
สำนักพระพุทธเล็งลงดาบพระเกษม
สำนักพระพุทธศาสนาเพชรบูรณ์นำคลิป "พระเกษม" เจ้าอาวาสสำนักสงฆ์ป่าสามแยก หารือเจ้าคณะจังหวัดเตรียมลงดาบ ชี้พฤติกรรมไม่เหมาะสม เผยปี 51 เคยมีคดีเหยียบฐาน-ตบหน้าพระพุทธชินราชจำลองมาแล้ว เจ้าตัวเผยอัพโหลดคลิปเอง ยืนยันไม่ผิดพระธรรมวินัย
ความคืบหน้ากรณีคลิปวิดีโอที่แพร่หลายในเว็บไซต์ยูทูบ ซึ่งปรากฏภาพของหลวงพ่อเกษม อาจิณณสีโล เจ้าอาวาสสำนักสงฆ์ป่าสามแยก ต.วังกวาง อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ ที่โรงจังหันเช้า โดยคลิปดังกล่าวอัพโหลด เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2554 ความยาว 24.10 นาที ในหัวข้อ "แบบนี้เรียกว่าอยากดังหรือเปล่า" ซึ่งตลอดคลิปดังกล่าวปรากฏภาพหลวงพ่อเกษม กล่าวคำหยาบคายและมีกิริยาไม่สุภาพ ยกขาวางบนโต๊ะ เตะของบนโต๊ะจนหล่น และถีบเก้าอี้กระเด็น จนกระทั่งผู้ได้ชมภาพคลิปดังกล่าวต่างแสดงความเห็นในเชิงไม่เห็นด้วย พร้อมเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ปัญหา
ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 กันยายน นายจรูญ นราคร รองอธิบดีกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดเพราะขณะนี้ติดราชการอยู่ จึงไม่สามารถแสดงความคิดเห็นอะไรได้ อย่างไรก็ตาม การดูแลพฤติกรรมพระสงฆ์นั้น เป็นหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) โดยตรง ทางกรมการศาสนาดูแลสนับสนุนเรื่องการเผยแผ่คำสอนของ 5 ศาสนา ได้แก่ พุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ ฮินดู ในเรื่องดังกล่าวขอให้ พศ.เป็นผู้ดูแลจะดีกว่า เพราะมีอำนาจพิจารณาโดยตรง
ด้านนายวิโรจน์ ไผ่ย้อย รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบทราบว่าพระสงฆ์ที่ปรากฏในคลิปวิดีโอทราบชื่อหลวงปู่เกษม อาจิณณสีโล หรือพระเกษม เจ้าอาวาสสำนักสงฆ์ป่าสามแยก ซึ่งเมื่อ พ.ศ.2551 ชาวบ้านใน จ.พิษณุโลกและเพชรบูรณ์ เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.น้ำหนาว ให้ดำเนินคดีกับพระเกษม เพราะลบหลู่และเหยียดหยามพระพุทธชินราชจำลอง โดยย่ำยีต่อพระพุทธรูป ด้วยการเหยียบฐานพระพุทธรูปและตบพระพักตร์พระพุทธชินราชจำลอง พระเกษมเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.น้ำหนาว เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2551 พร้อมให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ลบหลู่ศาสนา แต่ยอมรับว่ากระทำการดังกล่าวจริง
นายวิโรจน์กล่าวอีกว่า กรณีล่าสุดที่พบว่ามีคลิปวิดีโอเผยแพร่ทางเว็บไซต์โดยหลวงปู่เกษม แสดงออกอย่างไม่เหมาะสม ทั้งเตะ ถีบโต๊ะ เก้าอี้ ใช้วาจาไม่สุภาพ ไม่มีความสำรวมปรากฏขึ้นอีกครั้ง จึงได้เก็บรวบรวมภาพทั้งหมดเข้าปรึกษาหารือกับพระวิสุทธินายก เจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบภาพทั้งหมดว่าเข้าข่ายผิดวินัยสงฆ์หรือไม่อย่างไร
