ข่าว

สปก.เล็งฟัน4รีสอร์ทรุกป่า

สปก.เล็งฟัน4รีสอร์ทรุกป่า

29 ส.ค. 2554

สปก.ชี้ช่องนายทุนเลี่ยงบาลีทำรีสอร์ท ยื่นสละสิทธิ์ถือครอง ขอเช่าที่ดินแทน เล็งฟ้อง 4 รีสอร์ทเมินแจงที่มาพ่วงเรียกค่าเสียหายอีกกระทง แนะแก้กฏหมายสอดคล้องสภาพความเป็นจริงไม่ทำแค่เกษตร

        29 ส.ค.54 นายสถิตพงษ์ สุดชูเกียรติ รองเลขาธิการสปก.แถลงผลการดำเนินการในการแก้ไขปัญหาการทำประโยชน์ในที่ดินวังน้ำเขียวผิดกฎหมาย สปก.ว่า สปก.ได้เข้าตรวจสอบ 21 รีสอร์ทซึ่งมี 13 รีสอร์ท ที่ขอขยายเวลาในการส่งเอกสารชี้แจงกับ สปก.ในรายละเอียดการได้มาซึ่งที่ดิน และมี 8 รีสอร์ท ที่ครบกำหนดเวลาการให้คำชี้แจง

        ทั้งนี้ มี 4 รีสอร์ทที่ได้ส่งเอกสารรายละเอียดการถือครองที่ดินแล้ว ประกอบด้วย วิลล่าเขาแผงม้า, บ้านไร่คุณนาย, ภูน้ำอิงฟ้า และสวนสุชาดา ส่วนอีก 4 รีสอร์ทที่ยังไม่มีการชี้แจงในรายละเอียดการถือครองที่ดิน ได้แก่ ภูธาราฟ้า, ภูเคียงลม, ภูผาหยก และครัวริมเขื่อน โดย 4 รีสอร์ทที่ยังไม่มีการชี้แจงใดๆ มา สปก.จะดำเนินการยื่นฟ้องขับไล่ออกจากพื้นที่พร้อมด้วยฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหาย และค่าเสียโอกาสในการจัดที่ดินของสปก.ให้กับเกษตรกรด้วย

        “นอกจากฟ้องขับไล่ทางอาญาแล้ วสปก.จะฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายทางแพ่งด้วย ซึ่งจะประเมินจากอัตราค่าเช่าที่ดิน สปก. 3% และจากมูลค่าที่ดินที่กรมที่ดินในท้องที่ได้มีการประเมินราคาไว้ในอัตราเดียวกัน โดยจะคิดจากวันที่ สปก.เริ่มฟ้อง อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ยังมีแนวทางที่จะประนีประนอมได้โดย เจ้าของรีสอร์ทที่ครอบครองโดยไม่ชอบสามารถยื่นเรื่องขอสละสิทธิ์ในการถือครองที่ดิน และขอเช่าที่จาก สปก.แทนได้ ซึ่งในเรื่องนี้กฏหมาย สปก.ก็มีช่องอยู่ในเรื่องการให้เช่าที่ดิน หรืออนุญาตให้ใช้ที่ดินในกรณีกิจการที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและสังคม แต่เรื่องนี้ทางท้องถิ่นจะต้องเป็นผู้เสนอต่อกระทรวงเกษตรฯ แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการนำกฎหมายตัวนี้มาใช้ “ นายสถิตพงษ์กล่าว

         อย่างไรก็ตาม สำหรับปัญหาพื้นที่ทับซ้อน ระหว่า งสปก.และกรมป่าไม้ ตามแนวเขตโดยเฉพาะในที่ดิน อ.วังน้ำเขียว นั้น ในที่ประชุมคณะทำงานหาข้อยุติเรื่องนี้ในวันที่ 17 ส.ค. 54 ที่ผ่านมา ยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะต่างฝ่ายต่างยึดเอากฏหมายของตนเองเป็นหลักในการดำเนินการ จึงจะนัดหารืออีกครั้งโดยประเด็นสำคัญคือหาข้อยุติเรื่องกำหนดแนวเขต และประเด็นข้อกฎหมายในกรณีที่กรมป่าไม้สงสัยว่า การสิ้นสภาพป่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ซึ่งในเรื่องนี้ สปก.ได้ยืนยันมาตลอดว่าที่ดินจะสิ้นสภาพป่า เมื่อ สปก.มีแผนงานและงบประมาณในการดำเนินโครงการ โดยเรื่องนี้กฤษฏีกาได้ตีความไว้แล้ว แต่เมื่อกรมป่าไม้ยังไม่ยอมรับจะส่งให้ตีความอีกรอบ สปก.ก็ไม่ขัดจะได้จบเร็ว ๆ เพราะในขณะนี้ประชาชนมีความมั่นใจว่า สปก.จะไม่เอาที่ดินคืนเนื่องจากมีความมั่นคงในเรื่องรายได้

