
พระธาตุดอยตุง
พระธาตุดอยตุง : พันเรื่องถิ่นแผ่นดินไทย โดยศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ และคณะ
แต่เดิมผู้คนส่วนใหญ่ของ จ.เชียงราย เป็นชาวลัวะ หรือละว้า ซึ่งมีชื่อที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า “มิลักขุ” ทั้งนี้จากการที่มีปรากฏในตำนานของพระธาตุดอยตุงที่ว่า เมื่อปี พ.ศ.1454 พระเจ้าอชุตราช เจ้าผู้ครองเมืองโยนกนาคพันธุ์ หรือที่ ต.โยนก อ.แม่จัน ในปัจจุบัน ทรงเป็นผู้สร้างพระธาตุดอยตุงขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริธาตุ ส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้าย หรือกระดูกไหปลาร้าด้านซ้ายของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระมหากัสสปได้อัญเชิญจากอินเดียมามอบให้
เมื่อพระเจ้าอชุตราชทรงสร้างพระธาตุดอยตุงแล้วเสร็จ ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างธง หรือที่ชาวล้านนาเรียกว่า ตุง เพื่อน้อมถวายต่อองค์พระธาตุ ตำนานเล่าว่า ตุงนั้นยาวถึง 1,000 วาเลยทีเดีย และหากยาวไปถึงไหนก็ให้ถือว่า บริเวณของปลายธง หรือตุงนั้น คือฐานขององค์พระธาตุ ด้วยเหตุนี้องค์พระธาตุดังกล่าว จึงมีชื่อว่า “พระธาตุดอยตุง” นอกไปจากนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้ชาวลัวะ 500 ครอบครัว ที่มีลาวจกเป็นผู้นำ ซึ่งภายหลังเป็นต้นราชวงศ์ลวจังกราช เป็นผู้เฝ้าองค์พระธาตุ
ครั้นในรัชสมัยของพระเจ้ามังรายมหาราช เจ้าผู้ครองเมืองหิรัญนครเงินยาง (เชียงแสน) ลำดับที่ 28 แห่งแคว้นโยนกนาคนคร ภายหลังเมื่อทรงขึ้นครองราชย์ ในปีพ.ศ.1804 สืบต่อจากพระเจ้าลาวเม็ง ผู้เป็นพระราชบิดา แห่งราชวงศ์ลวจังกราชแล้ว ได้ทรงเสด็จมาสร้างเมือง “เชียงรอย” ขึ้นในปี พ.ศ.1805 อันเนื่องจากเสด็จตามหาช้างของพระองค์ ที่หนีมาจากเมืองเชียงแสน และได้ทรงพบรอยเท้าช้างบริเวณริมน้ำกกที่มีชัยภูมิดี จึงทรงสร้างเป็นเมืองขึ้น ซึ่งปัจจุบันนี้คือ จ.เชียงราย
ขณะที่พระเจ้ามังรายมหาราช ทรงสร้างเมือง “เชียงรอย” นั้น พระมหาวชิรโพธิเถระ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาถวายแด่พระองค์ เป็นจำนวนถึง 50 องค์ การนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระธาตุเพื่อประดิษฐานไว้ที่ด้านข้างพระธาตุดอยตุงองค์เดิม ที่สร้างมาแต่ครั้งพระเจ้าอชุตราช พระธาตุดอยตุงจึงมี 2 องค์ประดิษฐานเคียงคู่กันนับแต่นั้นมา ครั้นในปี พ.ศ.2470 องค์พระธาตุได้ทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา พระครูบาศรีวิชัย ได้ร่วมกับชาวเชียงรายทำการบูรณะขึ้นใหม่
ในปี พ.ศ.2516 กระทรวงมหาดไทย ได้ทำการบูรณะองค์พระธาตุดอยตุงขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยสร้างพระธาตุขึ้นใหม่ ครอบพระธาตุดอยตุงองค์เดิม ที่สร้างตามรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนา โดยพระครูบาศรีวิชัย และชาวเชียงรายเมื่อกว่า 80 ปีล่วงมาแล้ว ภายหลังกรมศิลปากรจึงได้บูรณะให้มีความงดงามตามสถาปัตยกรรมล้านนาดังเดิม ตามที่ชาวเชียงรายต้องการ โดยบูรณะแล้วเสร็จปี พ.ศ.2550 ซึ่งมีความงดงามตามภาพที่ได้นำมาแสดงในครั้งนี้ครับ
พรุ่งนี้ยังอยู่ที่เชียงราย ไปชม “วัดร่องขุ่น” ที่ศิลปินนาม อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ หนึ่งเดียวเป็นผู้สร้างครับ