“จากการตรวจสอบคาดว่าวิดีโอถ่ายทำเมื่อไม่นานมากนี้ ภาพที่เห็นมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ท่ามกลางญาติโยม และแม่ชีที่กำลังทำบุญตักบาตร หลังจากนี้ต้องตรวจสอบว่าใครเป็นคนถ่ายและเผยแพร่วิดีโอนี้ พร้อมทั้งดูภาพอย่างละเอียดว่าการแสดงกิริยาที่ปรากฏมีความผิดหรือไม่อย่างไร เกิดจากความตั้งใจถ่ายทำหรือไม่ ส่วนการดำเนินการทางกฎหมายนั้น จะเข้าดำเนินการตรวจสอบที่ดินของวัดว่าตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนหรือไม่ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายต่อไป ที่ผ่านมาเคยเข้าไปพูดคุยด้วย แต่หลวงพ่อไม่ค่อยเปิดใจยอมรับ ไม่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลกับทางราชการ” นายวิโรจน์กล่าว
นายธนทัย คำกลาง วัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า เบื้องต้นต้องให้สำนักงานพระพุทธศาสนามีแนวทางชัดเจนในการดำเนินการเอาผิดก่อน ในส่วนของวัฒนธรรมจังหวัดนั้นจะคอยหนุนเสริมเพราะถือว่าภาพในคลิปวิดีโอสร้างความเสื่อมเสียให้แก่จังหวัดเป็นอย่างมาก ผู้ที่ชมเว็บไซต์ต่างแสดงความคิดเห็นถึงความไม่เหมาะสม ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นคงต้องรอผลการพิจารณาตรวจสอบ
ขณะที่พระเกษมเปิดเผยว่า เป็นผู้นำภาพคลิปวิดีโอดังกล่าวลงในเว็บไซต์ยูทูบด้วยตนเอง แต่ว่าสื่อกลับนำเสนอไม่หมด ขอยืนยันว่า ขณะนี้ได้มีลูกศิษย์ และผู้เลื่อมใส ที่เชื่อมั่นในพระไตรปิฎก ยอมปลดวัตถุมงคล พระดังทุกรุ่นที่ผู้นับถือนำมาฝังในพื้นที่วัด มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาทแล้ว แต่ไม่ขอเปิดเผยจุดที่ฝังวัตถุมงคล เพราะผิดวินัยสงฆ์ที่ต่อต้านมาโดยตลอด
"คลิปที่นำเสนอนั้น เป็นคลิปที่ต้องการตอบโต้ พระผู้ใหญ่รูปหนึ่งที่มาหาว่าอาตมาอยากดัง แล้วโอ้อวด และทำตัวแตกต่าง แต่อาตมาไม่ได้อยากดัง อาตมาทำทุกอย่างตามพระธรรมวินัยและพระไตรปิฎกได้เขียนเอาไว้ ไม่ได้ผิดเพี้ยน ใครคิดว่าอาตมาทำผิด อยากจะมาจับ ก็จับได้เลย ใครอยากจะมาแจ้งความดำเนินคดีกับอาตมาก็มาแจ้งได้เลย อาตมาขอบอกว่าสิ่งที่อาตมาทำนั้นไม่ได้ผิดพระธรรมวินัยแต่อย่างใด" พระเกษมกล่าว
ส่วนบรรยากาศของสำนักสงฆ์วัดสามแยกพบว่า บริเวณทางเข้าจะมีด่านกั้นไว้ ห้ามเข้าก่อนได้รับอนุญาต และต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนว่ามาสำนักสงฆ์ด้วยวัตถุประสงค์ใด หากไม่ชัดเจนก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปด้านใน นอกจากนี้ที่ปากทางเข้ายังมีข้อบัญญัติและข้อเขียนคำเตือนต่างๆ ไว้ เช่น ก่อนเข้าวัดให้ปิดโทรศัพท์มือถือ
เมื่อเข้าไปด้านใน ภายในศาลาหลังเก่าที่สร้างขึ้นในยุคของหลวงตามหาบัวยังเด่นสง่าด้วยเสาต้นใหญ่ มีการปรับปรุงปิดประตูทุกรอบด้านของศาลาทั้งชั้นบนและชั้นล่าง แต่ในศาลานั้นไม่มีพระพุทธรูปเหมือนกับวัดและสำนักสงฆ์ทั่วไป เพราะสำนักสงฆ์แห่งนี้มีการรณรงค์ผู้คนไม่เคารพและกราบไหว้พระพุทธรูป
สภาพสำนักสงฆ์แห่งนี้หลังจากมีการนำเสนอข่าวออกไป พระเกษมจะเข้าไปอาศัยอยู่ที่พักส่วนตัว หากมีญาติโยมมาพบ จะต้องผ่านคนดูแลคือ ฤาษี หรือนายสำลี นันธญาติ เป็นผู้ประสานงานสอบถามวัตถุประสงค์ หากมีเหตุอันสมควรก็จะไปแจ้งหลวงพ่อเกษม เพื่อขออนุญาตเข้าพบอีกครั้ง หากหลวงพ่อเกษมไม่อนุญาตก็ไม่ได้เข้าพบ
ด้านความรู้สึกของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงสำนักสงฆ์ นายกันตร์ธร เทียมแก้ว ชาวบ้านห้วยยางทอง อยู่บ้านเลขที่ 102 ต.วังกวาง อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า ติดตามข่าวเรื่องหลวงปู่เกษม มาพอสมควร ถึงการแสดงออก ส่วนตัวเห็นด้วยกับคำสอนของหลวงปู่ เพราะสอนตามพระไตรปิฎก สอนให้เรียนรู้เข้าใจคำสอนด้วยตัวเอง นอกจากนี้ยังเห็นว่าการแสดงกิริยาตามที่ปรากฏในคลิปวิดีโอนั้นเป็นเรื่องธรรมดา ไม่เห็นว่าผิดกฎของสงฆ์แต่อย่างใด
