ข่าว

'หมูย่างเมืองตรัง'...ในภาวะไร้ทางเลือก

'หมูย่างเมืองตรัง'...ในภาวะไร้ทางเลือก

03 ก.ย. 2554

ตรัง เลื่องเรื่องอาหาร โดยเฉพาะ 'หมูย่าง'รสเด็ด

         ของดีอันเลื่องชื่อของ จ.ตรัง นอกจากเค้กแล้ว อีกหนึ่งสินค้าที่โด่งดังโดดเด่นจนเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น ที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง นั่นคือ "หมูย่างเมืองตรัง" เนื่องจากย่างได้อร่อย พิถีพิถัน รสหวานนำ และเนื้อนุ่มหนังกรอบ อีกทั้งหมูย่างสำหรับ จ.ตรังแล้ว นี่ไม่ใช่อาหารเพียงเพื่อการบริโภคเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่มีความผูกพันกับประชาชนในจังหวัดมายาวนาน เพราะจะใช้หมูย่างในเหตุการณ์สำคัญทุกโอกาส นอกจากนั้น ความเชื่อที่ถูกปลูกฝังก็คือหากกินหมูย่างตอนเช้าจะทำให้การงานวันนั้นสำเร็จลุล่วงอย่างง่ายดาย กลายเป็นเรื่องหมูๆ

         ตลอดเวลากว่า 100 ปี ประชาชนใน จ.ตรัง ได้สืบทอดการทำหมูย่าง คือการดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และรสชาติที่อร่อย และล่าสุด "หมูย่างเมืองตรัง" ก็ได้รับการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว ที่สำคัญได้กลายเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตที่สามารถนำเสนอให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติได้เรียนรู้ จนเป็นที่มาของเทศกาลที่จัดขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งก็คือ "เทศกาลหมูย่างเมืองตรัง"
 อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้คือ "หมูย่างเมืองตรัง" กำลังจะแปรเปลี่ยนไป เมื่อราคาหมูเป็น (สุกรมีชีวิต) ทั่วประเทศขยับตัวสูงขึ้นตลอด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ที่มีข้อจำกัดด้วยระยะทางที่ไกลมากกว่าภาคอื่นๆ ทำให้ต้นทุนการผลิตหมูย่างปรับสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว แม้ที่ผ่านมาผู้ประกอบการพยายามจะปรับกระบวนการในรูปแบบต่างๆ แล้ว แต่ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ก็คือ การที่จะต้องขึ้นราคาสินค้า ท่ามกลางความเสี่ยงต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับยอดการบริโภคของลูกค้า

         จนถึงขณะนี้ต้นทุนในการผลิตหมูย่างขยับตัวสูงขึ้นถึง 40% โดยเฉพาะวัตถุดิบสำคัญๆ เช่น น้ำตาล เกลือ ไม้ฟืน ทำให้ปลายทางหรือผู้จำหน่ายต้องปรับขึ้นราคา และนี่คือผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อธุรกิจจำหน่ายหมูย่างเป็นอย่างยิ่ง

         "ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การซื้อขาย "หมูย่างเมืองตรัง" ประสบปัญหามาจากต้นทุน โดยเฉพาะหมูเป็นที่มีราคาสูงขึ้นมาก จากเดิมปี 2553 อยู่ที่กิโลกรัมละ 65-70 บาท แต่ในปีนี้วัตถุดิบในการผลิตหมูย่างขึ้นราคาแทบทั้งหมด ผู้ค้าจึงจำเป็นต้องปรับราคาหมูย่างเพิ่มขึ้นตาม จนขณะนี้ทะลุไปเกินกว่ากิโลกรัมละ 400 บาทแล้ว ซึ่งเป็นราคาที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เปิดร้านจำหน่ายหมูย่าง" สุภาพร รักนาชาติ เจ้าของร้านโกหยุ่งหมูย่าง ตลาดเทศบาลนครตรัง อ.เมือง จ.ตรัง เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้น

         ที่ผ่านมาร้านโกหยุ่งหมูย่าง รับหมูย่างขายแบบเป็นตัว รวม 4 ตัวต่อวัน ด้วยอุปสรรคของราคาขายที่สูงขึ้นกระทบมาถึงลูกค้าอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยว ทางออกที่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้คือ การที่รัฐบาลจะต้องควบคุมราคาหมูเป็นให้อยู่ที่กิโลกรัมละไม่เกิน 75 บาท ซึ่งก็จะทำให้ราคาหมูย่างมีโอกาสปรับลดมาต่ำกว่ากิโลกรัมละ 400 บาทได้

