
ตัน ภาสกรนทีตั้ง'มูลนิธิตันปัน'
ตัน ภาสกรนที ตั้ง'มูลนิธิตันปัน'ตามอำเภอใจแบ่งปันรอยยิ้มสู่เด็กน้อย
จากความหลังฝังใจเรื่องโอกาสในการศึกษาที่มีน้อยกว่าคนอื่น ทำให้ผู้ชายคนนี้ ตัน ภาสกรนที กรรมการบริหาร บริษัท ไม่ตัน จำกัด มุ่งมั่นที่จะทำความฝันให้เป็นจริง เป็นแรงบันดาลใจให้ก่อเกิด "มูลนิธิตันปัน" ที่เขาประกาศแบ่งรายได้จากเงินปันผลในส่วนที่เป็นของตัวเอง และ สุนิสา ภาสกรนที ภรรยา ถือหุ้นอยู่ จำนวน 50% ให้แก่มูลนิธิตันปัน ตั้งแต่ปีแรกที่ดำเนินการบริษัท จนกระทั่งเขาอายุครบ 60 ปี จากนั้นตั้งแต่วันที่ 9 เดือน 9 พ.ศ.2562 เขาจะเพิ่มเงินบริจาคไม่ต่ำกว่า 90% ให้แก่มูลนิธิตันปันตลอดไป เพื่อใช้ในการพัฒนาการศึกษาและสิ่งแวดล้อม
ตัน ภาสกรนที กลับมาทำ "ชาเขียวพร้อมดื่ม" ในชื่อ "อิชิตัน" อีกครั้ง ภายใต้บริษัท ไม่ตัน จำกัด เล่าความตั้งใจการทำมูลนิธิตันปันว่า เริ่มทำธุรกิจส่วนตัวมาตั้งแต่อายุ 17 ปี แต่ด้วยความที่เรียนน้อย จึงให้ความสำคัญของการศึกษาเป็นเรื่องแรก อยากทำอะไรที่เกี่ยวกับการศึกษาและสิ่งแวดล้อมก่อน โดย
ส่วนตัวไม่ได้เป็นคนใช้เงินฟุ่มเฟือย มาถึงวันนี้ครอบครัวก็มีความสุขดี มั่นคงแล้ว
"ถ้าผมเห็นแก่ตัว ผมก็หยุดแล้ว พอแล้ว แต่ผมมองว่า ที่ผมและครอบครัวมีวันนี้ได้ เพราะมีคนอื่นให้โอกาส ดังนั้น ผมและครอบครัวควรตอบแทนสังคมด้วยการช่วยเหลือคนอื่น อยากเป็นตัวอย่างเล็กๆ ให้แก่สังคม ผมเรียกบริษัทไม่ตันว่า ธุรกิจเพื่อภารกิจ เวลาจะทำอะไร ผมจะมองยาวๆ ไม่มองเฉพาะหน้า เปรียบเสมือนใช้แว่นขยายส่องไปไกลๆ เพื่อดูว่า สุดท้ายของสุดท้ายจะเป็นอย่างไร การทำธุรกิจครั้งนี้ทำเพื่ออะไร"
มีคนเคยถามว่า ทำไมไม่มอบเงิน 300 ล้านบาทให้มูลนิธิตันปันไปตั้งแต่แรก ตัน เล่าถึงแนวคิดของเขาว่า ถ้าฝากธนาคารก็ได้ดอกเบี้ยไม่มาก จึงหันมาใช้วิธีทยอยให้ดีกว่า เพราะต่อไปมูลนิธิก็จะอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง แม้ว่าวันนั้นอาจจะไม่มีเขาอยู่แล้วก็ได้
"ตอนนี้ลงทุนสร้างโรงเรียนอนุบาลที่บ่อทอง อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี ในพื้นที่ 25 ไร่ และซื้อเพิ่มอีก 16 ไร่ รวมเป็น 41 ไร่ ลงทุนไป 30 กว่าล้านบาทแล้ว ทั้งซื้อที่และก่อสร้างเบ็ดเสร็จอาจจะถึง 40 ล้านบาท และเริ่มไปดูที่ดินเพื่อสร้างโรงเรียนที่ 2 และ 3 ทางภาคอีสานแล้ว เล็งไว้ที่นครราชสีมา ขอนแก่น หรืออุดรธานี ผมไม่อยากให้มูลนิธิเป็นภาระกับใคร ผมจึงนำเงิน 300 ล้านบาทที่จะตั้งมูลนิธิ ไปทำธุรกิจเพื่อให้เกิดดอกผล สิ่งที่อยากให้มูลนิธิ คือให้เวลาอีก 8 ปี ช่วยกันสร้างบริษัทให้มั่นคง กำไรส่วนของผมและภรรยามอบให้มูลนิธิ วันหนึ่งผมอยากเกษียณออกมาทำในสิ่งที่อยากทำ เป็นอาสาสมัคร ทำในสิ่งที่ไม่ต้องคำนึงเรื่องกำไรเป็นหลัก ตอนนั้นบริษัทมีเจ้าของ คือลูก และลูกน้องที่ไม่ต้องนำกำไรของพวกเขาไปมอบให้มูลนิธิแล้ว"
