62 เมตร และถ้า 100% ก็จำเป็นต้องพร่องน้ำ
" ที่ผ่านมาการตรวจสอบเขื่อนทุกปี โดยก่อนจะถึงฤดูน้ำหรือฤดูมรสุมก็จะตรวจสอบตลอดเวลา รวมทั้งฤดูที่น้ำลงมากๆก็จะมีเจ้าหน้าที่เดินตรวจสอบตลอด และยังมีเครื่องมือตรวจสอบความมั่นคงของตัวเขื่อน อาทิ ปริมาณน้ำที่ซึมผ่านตัวเขื่อน และแรงดันในตัวเขื่อน ซึ่งในทุกเขื่อนใหญ่จะมี แม้กรณีเหตุฉุกเฉินเช่นปีที่ผ่านมาที่เขื่อนป่าสักที่ปีนี้น้ำยังไม่สูงเท่าปีที่ผ่านมา ฉะนั้นความมั่นคงแข็งแรงก็อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ " นายกิตติ กล่าว
วิศวกรใหญ่ กล่าวต่อไปว่า นายกฯได้ให้กรมชลฯประสานกับกทม.ในเรื่องปริมาณน้ำที่ผ่านเจ้าพระยา บางไทร เพื่อให้กทม.บริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมให้ระมัดระวังป้องกันตลอด
ส่วนความกังวลในเขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา นายชูชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ความจุอยู่ที่ 90% หรือ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ระดับเก็บกักอยู่ที่ 110 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ระดับน้ำสูงสุดอยู่ที่ 242 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้นจะเห็นว่ามีระยะห่าง ที่ยังสามารถรับน้ำได้ถึงระดับสูงสุดอีกร้อยกว่าล้านลูกบาศก์เมตร
จากนั้นนายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ กฟผ. กล่าวเสริมว่า ภาพใหญ่ของเขื่อนที่น้ำเต็มเขื่อนมี 2 แห่ง คือ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ฉะนั้นเรื่องความมั่นคงปลอดภัยแข็งแรงของเขื่อนมีมาก เพราะในอดีตที่มาเขื่อนสิริกิติ์เคยเก็บน้ำเกิน 100 % ถึงสองครั้ง คือ ในปี พ.ศ. 2518 เกินไป 52 ซม. ปี พ.ศ. 2538 เกินไป 12 ซม. สำหรับเขื่อนภูมิพลที่เกิน 100 % ในปี 2518 เกินปี 14 ซม. ปีพ.ศ. 2545 เก็บเกิน 2 ซม. ดังนั้นนี่คือสิ่งที่ยืนยันว่าการบริหารจัดการเขื่อนใหญ่ที่ดูแลอย่างดี
ขณะที่นายวีรชัย ไชยสระแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายบำรุงรักษาโยธา กฟผ. กล่าวว่าเมื่อน้ำเต็มเขื่อนหรือระดับ 90 % ก็จะมีการตรวจสอบและมีวอร์รูมตรวจการรั่วซึ่ม จึงขอให้ประชาชนสบายใจเพราะมีการเฝ้าระวังและมีผู้เชี่ยวชาญประเมินสถานการณ์
เฒ่าลำปางถูกน้ำป่าพัดสูญหายขณะจูงจักรยานฝ่ากระแสน้ำ
นายไพฑูรย์ โพธิ์ทอง นายกเทศมนตรีเมืองเขลางค์นคร เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีน้ำป่าจากดอยผาลาด ดอยพระบาทและดอยม่วงคำ ไหลลงมาท่วมบ้านเรือนราษฎร ประชาชนได้รับผลกระทบ เกิดความเสียหายในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองเขลางค์นคร คณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการและพนักงานเทศบาลเมืองเขลางค์นคร ได้ออกตรวจสอบ ในพื้นที่เขตเทศบาล พบว่าน้ำป่าที่ไหลท่วมพื้นที่ในเขตตำบลกล้วยแพะ ได้พลัดร่างนายเหมือน ใจน้อย อายุ 65 ปี ราษฎรในชุมชนบ้านกล้วยแพะ ถูกน้ำจากลำห้วย แม่ปุงพัดหายไป หลังจากที่มีผู้พบเห็นว่านายเหมือน ได้พยายามประคองรถจักรยานข้ามถนนสายชุมชนบ้าน ประสบสุข- บ้านกล้วยกลาง แต่ต้านกระแสน้ำไม่ไหวจึงถูกน้ำพัดตกลงไปในลำห้วยแม่ปุง และยังไม่พ ตัว หากพบตัวสามารถแจ้งหน่วยกู้ภัยอมรินทร์ หมายเลข 1669 หรืองานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลเมืองเขลางค์นคร หมายเลขโทรศัพท์ 054 - 219199