        รองเลขาธิการสปก. ยืนยันว่า การตรวจสอบการใช้ประโยชน์ในที่ดิน สปก.ผิดกฏหมายในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว ทั้ง 2.4 แสนไร่ จะแล้วเสร็จภายในวันที่ 20 ก.ย.นี้จากนั้นจะมีการพิจารณาผลทั้งหมดเพื่อแยกประเภทความผิดของผู้ครอบครองที่ดินว่ากระทำผิดในข้อกฏหมายใด และแต่ละกลุ่มจะมีกี่ราย เพื่อเสนอต่อฝ่ายนโยบายพิจารณาว่าจะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร หากพบว่า ผู้กระทำผิดมีจำนวนมากเช่น ถ้าผิดมาก 70% จะดำเนินตามเคร่งครัดเลยหรือไม่ หรือจะมีนโยบายใดมาบรรเทาความเดือดร้อนของคนเหล่านี้ 
 
        “เจตนารมณ์ สปก.ในการจัดที่ดินก็คือให้กับเกษตรกร แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป สภาพสังคมเปลี่ยน คนเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมในที่ดินตามสภาพสังคม เราก็จะต้องให้อิสระทางความคิด คงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ที่ดินสปก.เป็นที่ดินทำเกษตรกรตลอดไป ควรเอาที่ดินตรงนี้ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากต้องแก้กฎหมายก็ต้องแก้ และหวังว่าจะมีรัฐบาลที่มีความเข็มแข็งและใจกล้ามาดำเนินการจุดนี้ แต่อย่างไรก็ตามที่ดิน สปก.จะต้องห้ามขายอย่างเด็ดขาด ยกเว้นขายคืน สปก. “ นายสถิตพงษ์กล่าว

        สำหรับความคืบหน้าในการตรวจสอบการใช้ที่ดินผิดกฏหมายสปก.ในอ.วังน้ำเขียว ล่าสุดผลตรวจสอบคืบหน้าไปแล้ว4,759 ราย 5,926 แปลง หรือประมาณ 76.55% ของพื้นที่ทั้งหมด 1.4 แสนไร่ที่มอบสปก.4-01 ไปแล้ว 6.4 พันราย โดยที่ผ่านมาพบการทำรีสอร์ท และโรงแรมรวม 120 แห่ง


หน.อช.สั่งรื้อรีสอร์ทรุกพื้นที่ทับลาน อีก 60 แห่ง

        นายเทวินทร์ มีทรัพย์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน กล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินการปักป้ายรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของรีสอร์ท บ้านพัก ที่บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ตามอำนาจ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 25 จำนวน 54 แห่ง ที่ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2543 ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่า น่าจะเสร็จสิ้นได้ภายใน 2-3 วันนี้ สำหรับขั้นตอนต่อไป คือ จะให้ระยะเวลาเจ้าของสิ่งปลูกสร้าง รื้อถอน และย้ายออกจากพื้นที่เอง ภายใน 45 วัน แต่หากไม่มีการดำเนินการ ทางอุทยานแห่งชาติฯ ก็จะดำเนินการเข้ารื้อถอนเองทั้งหมด

        นายเทวินทร์ กล่าวต่อว่า นอกจากในส่วนที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ ทางอุทยานแห่งชาติทับลาน ยังเตรียมที่จะดำเนินการในส่วนของการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน เพื่อใช้ทำประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเคยได้ดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีไปแล้ว ตั้งแต่เมื่อปี 2543 ที่ผ่านมา เพิ่มเติมอีกประมาณ 60 แห่ง หลังจากที่สำรวจเบื้องต้นพบว่า ยังคงมีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่อยู่ เพื่อความแน่ชัดจะนำข้อมูลมาประมวลผล และตรวจสอบข้อเท็จจริง และดำเนินการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 25เพื่อให้รื้อถอนสิ่งที่ทำประโยชน์อยู่ในพื้นที่ออกไปทั้งหมด

 

 

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน ไม่หวั่น หากมีคำสั่งย้าย

         หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวที่ว่ามีกลุ่มนายทุนผู้สูญเสียประโยชน์ พยายามกดดันหน่วยงานราชการ เพื่อให้มีการโยกย้าย นายเทวินทร์ ออกจากพื้นที่นั้น นายเทวินทร์ กล่าวว่า ไม่รู้ว่ากระแสข่าวนี้เป็นจริงมากน้อยเพียงไร แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือเป็นเพียงกระแสข่าวลือ ตนเองก็ไม่มีความหวั่นไหว หรือหนักใจ เพราะตนเองมีหน้าที่เพียงแค่ทำตามหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายให้ได้ดีที่สุด หากจะมีการปรับย้ายเกิดขึ้นจริง ก็พร้อมที่จะน้อมรับ เนื่องจากเป็นการติดสินใจของเบื้องบน