ข่าว

พญาพรหมโวหารกวีเอกล้านนา

พญาพรหมโวหารกวีเอกล้านนา

06 ก.ย. 2554

พญาพรหมโวหารกวีเอกล้านนา : พันเรื่องถิ่นแผ่นดินไทย โดย ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ และคณะ

           พญาพรหมโวหารถือกำเนิดที่จังหวัดลำปางในปี พ.ศ.2345 ตรงกับปีที่ 20 ของรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่ได้ปราบดาภิเษกทรงขึ้นครองราชย์ เป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี นับแต่ปี พ.ศ.2325 พญาพรหมมีนามเดิมว่า “พรหมมินทร์” เป็นบุตรของเจ้าแสงเมืองมา ที่สืบสายมาจากพระเจ้าทิพย์ช้าง ต้นราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ (เชื้อเจ็ดตน) ซึ่งทำหน้าที่ผู้คุมกุญแจพระคลังหลวง ของเจ้าผู้ครองนครลำปาง และมีมารดาชื่อ เจ้าแม่เป็ง

            ได้มีการบันทึกไว้ว่า พญาพรหมฯ ท่านเกิดที่วัดใต้ดำรงธรรม ในตัวเมืองลำปาง ต่อมาภายหลังได้บวชเณรเรียนทั้งคดีโลก และคดีธรรม ตลอดจนภาษาบาลี-สันสกฤต อักขระล้านนาที่วัดสิงห์ไชย ซึ่งอยู่ใกล้ห้าแยกหอนาฬิกาในปัจจุบัน โดยหันหน้าสู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำวัง ที่วัดนี้ได้ศึกษาและอุปสมบทเป็นพระภิกษุกับพระอุปนันโทเถระ เป็นเวลา 3 พรรษา จากนั้นได้ไปศึกษาต่อกับพระอาจารย์ปินตา วัดสุขมิ้น ที่เชียงใหม่อีก 3 พรรษาก่อนที่กลับมาลาสิกขาที่ลำปาง

            ภายหลังเมื่อลาสิกขาแล้ว พญาพรหมฯ ได้ประกอบอาชีพรับจ้างแต่งค่าว ซึ่งมีลักษณะเหมือนการแต่งเพลงยาว หรือจดหมายรักของหนุ่มสาว ที่ส่งให้กันเมื่อในอดีต และยังรับจ้างเขียนคำร้องที่ศาลาลูกขุนที่เค้าสนามหลวง หรือที่ว่าการของเมืองลำปางในสมัยนั้นด้วย ความที่พญาพรหมฯ เป็นผู้สนใจในการแต่งค่าว ซึ่งเป็นบทกวีที่ไพเราะของชาวล้านนา บิดาจึงได้นำไปถวายตัวอยู่งานเป็นมหาดเล็กของเจ้าผู้ครองนครลำปาง เพื่อจะได้ฝึกงานกับพญาโลมาวิสัย กวีเอกในสมัยนั้น

           โดยที่พญาโลมาวิสัย กวีเอกท่านนี้ มีตำแหน่งเป็นอาลักษณ์ประจำราชสำนัก ของเจ้าผู้ครองนครลำปาง ครั้งที่ได้แต่งค่าวหงส์หิน ถวายเจ้าผู้ครองนครลำปาง คราวนั้นพญาพรหมฯ ได้มีโอกาสอยู่ถวายงานแก้ไขชำระค่าวหงส์หินที่พญาโลมาวิสัยได้แต่งถวาย ให้มีความไพเราะมากยิ่งขึ้นด้วย และในครั้งนั้นได้เป็นที่พอพระทัยแก่เจ้าผู้ครองนครลำปางเป็นอันมาก จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง “พญาพรหมโวหาร” กวีเอกประจำราชสำนักลำปางนับแต่นั้นเป็นต้นมา

           นอกจากพญาพรหมฯ จะแต่งบทกวีภาษาล้านนาไว้เป็นจำนวนมากแล้ว ยังได้แต่งตำราต่างๆ ไว้เป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน อาทิ ตำราคชลักษณ์ ซึ่งเป็นตำราการดูลักษณะช้างสำคัญ ด้วยความเป็นผู้รู้ เจ้าหลวงวรญาณรังสี จึงได้พระราชทานเงินให้ไปซื้อช้าง แต่พญาพรหมฯ กับนำเงินนั้นไปเล่นการพนันจนหมดตัว จำต้องหนีราชภัยไปอยู่กับเจ้าเมืองแพร่ และได้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะคล้ายกัน จึงได้หนีราชภัยจากเมืองแพร่ไปอยู่ที่เมืองลับแลง (อุตรดิตถ์) และภายหลังได้หนีมารับราชการกับเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2404 ว่ากันว่า พญาพรหมฯ มีภรรยามากถึง 42 คน และมีอายุยืนยาวมาจนถึง 85 ปี โดยถึงแก่กรรมในปี พ.ศ.2430 ที่เมืองเชียงใหม่

           พรุ่งนี้เล่าเรื่องคนเชียงใหม่ที่ชื่อว่า “คุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทยกันต่อครับ