ทั้งนี้ ทางเทศบาลได้นำข้าวกล่องและน้ำดื่มไปแจกให้กับผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่แล้ว ซึ่งในพื้นที่ภาพรวม ปริมาณน้ำเริ่มลดลงเกือบกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ส่วนพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอยู่ในเขตตำบลพระบาท ตำบลชมพู และตำบลกล้วยแพะกว่า 700 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องนุ่มห่ม เครื่องอุปโภคต่าง ๆ ที่ได้รับ ความเสียหาย ซึ่งจะได้สำรวจความเสียหายและให้มารช่ววยเหลือต่อไป
นอกจากนี้ จึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในเขตเทศบาลเมืองเขลางค์นคร และเขตพื้นที่ไกล้เคียงได้เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม และน้ำป่าไหลหลาก หากต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนสามารถติดต่อได้ที่งานป้องกันและบรรเทาสารณภัย 054-219199 สายตรงนายกฯ 081-9519125 และหน่วยกู้ภัยอัมรินทร์ 1669
สถานการณ์น้ำท่วมเขตศรีมหาโพธิปราจีนบุรียังน่าเป็นห่วง
รายงานข่าวจากจ.ปราจีนบุรี แจ้งว่า สถานการณ์น้ำท่วมในเขตพื้นที่เศรษฐกิจ ของ อ.ศรีมหาโพธิ ยังคงประสบปัญหาต่อเนื่องมาถึงสัปดาห์ที่สาม ทำให้การค้าต่างๆอยู่ในภาวะชักงัน ร้านค้าต่างๆ ปิดให้บริการ ขณะเดียวกันความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐเริ่มเข้าไปสู่พื้นที่บ้างแล้ว ในการนำเอาสิ่งของมามอบให้กับผู้ประสบภัย สำหรับสถานการณ์น้ำที่ยังคงกระจายอยู่ ใน 6 อำเภอ ของจังหวัด เนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำที่หลากมาจาก จากเขาใหญ่และแควพระปรง จ.สระแก้ว ที่ไหลลงมาทมทบอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในหลายพื้นที่ยังประสบปัญหา
เลยน้ำยังเอ่อหลายพื้นที่โรงเรียนปิดไม่มีกำหนด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พื้นที่ จ. เลยยังมีสถานการณ์น้ำท่วมจากฝนตกหนักถึงหนักมาก โดยเฉพาะที่ ต.ศรีสงคราม อ.วังสะพุงและ เขตเทศบาลตำบลวังสะพุง น้ำป่าจากเนินเขาบริเวณโรงเรียนศรีสงครามวิทยา ไหลบ่าเข้าท่วมถนนมะลิวรรณ ช่วงสี่แยกวังสะพุง ที่ถนนภูมิวิถีบริเวณหน้าศาลเจ้าน้ำสูง 40-70 ซม.และบริเวณอื่นๆ ถนน 5 สายรถยนต์ขนาดเล็กไม่สามารถวิ่งฝ่าสายน้ำผ่านไปได้ ทางราชการต้องจอดรถบรรทุกขวางและใช้แผงกั้นปิดการจราจรหลายจุด ผู้ใช้รถต้องวิ่งไปออกทางลัด ข้างสะพานแม่น้ำเลย ต้องเสียเวลาอ้อมกว่า 5 กม.การจราจรติดขัด เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.วังสะพุงและเจ้าหน้าที่แขวงการทางวังสะพุง ต้องระดม เจ้าหน้าที่ออกปฎิบัติเพื่อแก้ไขการจราจรและประกาศปิดโรงเรียนจำนวน 4 แห่ง ร้านค้านับร้อยร้านต้องปิดกิจการ สูบและวิดน้ำออกจากร้าน นอกจากนี้กระแสน้ำจากห้วยเบ้า บ้านป่าเป้า หมู่ 5 ต.ปากปวน อ.วังสะพุง ไหลเอ่อเข้าท่วมถนน ช่วงกม.ที่ 120 ถนนสายเลย-ขอนแก่น ด้านตะวันออกของถนน รถยนต์ต้องย้ายมาวิ่งทางฝั่งตะวันตกสวนทางกัน คนขับต้องใช้ความระมัดระวัง รถยนต์ไม่สามารถใช้ความเร็ว ทำให้การจราจร เดินทางไปได้ความเชื่องช้า