         รัศมี ขจรสิริสิน ประธานชมรมผู้ประกอบการร้านอาหารจังหวัดตรัง และเจ้าของร้านกาแฟพงษ์โอชา กล่าวว่า ระยะนี้เป็นช่วงโลว์ซีซั่นนักท่องเที่ยวเข้ามาใน จ.ตรัง ค่อนข้างน้อย แต่หากเป็นช่วงการท่องเที่ยว เชื่อว่าราคาหมูย่างที่แพงขึ้นจะมีผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะหมูย่างถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของเมืองตรัง และนักท่องเที่ยวที่เดินทางจะรับประทาน หากราคาสูงขึ้นก็ยิ่งเป็นปัญหา  
          "ที่น่าเป็นห่วงคือ เรื่องของราคาขายที่สูงขึ้น จะทำลายความรู้สึก หากมาเมืองตรังแล้วไม่ได้รับประทานหมูย่าง หรือไม่ได้รับประทานกาแฟกับหมูย่างแล้ว เหมือนว่ามาแล้วไม่ถึงเมืองตรัง จะเห็นว่าที่ผ่านมานักท่องเที่ยวจากพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงบางรายเดินทางมาจากพัทลุง หรือนครศรีธรรมราช เพื่อมากินหมูย่างกับกาแฟยามเช้าที่เมืองตรัง เพราะรสชาติที่ทำให้ประทับใจ"

         ประธานชมรมผู้ประกอบการ ให้ข้อมูลว่า ความเคลื่อนไหวของราคาหมูย่างเป็นการปรับขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากกิโลกรัมละ 360 บาท ในปี 2553 เป็นกิโลกรัมละ 380 บาท ในต้นปี 2554 และขณะนี้ได้ขยับขึ้นไปอยู่ที่กิโลกรัมละกว่า 400 บาท ทำให้มีผลกระทบต่อผู้บริโภครวม

         "ในช่วงที่หมูย่างมีราคาแพง ทำให้ทุกวันนี้ลูกค้าจะสั่ง "หมูย่างเมืองตรัง" ไปรับประทานในขนาดที่จานเล็กลง หรือลูกค้าบางรายจะสั่งหมูย่างเพื่อเป็นการชิมรสชาติเท่านั้น แต่ไปจะเน้นไปสั่งอาหารประเภทติ่มซำ หรืออาหารที่ไม่มีหมูแทน เพราะยังมีราคาเท่าเดิม" รัศมี กล่าว

         เจียมใจ สถาพรจิตรกุล ประธานชมรมผู้ประกอบการหมูย่างเมืองตรัง และเจ้าของร้านโกชัย-เจ๊มาลี หมูย่างเมืองตรัง เล่าว่า จากการที่หมูเป็นมีราคาแพงอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งผลกระทบต่อ "หมูย่างเมืองตรัง" ทำให้ขณะนี้มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 420 บาท ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เนื่องจากไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นได้ แม้จะทราบดีว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคก็ตาม แต่หากไม่มีการปรับราคาผู้ประกอบการก็ไม่ได้กำไร และเสี่ยงต่อการขาดทุน

         "แม้ว่ารัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์จะควบคุมราคาเนื้อหมู ไม่ให้มีราคาแพงไปกว่านี้แล้ว แต่จากนโยบายปรับขึ้นค่าแรงวันละ 300 บาท ได้ส่งผลกระทบทำให้สินค้าที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคแพงขึ้น ซึ่งรวมไปถึงวัตถุดิบและส่วนผสมในการทำหมูย่าง อาทิ น้ำตาล เกลือ กระดาษ ไม้ฟืน ล้วนแต่มีการปรับราคาขึ้นตามค่าแรงอีกร้อยละ 5 ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับราคาการจำหน่ายหมูย่าง เป็นทางออกเดียวที่ผู้ประกอบการอยู่ในภาวะที่ต้องเลือก" เจียมใจ กล่าว

         สุภาพ จีนเมือง การค้าภายในจังหวัดตรัง กล่าวว่า การที่หมูย่างปรับขึ้นราคาอีกที่กิโลกรัมละ 420 บาท ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบรรดานักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัด เพราะมีความต้องการที่จะชิมอาหารขึ้นชื่อดังกล่าวอยู่แล้ว และราคาที่ปรับขึ้นก็น่าจะยังอยู่ในเกณฑ์ที่ยังยอมรับได้ ทั้งนี้การที่จะให้ราคาหมูเป็นที่นำมาผลิตเป็นหมูย่างมีราคาลดต่ำลงกว่านี้ คงต้องใช้ระยะเวลา 3-4 เดือน เพื่อให้ปริมาณหมูที่ขาดแคลนกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

         เป็นภาพด้านหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับอาหารพื้นเมืองที่ขึ้นชื่อของ จ.ตรัง