
'เพรียวพันธ์'เส้นทางปูด้วย'พรมแดง'
'เพรียวพันธ์'เส้นทางปูด้วย'พรมแดง' - วันที่รอคอยของ'ลูกอ๊อบ' ตามรอยพ่อ 'เสมอ ดามาพงศ์' - ย้อนรอยบิ๊กปทุมวัน : โต๊ะรายงานพิเศษ
แล้วก็เป็นไปตามความคาดหมาย เมื่อพล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ยื่นหนังสือยิมยอมลุกออกจากตำแหน่งโดยมีเก้าอี้ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (เลขาธิการ สมช.) รองรับ
หลังจาก พล.ต.อ.วิเชียรได้ออกมาให้สัมภาษณ์ด้วยน้ำเสียงอันสั่นเครือว่า ถูกการเมืองบีบและหากถูกโยกย้ายจริงก็ขอตำแหน่งที่เหมาะสม
สรุปสุดท้ายก็เป็นไปตามกระแสข่าวในครั้งแรกว่า มีการเจรจาขอปรับย้ายหากฝ่ายการเมืองต้องการให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รองผบ.ตร. อาวุโส อันดับ 1 มานั่งแทน
แรงสั่นสะเทือนบนเก้าอี้ผบ.ตร. กลับส่งผลกระทบไปถึง นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาฯ สมช.ที่ต้องเรียกว่า พลีชีพก่อนเพื่อนด้วยการสลับไปนั่งที่สำนักนายกรัฐมนตรี
ต้องบอกว่า การปรับเปลี่ยนตำแหน่งผบ.ตร. ในครั้งนี้ภือว่า เป็นการโยกย้ายข้าราชการในตำแหน่งใหญ่และสำคัญครั้งแรก หลังจากรัฐบาลนั่งบริหารราชการแผ่นดินมาไม่กี่วัน
หากย้อนกลับไปหลังจากเกิดการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 เส้นทางชีวิตของ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ก็ดูเหมือนแสงจะริบหรี่ในพริบตาเพราะเมื่อทหารยึดอำนาจก็ถูกสั่งย้ายไปนั่งประจำที่สำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ แต่มีความผิดในฐานะเป็นพี่ชายของคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ภรรยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกยึดอำนาจ จนสุดท้ายกลายเป็นผู้หนีคดีอาญา
กระทั่งปี 2551 พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ได้ย้ายกลับเข้ามาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อีกครั้งในตำแหน่ง รองผบ.ตร.ฝ่ายปราบปราม ดูแลปัญหายาเสพติด ในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ภายใต้พรรคพลังประชาชน และกลายเป็นรองผบ.ตร. อาวุโส อันดับ 1 ในเวลาต่อมา
จังหวะใกล้เคียงกันพล.ต.อ.วิเชียร ซึ่งถูกโยกจากนายตำรวจราชสำนัก หลังจากเกิดรัฐประหาร ก็ก้าวกระโดดเข้ามาประจำ สตช.และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ได้มีมติให้เข้ามาสู่ตำแหน่งหลักเป็น สบ.10 จนสุดท้ายได้รับการผลักดันจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดขององค์กรตำรวจ
ส่วนชีวิตราชการของพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ก็ถือว่าอยู่ในสายปราบปรามมาโดยตลอด เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญงานด้านยาเสพติด เป็นที่ยอมรับของนายตำรวจน้อยใหญ่ รวมถึงในต่างประเทศ
การขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดขององค์กรตำรวจในเร็ววันนี้ หลังจากที่ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล สตช. ออกมาการันตีถึงความสามารถที่เหมาะสมและเชื่อว่างานปราบปราม ปัญหาบ่อนการพนัน สถานบริการ รวมถึงยาเสพติด จะต้องลดน้อยลง
เส้นทางจากนี้ไปของพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ต้องบอกว่าท้าทายยิ่งนัก ส่วนหนึ่งเกิดจากแรงกดดันที่ผ่านมาทางการเมือง เพราะการปรับย้ายพล.ต.อ.วิเชียร ออกไปย่อมจะต้องพิสูจน์ถึงผลงานว่า เหนือกว่า ดีกว่าทางด้านไหน