สำหรับพื้นที่ อ.เมืองเลย นั้นปรากฏว่าที่อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำหมานตอนบนที่ตั้งอยู่ ต.น้ำหมาน อ.เมือง จ.เลย ตอนบนของ อ.เมืองเลย ซึ่งมีความจุ 26 ล้านลูกบาก์ศเมตร แต่เช้าวันที่ 3 ต.ค.2554 ระดับน้ำล้นตลิ่งและสันอ่างจนล้นสตริงเวย์ไหลบ่าลงมาบังหมู่บ้านด้านล่างและล้นตลิ่งลำน้ำหมาน อันเป็นลำน้ำที่ไหลผ่านกลางเทศบาลเมืองเลย อย่างรวดเร็วจนท่วมถนนที่อยู่ใกล้ลำน้ำหมาน เช่น ร้านค้า บ้านเรือนราษฎร ท่วมถนนเจริญรัฐ ถนนนกแก้ว ถนนร่วมใจและสถลเชียงคาน สูง 20-40 ซม.เจ้าหน้าที่และมูลนิธิฯต้องปิดกั้นถนนและช่วยราษฎรในการกันอพยพขนย้ายสิ่งของไปสู่ที่ปลอดภัย การจราจรติดขัดยาวกว่า 2 กม. และโร.ร.อนุบาลเลย ร.ร.เทศบาล 3(ศรีสะอาด) ต้องสั่งปิดการเรียนตั้งแต่เที่ยงวันอย่างไม่มีกำหนดเปิด
นายพรศักดิ์ เจียรณัย ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย พร้อมด้วยส่วนราชการนำกำลังอาสาสมัครป้องกันภัยและอาสาสมัครมูลนิธิฯ รุดไปตรวจเยี่ยมประชาชนเป็นการด่วนเพื่อช่วยเหลือราษฎร พร้อมสั่งการส่วนราชการ องค์กรที่เกี่ยวข้อง ที่ได้รับความเดือนร้อน ต่างเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่อย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะร้านจำหน่ายปุ๋ย ร้านค้าต่าง ๆ ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากเนื่องจากขนหนีน้ำไม่ทัน หลังจากนั้นผู้ว่าฯจ.เลย ได้เดินทางไปยังบ้านน้ำภู ต.เมืองเลย อ.เมือง และ บ้านหัวฝาย ต.ชัยพฤกษ์ .อ.เมือง จ.เลย เพื่อตรวจเยี่ยมบ้านเรือนราษฎรที่โดยน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนกว่า 100 หลังคาเรือน โดยเฉพาะบริเวณทางแยกบ้านหัวฝายไปบ้านก้างปลา ได้รับความเสียหายอย่างหนัก เนื่องจากสภาพดินยังอุ้มน้ำอยู่เมื่อมีน้ำไหลมาเพิ่มก็ยิ่งทำให้น้ำท่วมเร็วขึ้น
สอบถามชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วม ต่างบอกว่า เนื่องจากมีการขุดลอกคลองน้ำบริเวณทางไปหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ลย.12 แล้วนำดินไปอุดทางน้ำไหล และไม่มีท่อระบายน้ำ ทำให้น้ำเปลี่ยนทิศทาง เข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยได้ มอบให้นายก อบต.ชัยพฤกษ์ เข้าแจ้งความเอาผิดกับเจ้าของที่ดินที่ขุดดินปิดทางน้ำไหล ถ้าหากไม่มีการแก้ไขเปิดทางน้ำพร้อมมอบให้หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรีบดำเนินการช่วยเหลือเป็นการด่วน เบื้องต้นให้ขุดถนนวางท่อระบายน้ำขนาดใหญ่เพื่อระบายน้ำให้เร็วขึ้น สำหรับน้ำที่ล้นสตริงเวย์ของอ่างเก็บน้ำนั้น จะไม่มีการปล่อยลงมาเด็ดขาดเพราะจะท่วมบ้านเรือนราษฎรหนักกว่านี้ เพียงแต่ปล่อยให้ไหลบ่าลงมาเท่านั้น หากฝนหยุดตกก็จะเข้าสู่สภาวะปกติเร็วขึ้น
