
'ประชา'ผ่าทางตันขออภัยโทษให้'แม้ว'
จับตา'ประชา พรหมนอก'ผ่าทางตันขออภัยโทษให้'ทักษิณ' : ขยายปม โดยปิยะนุช ทำนุเกษตรไชย และ สมถวิล เทพสวัสดิ์
"จากการตรวจสอบข้อมูลเรื่องการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ของสำนักกฎหมายและกรมราชทัณฑ์ พบกรณีตัวอย่างเทียบเคียงกับฎีกาของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ขอพระราชทานอภัยโทษให้ "พ.ต.ท.ทักษิณ" โดยพบว่าที่ผ่านมาผู้ต้องโทษหลบหนีโทษจำคุกแล้วให้ญาติทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษมีเพียง 1 ราย"
ประเด็นเรื่องการเตรียมทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาเป็นเรื่องที่เรียกความสนใจจากสังคมอีกครั้ง หลังจากเป็นข่าวใหญ่ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เนื่องจากมีประชาชนแสดงความจำนงลงลายมือชื่อ ในฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ "ทักษิณ"
ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ กระบวนพิจารณาตรวจสอบฎีกาเรื่องนี้อยู่ที่กรมราชทัณฑ์ และเตรียมเสนอเรื่องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อดำเนินการต่อ
เนื่องจากการขอพระราชทานอภัยโทษแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ การขอพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคล (เฉพาะราย) กับ การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป
ทั้งนี้ การขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ "ทักษิณ" เป็นการขอ "เฉพาะราย" ไม่ใช่ขอพระราชทานอภัยโทษ "เป็นการทั่วไป" ซึ่งมีความแตกต่างกัน
การพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคลนั้น เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 191 ซึ่งบัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ” และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 259-267
โดยมาตรา 259 กำหนดให้ผู้ต้องคำพิพากษาที่คดีถึงที่สุดหรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เช่น บิดา มารดา บุตร ธิดา ฯลฯ เป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระมหากษัตริย์
แต่จะดำเนินการได้ต่อเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว หรือในกรณีที่ไม่มีผู้ใดทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ถ้า "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม" เห็นเป็นการสมควรจะถวายคำแนะนำขอพระราชทานอภัยโทษให้ก็ได้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 261 วรรคสอง การขอพระราชทานอภัยโทษโดย รมว.ยุติธรรม นี้จะดำเนินการได้ต่อเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วเช่นเดียวกัน
ในการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 261 ให้ "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม" มีหน้าที่ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ พร้อมทั้งกราบบังคมทูลความเห็นว่าควร "พระราชทานอภัยโทษให้หรือไม่" เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้วจะมีพระบรมราชวินิจฉัยว่าสมควร พระราชทานอภัยโทษ ให้หรือไม่ประการใด
หากพระราชทานอภัยโทษให้อาจจะเป็นการพระราชทานอภัยโทษให้ทั้งหมด โดยให้ปล่อยตัวไป หรือพระราชทานอภัยโทษให้เป็นบางส่วน เช่น ลดโทษจากประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิต หรือลดโทษจากกำหนดระยะเวลาต้องโทษเดิมลง การพระราชทานอภัยโทษให้นี้จะมีพระบรมราชโองการพระราชทานอภัยโทษลงมาเป็นการเฉพาะ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ส่วนในรายที่ไม่พระราชทานอภัยโทษให้ จะมีหนังสือสำคัญแจ้งผลฎีกาโดยอ้างพระราชกระแสว่า ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้วมีพระราชกระแสให้ยกฎีกา หนังสือสำคัญดังกล่าวนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามแจ้งพระราชกระแส
การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป หมายถึง การพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษเด็ดขาดทุกคน ซึ่งอาจจะมีข้อยกเว้นความผิดในบางลักษณะที่เห็นว่าเป็นภัยต่อสังคมอย่างร้ายแรง การพระราชทานอภัยโทษประเภทนี้จะดำเนินการโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษตามการกราบบังคมทูลแนะนำของ "คณะรัฐมนตรี"
การที่คณะรัฐมนตรีจะกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้เป็นการทั่วไปนั้น จะต้องเป็นกรณีมีเหตุอันสมควร เช่น เกี่ยวเนื่องกับพระราชประเพณีที่สำคัญ หรือมีวาระสำคัญต่อเหตุการณ์บ้านเมืองหรือเหตุผลในทางราชทัณฑ์
ส่วนหลักเกณฑ์ที่นักโทษเด็ดขาดผู้ใดจะได้รับพระราชทานอภัยโทษเท่าใดอย่างไรนั้น จะกำหนดรายละเอียดไว้ในพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษที่ตราขึ้นในแต่ละครั้ง มีหลักเกณฑ์ใหญ่ๆ อยู่ 3 ประการ คือ 1.เกณฑ์ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป 2.เกณฑ์ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ และ 3.เกณฑ์ไม่ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ
จากการตรวจสอบข้อมูลเรื่องการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษของสำนักกฎหมายและกรมราชทัณฑ์ พบกรณีตัวอย่างเทียบเคียงกับฎีกาของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ขอพระราชทานอภัยโทษให้ "พ.ต.ท.ทักษิณ" พบว่าที่ผ่านมาผู้ต้องโทษหลบหนีโทษจำคุกแล้วให้ญาติทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ มีเพียง 1 ราย
รายที่ว่าเป็นคดีฉ้อโกง ถูกศาลสั่งจำคุก 2 ปี ผู้ต้องโทษหลบหนีระหว่างอุทธรณ์คดีแล้วไม่มาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คือ นายสุรินทร์ แสงขำ อดีตพระเอกดัง ช่อง 4 บางขุนพรหม ที่ต้องโทษคดีฉ้อโกงและความผิดตาม พ.ร.บ.การใช้เช็ค ศาลอาญาสั่งลงโทษจำคุก 2 ปี แต่ขอประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์และหลบหนีโทษจำคุกไปต่างประเทศ
ต่อมาญาติใกล้ชิดของผู้ต้องโทษได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ แต่สุดท้ายฎีกาตกไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ เพราะผู้ต้องโทษหลบหนี
สำหรับนักโทษชาวต่างชาติก็มีสิทธิขอพระราชทานอภัยโทษได้เช่นกัน โดยสามารถใช้สิทธิได้ทั้ง 2 รูปแบบ คือการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคล และการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป ซึ่งเป็นการพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษเด็ดขาดทุกคน เป็นการลดโทษแก่นักโทษเด็ดขาดตามเกณฑ์คุณสมบัติต่างๆ ไล่ลำดับตั้งแต่นักโทษชั้นดีเยี่ยม ชั้นเยี่ยมและชั้นดี อาจจะมีข้อยกเว้นความผิดในบางลักษณะที่เห็นว่าเป็นภัยต่อสังคมอย่างร้ายแรง เช่น คดีนักค้ายาเสพติดรายสำคัญ
ที่ผ่านมา นายแฮรี่ นิโคไล นักข่าวและคอลัมนิสต์ เขียนหนังสือชื่อ Verisimilitude ซึ่งมีข้อความเป็นการหมิ่นประมาทดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาต มาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งในวันที่ 19 มกราคม 2552 ศาลตัดสินจำคุกจำเลยเป็นเวลา 6 ปี จำเลยสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือ 3 ปี ต่อมา "นายแฮรี่" ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ และได้รับพระราชทานอภัยโทษในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552
แต่สำหรับกรณีของ "ทักษิณ" ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากมีประชาชนหลักล้านร่วมลงชื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ "พ.ต.ท.ทักษิณ" จึงไม่มีคดีเทียบเคียง
"พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก" รมว.ยุติธรรม จึงตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้โดยตรง โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์มาร่วมพิจารณาก่อนจะถวายความเห็นว่าควร "พระราชทานอภัยโทษให้หรือไม่"
จึงต้องจับตาดูว่า "พล.ต.อ.ประชา" จะใช้หลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ข้อใดมาพิจารณาประกอบก่อนการขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ "พ.ต.ท.ทักษิณ"