แต่พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ต้องถือว่า เป็นว่าที่ผบ.ตร. ที่ไม่ธรรมดา พิเศษกว่าคนอื่น เพราะนอกจากความสามารถและบุคลิกส่วนตัวที่นายตำรวจน้อยใหญ่ยยอมรับได้แล้ว อีกสถานะหนึ่งยังเป็นพี่ชายของคุณหญิงพจมาน ซึ่งทรงอำนาจต่อพรรคเพื่อไทยและบรรดาคณะรัฐมนตรี เกือบทั้งหมด
ทำให้การจัดวางตำแหน่งระดับผู้บัญชาการถึงผู้บังคับการ และหน่วยปฏิบัติในตำแหน่งผู้กำกับ โรงพักที่จะมาเป็นมือเป็นไม้ย่อมคล่องตัวกว่าผบ.ตร.ในทุกยุคที่ผ่านมา
เมื่อมีคนทำงานที่เข้าขา จัดเองได้ในตำแหน่งที่เหมาะสมเชื่อว่า งานของสตช.คงเดินหน้าไปได้
ที่สำคัญคือ การแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง การระแวดระแวงหลังในตำแหน่งนี้จะหายไป เดินหน้าทำงานได้เต็มตัวโดยไม่ต้องกลัวว่า ใครจะมาเลื่อยขาเก้าอี้ เพราะอย่างน้อยนักการเมืองหรือใครก็ตามคิดจะทำอะไรหรืองานปราบปรามอาชญากรรมที่ไปติดขัดว่ามีนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง ก็คงเดินหน้าไปได้อย่างเข้มข้นจากอิทธิพลของน้องสาว
มีการมองข้ามกันไปถึงอนาคตว่า หากพรรคเพื่อไทยภายใต้การนำของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สามารถดำรงอยู่ด้วยคะแนนนิยมจากประชาชนแล้ว เมื่อถึงปี 2555 ที่พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ เกษียณอายุราชการ เส้นทางของนายตำรวจผู้นี้ ย่อมมีโอกาสก้าวขึ้นไปในตำแหน่งทางการเมืองที่ใหญ่กว่าอย่างรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงหรืออาจกำกับดูแล สตช.ในอนาคต
ถึงตอนนั้นหากพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ทนเสียงเรียกร้องจากผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ได้ กลิ่นเย้ายวนทางการเมืองไปเตะจมูก เส้นทางเดินของนายตำรวจคนนี้ ย่อมถูกปูด้วยพรม "สีแดง" อย่างแน่นอน
อยู่ที่ว่าเจ้าตัวต้องการด้วยหรือไม่เท่านั้น !!
วันที่รอคอยของ"ลูกอ๊อบ"ตามรอยพ่อ "เสมอ ดามาพงศ์"
ถ้าไม่มีอะไรพลิกผันในปี 2549 วงการสีกากีต่างคาดหมายว่า พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง ผบ.ตร. ในเดือนกันยายน 2550
แต่การเมืองเรื่องไม่แน่นอน จึงทำให้ "อ๊อบ" หรือ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ต้องรอเวลามา 4 ปี จึงได้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สมตามความมุ่งมาดปรารถนาของบิดา- พล.ต.ท.เสมอ ดามาพงศ์ อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ
ในยุทธจักรโล่เงินเมื่ออดีต พล.ต.ท.เสมอ ดามาพงศ์ ถือว่าเป็นนายตำรวจมีผลงานการปราบปรามและการสืบสวนที่โดดเด่นหนึ่ง
สำหรับประวัติ พล.ต.อ.เสมอนั้น ได้เลือดตำรวจมาจากบิดา คือ ร.ต.อ.จำปา ดามาพงศ์ เมื่อเรียนจบหลักสูตรเตรียมทหารบกปีที่ 2 เสมอ ในฐานะสายเลือดตำรวจ จึงได้เลือกเรียนหลักสูตรนายร้อยทหารบกสายตำรวจ
ปลายปี 2488 เสมอเรียนจบหลักสูตรนายร้อยทหารบกสายตำรวจ ติดยศร้อยตำรวจตรี และสมรสกับ พจนีย์ ณ ป้อมเพชร มีบุตร ธิดา คือพงศ์เพชร ดามาพงศ์ พล.ต.ท.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พล.ต.ต.นพ.พีระพงศ์ ดามาพงศ์ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร และบรรณพจน์ ดามาพงศ์ (บุตรบุญธรรม)
ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ พล.ต.ท.เสมอ ดามาพงศ์ "ลูกอ๊อบ" ได้เขียนคำไว้อาลัยถึงบิดาว่า
พ่อ...