นายคำพัน บุตรราช ผู้อำนวยการสถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดเลย กล่าวว่า ปริมาณฝนที่ทำการตรวจวัดเมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีฝนตกทั่วไปทุกอำเภอและมีตกหนักถึงหนักมากกระจาย วัดได้มากที่สุดในเกณฑ์หนักมาก คือ อ.เมืองเลย 111 .4 และ ที่ อ.วังสะพุง 111.5 มิลลิเมตร
ซึ่งได้แจ้งเตือนประชาชนให้เพิ่มความระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่งและดินโคลนถล่มในช่วงนี้ด้วยแล้ว
ผวจ.2จังหวัดเปิดศึกผู้ว่าฯขอนแก่นขวางเขื่อนปล่อยน้ำ
นายพิพัฒน์ คงศิลป์ทวีกุล หน.ฝ่ายเดินเครืองโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กฟผ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มีปริมาณน้ำเกินความจุเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าในช่วงวันนี้ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนจะลดลงเหลือ 78.78 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน ซึ่งจากเดิมในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมามีน้ำไหลเข้าอ่างสูงถึง 86.96 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน แต่ปริมาณน้ำในเขื่อนทั้งหมดยังเพิ่มสูงทุกวินาที
จากการตรวจวัดปริมาณน้ำล่าสุดพบว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ที่ 111% หรือคิดเป็นปริมาณน้ำในเขื่อนทั้งหมด 2,718.47 ล้าน ลบ.ม. แต่ในขณะที่ความจุของเขื่อนที่สามารถรับน้ำได้นั้นอยู่ที่ 2,431.30 ล้าน ลบ.ม. เกินความจุของเขื่อนที่รับน้ำได้กว่า 287.17 ล้าน ลบ.ม. แล้ว ถือว่าความวิกฤติหรือความเสี่ยงที่น้ำในเขื่อนจะล้นสันเขื่อนมีสูงมาก หากเขื่อนอุบลรัตน์ ไม่สามารถปล่อยน้ำเกินกว่า 34 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน หรือปล่อยน้ำออกจากเขื่อนเต็มพิกัดได้ ดังนั้นจากข้อมูลปริมาณน้ำในเขื่อนถือว่าเข้าขั้นวิกฤติสูงแล้ว โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กฟผ.) จึงต้องแจ้งไปยัง คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำท่วม จ.ขอนแก่น ให้มีการประชุมพิจารณาการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์อย่างเร่งด่วน ในวันที่ 3 ต.ค.54 เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ในการป้องกันไม่ให้เขื่อนแตก เขื่อนจำเป็นต้องขอระบายน้ำเพิ่มมากกว่า 34 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน จากที่เคยปล่อยในขณะนี้ เพราะแนวโน้มสถานการณ์น้ำที่เกินความจุของเขื่อนเพิ่มสูงต่อเนื่องเข้าขั้นอันตราย
ต่อมา เมื่อเวลา 13.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่สถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เกินความจุจนน่าเป็นห่วง หลายฝ่ายหวั่นเขื่อนรับน้ำไม่ไหวส่อเขื่อนแตกหรือชำรุดทำให้เกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ขึ้นจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ทางโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กฟผ.) และ จ.