ตัน เล่าอีกว่า การทำมูลนิธิ โดยเฉพาะการช่วยเหลือด้านการศึกษา ส่วนหนึ่งมาจากความฝันในวัยเด็กที่เรียนน้อย เป็นจินตนาการที่ฝันไว้ว่า วันหนึ่งเมื่อมีความพร้อมก็อยากจะตอบแทนสังคมด้านการศึกษา เป็นความสุขที่ผมฝันไว้มานาน ตอนนี้สนามฟุตบอลเสร็จแล้ว ตัวโรงเรียนกำลังก่อสร้าง และทำเศรษฐกิจพอเพียง มีบ่อปลา เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ในเนื้อที่ประมาณ 30 กว่าไร่ จ้างครูดีๆ โรงเรียนดี ครูดี นักเรียนก็จะมีคุณภาพ เขาออกตัวว่า ไม่ได้ทำเรื่องใหญ่ แต่ทำเล็กๆ ที่มีคุณภาพ
ตราบใดที่เครื่องดื่มอิชิตัน หรือร้านอาหารในเครือบริษัทไม่ตันยังขายได้ กำไรครึ่งหนึ่งก็จะกลับไปที่มูลนิธิโดยอัตโนมัติ มูลนิธิอยู่ได้ ไม่อยากทำอะไรที่ได้หน้า เป็นข่าว แต่ไม่ยั่งยืน ขอเป็นความสุขส่วนตัว ที่ต้องลงทุนและลงแรงด้วย
นอกจากนี้ ก็มีสวนป่าสาธารณะที่บ่อทอง ปลูกมาประมาณ 2 ปีมาแล้ว เป็นการปลูกป่าให้เป็นสวนสาธารณะด้วย โดยนำคนในชุมชนประมาณ 1,000 คน เป็นเด็ก 500 คน เพื่อให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลต้นไม้ ในที่สุดก็เป็นสวนสาธารณะของชุมชน เขาจะดูแลให้ 5 ปี ปีหน้าจะทำถนนเพื่อเป็นที่วิ่งออกกำลังกาย สร้างห้องน้ำ และสร้างบ้านเล็กๆ 2 หลัง ให้คนดูแลสวนพักอาศัย จากนั้นให้คนดูแลหารายได้จากการบริการห้องน้ำ ขายน้ำดื่มให้แก่ผู้ที่มาออกกำลังกาย ใช้พื้นที่ที่เหลืออยู่ประมาณ 200 ตร.ม. จัดงาน บริหารงานเองโดยไม่ต้องมาพึ่งเขาอีก ปลูกดอกไม้ ไม้ผล มีบ่อปลาเพื่อนำไปขายเป็นรายได้เลี้ยงตัวเองได้ เหมือนโรงเรียนที่จะให้ดูแลบริหารตัวเองได้ ต้องคิดให้ครบถ้วนให้สามารถอยู่ได้จริงๆ ตลอดไป มีรายได้ดูแลตัวเองได้ตลอดไป
"ผมไม่ไปตีกอล์ฟ ไม่ไปดำน้ำ แต่ความสุขของผมคือ การทำในสิ่งที่อยากทำ ผมชอบทำตามอำเภอใจ แต่อย่าคาดหวังกับผมมากว่า ผมจะทำให้โลกร้อนลดลง ผมทำเพราะอยากทำ ทำแล้วมีความสุข แค่นี้พอใจแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่าง คือ ครอบครัว และธุรกิจ ต้องทำไปพร้อมกัน ผมได้ดูแลครอบครัว ทำธุรกิจ และทำเพื่อนสังคมได้ ไม่ต้องหรือทำทีละอย่าง แค่นี้ ผมก็พอใจแล้ว" ตัน อิชิตัน ทิ้งท้ายอย่างกินใจ