ข้าพเจ้ามีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้ดำเนินรอยตามพ่อของข้าพเจ้า พล.ต.ท.เสมอ ดามาพงศ์ พ่อมีวิญญาณและเลือดเนื้อเชื้อไขเป็นตำรวจอาชีพอย่างแท้จริง พ่อรักอาชีพผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญและอดทน เห็นประโยชน์สูงสุดของประชาชนและหน้าที่การงานเหนือความสุขส่วนตัว
ตั้งแต่ข้าพเจ้าจำความได้ ก็เห็นพ่อทำงานหนัก พ่อไม่เคยย่อท้อแม้บางครั้งจะพบอุปสรรค พ่อรักตำรวจเป็นอย่างยิ่ง
ทุกครั้งที่มีคดีเกิดขึ้นในเขตความรับผิดชอบของพ่อ หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชาได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากการจับกุมคนร้าย พ่อจะต้องพยายามสืบสวนติดตามจับกุมคนร้ายให้ได้ พ่อสอนข้าพเจ้าเสมอให้อ่อนน้อมถ่อมตน อย่าดูถูก และอย่ารังแกผู้อื่น
พ่อภาคภูมิใจอย่างสูงสุดที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เป็นราชองครักษ์พิเศษของกรมมหาดเล็กรักษาพระองค์ และได้มีโอกาสถวายอารักขาองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถตลอดชีวิตรับราชการ พ่อบอกว่าสมใจ เมื่อข้าพเจ้าและน้องชายได้เจริญรอยตามพ่อ และน้องสาวข้าพเจ้าได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 'จตุตถจุลจอมเกล้า' เป็นคุณหญิง ตามที่พ่อปรารถนา
พ่อเป็นผู้มองการณ์ไกล ฉลาด และรอบคอบ พ่อรู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร คนไหนดีหรือไม่ดี พ่อวางรากฐานให้ลูก เมื่อปฏิบัติตามพ่อแล้วไม่มีพลาด ข้าพเจ้าจำได้ไม่มีวันลืม และรู้ว่าสิ่งใดที่พ่อต้องการพ่อชอบจะปฏิบัติตามและเชื่อฟังพ่อตลอดไป
รักและคิดถึงพ่อเสมอ
อ๊อบ
วันนี้บนถนนสายตำรวจ พล.ต.ท.เพรียวพันธ์ เดินทางตามรอยบิดามาจนใกล้ถึงฝั่งฝันแล้วคือตำแหน่ง "ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ"
แต่กว่าจะถึงจุดนี้ได้ 'นายพลอ๊อบ' ได้พิสูจน์ตัวเองตั้งแต่ในสถาบันการศึกษา และองค์กรตำรวจ ให้ผู้คนได้ประจักษ์แล้วในผลงาน
ปี 2527 ขึ้นเป็น รอง ผกก.2 ป. ใช้เวลาเพียง 3 ปี ก็ติดยศ 'พ.ต.อ.' เป็น ผกก.ประจำ กอ.รมน. ก่อนจะไปเป็น ผกก.ประจำ ป. ในปี 2535 เป็น รอง ผบก.ทท. และรอง ผบก.ป. ในปีเดียวกัน
ปี 2537 ได้รับการติดยศเป็น 'นายพล' ที่ บช.ศ. และอยู่ได้เพียงปีเดียวก็ย้ายไปเป็น ผบก.สตม. ต่อมาอีก 2 ปีขยับขึ้นเป็นผู้ช่วย ผบช.ก. ในปี 2541 เป็น รองผบช.ก.นั่งเก้าอี้ได้เพียง 2 ปี ก็ได้ติดยศ พล.ต.ท. ในตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ผบช.ปส.)