แหล่งข่าวในหมู่บ้านใกล้วัดรายหนึ่งกล่าวว่า คลิปวิดีโอที่เผยแพร่ออกไปนั้น ชาวบ้านหลายคนรู้สึกไม่สบายใจต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์ เห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม และเห็นว่าเป็นเรื่องซ้ำซาก เพราะครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 แล้วที่หลวงปู่เกษมมีข่าวออกไปในลักษณะนี้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นชาวบ้านก็ไม่กล้าเข้าไปก้าวก่าย ไม่อยากไปยุ่งเกี่ยว เพราะหากประพฤติไม่เหมาะสม สังคมหรือคนภายนอกก็จะเป็นผู้สะท้อนเอง ส่วนตัวเลิกทำบุญที่สำนักสงฆ์แห่งนี้ เพราะไม่ศรัทธา
สำหรับสำนักสงฆ์ป่าสามแยกนั้น เดิมใช้ชื่อว่าสำนักสงฆ์ห้วยผึ้ง ต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อวัดป่าสามแยก เพราะมีหมู่บ้านชื่อว่าสามแยกตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัด จึงเรียกสำนักสงฆ์ตามชื่อหมู่บ้าน
พระเกษม เริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ในคดีที่ผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดเพชรบูรณ์ เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.น้ำหนาว ระบุว่าเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2551 พระเกษมได้นำแผ่นป้ายข้อความว่า "ทองเหลืองหล่อนี้ ไม่ใช่พระพุทธเจ้าแน่ ไม่ต้องกราบมัน" ไปติดไว้ที่ฐานองค์พระพุทธชินราชจำลอง ซึ่งประดิษฐานอยู่บนศาลาในบริเวณที่พักสงฆ์ป่าสามแยก และเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 พระเกษม ใช้เท้าเหยียบฐานพระพุทธรูปจำลอง และใช้มือตบบริเวณพระพักตร์ของพระพุทธรูป อันนับเป็นการดูหมิ่นศาสนา
คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นยกฟ้องเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 โดยเชื่อว่าพระเกษมไม่มีเจตนากระทำแก่วัตถุอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาอันเป็นการเหยียดหยามศาสนา ต่อมาวันที่ 19 เมษายน 2553 อัยการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ยื่นอุทธรณ์คดีดังกล่าว
ทั้งนี้ จากการนำสืบในชั้นศาล พระเกษมให้การว่า ได้ศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกที่เผยแพร่ในประเทศไทยทั้ง 5 ฉบับโดยละเอียด พระไตรปิฎกทั้ง 5 ฉบับ ไม่มีฉบับใดบัญญัติว่าพระพุทธรูปเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า และระบุว่าในพระไตรปิฎกบัญญัติให้พระธรรมวินัยเท่านั้นที่เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า
สำหรับคำสอนของพระเกษมนั้น มีการเผยแพร่ทางเว็บไซต์ www.samyaek.com ซึ่งจะมีถ่ายทอดสดเรียกว่า สามแยก LIVE จากสำนักสงฆ์ป่าสามแยก ในบางวันด้วย นอกจากนี้คำสอนที่เผยแพร่ในเว็บไซต์เช่น พระพุทธรูปไม่ใช่วัตถุในพระพุทธศาสนา รู้เรื่องพระพุทธรูปตามความเป็นจริง แก้ข้อกล่าวหาสังคมด้วยคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งคำสอนต่างๆ จะยกเอาพระไตรปิฎกมาอธิบายประกอบด้วย