หนองบัวลำภู ผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีเขื่อนอุบลรัตน์ น้ำเกินความจุไม่สามารถปล่อยน้ำเต็มอัตราได้ เพราะติดกฎหรือมติของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำขวางไม่ให้ปล่อยน้ำ ได้ทำหนังสือร้องขอและแจ้งมายัง ผจว.ขอนแก่น เพื่อให้ขอให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ จ.ขอนแก่น หรือผู้ว่าฯ อนุมัติให้เขื่อนอุบลรัตน์ปล่อยน้ำ 40 ล้าน ลบ.ม.ขึ้นไป เพราะหวั่นเขื่อนแตก และประชาชนผู้ที่อยู่ท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ ฝั่ง จ.หนองบัวลำภู ขณะนี้ถูกน้ำท่วมวิกฤติหนักเกินกว่าจะรับน้ำไหวแล้ว
จากนั้นนายสมบัติ ตรีวัฒน์สุวรรณ ผวจ.ขอนแก่น จึงเรียกประชุมด่วนคณะกรรมการบริหารน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ว่าจะดำเนินการตามคำร้องขอหรือคำแจ้งมา ซึ่งในที่ประชุมบางส่วนเห็นว่าให้ กฟผ.ปล่อยน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ออกในปริมาณที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 34 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน เพื่อรักษาไม่ให้เขื่อนแตก และไม่ให้ประชาชนที่อยู่เหนือเขื่อน หรือฝั่ง จ.หนองบัวลำภู ถูกน้ำท่วมมากไปกว่านี้ หลังจากวิกฤติหนักน้ำท่วมสูงเกินกว่าจะรับน้ำไหว แต่บางส่วนยังคัดค้านให้เขื่อนปล่อยน้ำเท่าเดิมประชาชน จ.ขอนแก่น จะได้รับความเดือดร้อน เพราะขณะนี้ก็ได้รับผลกระทบมากแล้ว และจากมติ นายสมบัติ ตรีวัฒน์สุวรรณ ผวจ.ขอนแก่น ให้เหตุผลว่า ขอยืนตามเหตุผลของฝ่ายไม่ให้ปล่อยน้ำเกิน 34 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ถึงแม้ว่าทางผู้ว่าราชการ จ.หนองบัวลำภู จะทำหนังสือร้องขอให้ขอนแก่นปล่อยน้ำวัลละ 35-40 ล้าน ลบ.ม.ขึ้นไปก็ตาม
ส่วนพื้นที่ประสบอุทกภัย และสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.ขอนแก่น นั้น นายสมบัติ ผวจ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า หลังจากเกิดฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ขณะนี้ จ.ขอนแก่น มีพื้นที่ประสบภัยรวมทั้งหมด จำนวน 26 อำเภอ 193 ตำบล 2,083 หมู่บ้าน มีราษฎรประสบภัยน้ำท่วม 196,597 ครัวเรือน จำนวน 893,991 คน พื้นที่เกษตรกรที่คาดว่าเสียหายประมาณ 214,000 ไร่ มีบ่อปลา 1,332 บ่อ ถนนในหมู่บ้านและถนนเชื่อมหมู่บ้าน 1,272 แห่ง พื้นที่ที่วิกฤติน้ำท่วมรุนแรงในครั้งนี้ ได้แก่ อ.แวงใหญ่ อ.ชนบท และใน อ.เมืองขอนแก่น ซึ่งมีพื้นที่ ต.พระลับ ต.ศิลา ต.บึงเนียม และหลังจากเกิดอุทกภัยน้ำท่วมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จ.ขอนแก่น ได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเบื้องต้นมาโดยตลอด พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมขึ้นที่ศาลากลางจังหวัด และที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในจุดเสี่ยงภัยบริเวณริมน้ำชี น้ำพอง และน้ำเชิญ ให้มีการติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังน้ำในลำน้ำ 24 ซม. โดยมีมิสเตอร์เตือนภัยในพื้นที่แต่ละอำเภอเป็นผู้ประสานงาน และเตรียมการในเรื่องอพยพประชาชนที่ถูกน้ำท่วมไปสู่ในจุดที่ปลอดภัยทุกเมื่อ