ในตำแหน่ง ผบช.ปส. นี่แหละที่ทำให้คนไทยได้รู้จักชื่อ 'เพรียวพันธ์' ในบทบาทมือปราบยาบ้า ที่สร้างผลงานอันลือลั่นไว้หลายคดี
คนสีกากียอมรับว่าเขาเป็นนายตำรวจสายบู๊คนหนึ่ง และเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิปรมาจารย์สืบสวนสอบสวน คือ พล.ต.อ.ประยูร โกมารกุล ณ นคร อดีตกรมวังผู้ใหญ่ และ พล.ต.ท.ธนู หอมหวล อดีต ผบช.ก.
แต่หากมองย้อนกลับไปที่ตัวบิดา 'บิ๊กอ๊อบ' ก็ต้องถือว่าเขาถอดแบบ 'มือปราบ' มาจาก พล.ต.ท.เสมอ อย่างมิต้องกังขา
เส้นทางของ 'บิ๊กอ๊อบ' ผ่านทั้งนครบาล กองปราบปราม ท่องเที่ยว ตรวจคนเข้าเมือง สอบสวนกลาง และปราบปรามยาเสพติด หากวันข้างหน้า เขาจะก้าวขึ้นเป็น ผบ.ตร. ก็น่าจะมาจากประสบการณ์และความสามารถที่ฝากไว้ในยุทธจักรโล่เงิน
อย่างไรก็ดี มิอาจปฏิเสธคำครหาที่ว่า ตำแหน่ง ผบ.ตร. ได้มาเพราะบารมีลูกสาวคนสุดท้องของ พล.ต.ท.เสมอ ที่ชื่อคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร !!
ย้อนรอยบิ๊กปทุมวัน
หากย้อนเวลากลับไปตั้งแต่ก่อตั้งองค์กรตำรวจมา ผู้นำสีกากีในตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ (อ.ตร.) และตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้ถูกเปลี่ยนตัวคนแล้วคนเล่า โดยเฉพาะเมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้ว
เริ่มจาก พล.ต.อ.ศรีสุข มหินทรเทพ อ.ตร. พ.ศ.2518- 2518 ถูกนายสมัคร สุนทรเวช รมว.มหาดไทย ขณะนั้น ย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง
พล.ต.อ.แสวง ธีระสวัสดิ์ อ.ตร. พ.ศ.2532-2534 ถูกพล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร รมว.มหาดไทย ออกคำสั่งเด้งไปช่วยราชการ ก่อนที่ พล.ต.อ.แสวง จะยื่นหนังสือลาออกในไม่กี่วันถัดมา
พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อ.ตร. พ.ศ.2534-2536 ถูกพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รมว.มหาดไทย เด้งเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง ในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี
พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา คู่เขยผู้พี่ของ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ถูกนายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ย้ายไปช่วยราชการสำนักนายกฯ ในปี 2539
พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อ.ตร.คนสุดท้าย และผบ.ตร.คนแรก ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ก็กดดันจนต้องลาออกจากตำแหน่ง ผบ.ตร.
พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ผบ.ตร. ถูกย้ายกลางอากาศ ขณะอยู่บนเครื่องบิน และกำลังเดินทางกลับจากประเทศออสเตรเลีย โดยถูกพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี สั่งให้ไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2547 ในสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร. ในปี 2547 ถูก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้ไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผบ.ตร. พ.ศ.2551 อยู่ในตำแหน่งได้เพียงปีเศษ ก็ถูกนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ขณะนั้น สั่งย้ายไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง และสั่งปลดออกจากตำแหน่งในที่สุด
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. พ.ศ.2551 ถูก ป.ป.ช.สั่งลงโทษ และฟันผิดวินัยร้ายแรง กรณีการสลายกลุ่มผู้ชุมนุมที่หน้ารัฐสภา และถูกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ลงนามให้พ้นจากตำแหน่ง ผบ.ตร.
จากนั้นได้แต่งตั้ง พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ มารั้งตำแหน่งรักษาราชการแทน ผบ.ตร. แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถเข้ามานั่งเก้าอี้ ผบ.ตร.ตัวจริงได้ ในที่สุด พล.ต.อ.ปทีป ก็ต้องเกษียณอายุราชการในตำแหน่งรักษาราชการแทน ผบ.ตร.
และคนล่าสุด พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ก็กำลังจะถูกย้ายให้ไปนั่งในตำแหน่งเลขาธิการ สมช. เช่นกัน