
'กัดดาฟี'ถูกโค่นใครจะขึ้นครองอำนาจ
ใครจะทำให้ลิเบียกลับมาเป็นปึกแผ่นเมื่อโมอัมมาร์ กัดดาฟี่ ถูกโค่นอำนาจ : สำนักข่าวต่างประเทศวิเคราะห์
ดูเหมือน ฮูซัม นัจจาอีร์ หนึ่งในสมาชิกฝ่ายกบฎในลิเบีย จะวิตกอย่างยิ่งต่อความเป็นไปได้ที่ฝ่ายกบฎที่มีอยู่หลายกลุ่มจะหันมาเล่นงานกันเอง ในขณะที่พยายามจะยึดครองกรุงทริโปลีอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แทนที่จะจัดการกับกองกำลังของพันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟี
ฮูซัม บอกว่า อย่างแรกที่กองกำลังของเขาจะลงมือทำ ก็คือ การตั้งด่านตรวจและติดอาวุธทุกคน รวมทั้งฝ่ายกบฎกลุ่มอื่น ๆ ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุนองเลือดขึ้นมาอีก เพราะฝ่ายกบฎทุกกลุ่มต่างก็ต้องการครอบครองกรุงทริโปลี ความเห็นของฮูซัม ชี้ให้เห็นปัญหาใหญ่หลวงที่สุด ที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาเมื่อสงครามกลางเมืองใกล้จะสิ้นสุดลงว่า ใครจะสามารถเป็นผู้นำลิเบียได้ เมื่อตกไปอยู่ในมือของฝ่ายกบฎ แต่คำตอบในเวลานี้คือ ไม่มี
คัมรอน บ็อคฮารี ผู้อำนวยการฝ่ายตะวันออกกลางของบริษัทที่ปรึกษาด้านข่าวกรองของสหรัฐสแตรทฟอร์ (STRATFOR) ให้ความเห็นว่า ไม่มีผู้นำฝ่ายต่อต้านคนไหนที่ได้รับความเคารพจากทุกคน และนั่นคือปัญหา
พันเอกกัดดาฟีปกครองประเทศที่อุดมไปด้วยน้ำมันแห่งแอฟริกาเหนือแห่งนี้ ในรูปแบบการครอบงำด้วยลัทธิ ไม่มีสถาบันแห่งรัฐ ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการถ่ายโอนอำนาจให้กับฝ่ายกบฎ ที่เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ แต่ปราศจากห่วงโซ่แห่งการบัญชาการที่เหมาะสม ทั้งยังไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มก๊กและชนเผ่าต่าง ๆ
ผู้นำที่มีชื่อเสียงที่สุดของฝ่ายต่อต้านคือ นายมุสตาฟา อับเดล จาลิล อดีตรัฐมนตรียุติธรรมที่ปัจจุบัน ดำรงประธานสภาการถ่ายโอนอำนาจแห่งชาติ หรือ NTC ซึ่งมีฐานอยู่ที่เมืองเบงกาซีร์ อันเป็นแหล่งรวมของบรรดาอดีตรัฐมนตรีและเหล่าผู้ต่อต้านรัฐบาล ที่เป็นตัวแทนจากหลายฝักหลายฝ่าย รวมทั้ง พวกชาตินิยมอาหรับ , มุสลิมสุดโต่ง , พวกฆราวาสนิยม ที่สนับสนุนการแยกศาสนาออกจากการเมือง , พวกมีแนวคิดสังคมและนักธุรกิจ
นายจาลิลวัย 50 ปี ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่พูดจาสุภาพนอบน้อม ที่นักการทูตสหรัฐให้ความเห็นในเอกสารลับของกระทรวงต่างประเทศ ที่วิกิลี้คเอามาเผยแพร่ว่า เขาเป็นนักวิชาการที่มีความยุติธรรมในหัวใจ ทำให้ได้รับการยกย่องจากกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ฮิวแมน ไรท์วอทช์ ในการทำงานเพื่อปฏิรูประบบยุติธรรมของลิเบีย และเขาได้ลาออกจากการเป็นรัฐมนตรียุติธรรม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ หลังมีการใช้ความรุนแรงจัดการผู้ประท้วง
แต่การที่เขาเคยเป็นคนวงในของพันเอกกัดดาฟีมาก่อน ทำให้พวกฝ่ายกบฎบางคนเกิดความคลางแคลงใจในตัวเขา ขณะที่พวกกบฎเหล่านี้ต้องการพลิกโฉมหน้ารัฐบาลใหม่โดยไม่ให้มีคนจากรัฐบาลเก่าเข้ามาเกี่ยวข้อง
อีกคนหนึ่งที่น่าสนใจคือ นายมาห์มุด จิบริล รัฐมนตรีเงาของฝ่ายกบฎ แต่ก็เป็นอดีตเจ้าหน้าที่ด้านการพัฒนาในยุคพันเอกกัดดาฟี แต่เขาเป็นคนที่ติดต่อกับต่างชาติและทำหน้าที่เป็นเสมือนทูตของฝ่ายกบฎ แต่ดูเหมือนความพยายามของเขาอาจจะเสียเปล่า ถ้าเขาไม่ได้มีส่วนในฝ่ายบริหารชุดใหม่ เนื่องจากเขายังไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายกบฎบางกลุ่ม ส่วนคนที่เหลือคือ นายอาลี ทาร์ฮูนี่ ที่อาจจะได้ขึ้นเป็นผู้นำในอนาคตนักวิชาการและผู้ต่อต้านรัฐบาล ที่ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศผู้นี้ ได้เดินทางกลับลิเบียเพื่อเตรียมรับหน้าที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ การคลังและน้ำมันให้กับฝ่ายกบฎ
ความตึงเครียดภายในระหว่างฝ่ายที่ต่อต้านพันเอกกัดดาฟีมาชั่วชีวิตกับพวกที่เพิ่งจะแปรพักตร์ อาจทำลายความพยายามในการเลือกผู้นำ และถ้าพวกมีแนวคิดสุดโต่งเป็นฝ่ายได้อำนาจการบริหาร ก็จะทำให้ลิเบียตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับอิรัก หลังการหมดยุคของซัดดัม ฮุสเซน พรรคบ๊าธและทหารจำนวนหนึ่ง ได้ทำให้เกิดสุญญากาศแห่งอำนาจและทำให้อิรักไร้เสถียรภาพมาหลายปี อีกทั้งอัล ไกดา ได้ช่วยกระพือความรุนแรงให้รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของสหรัฐบริหารประเทศได้อย่างยากเย็น และยิ่งเมื่อมีผลประโยชน์เรื่องน้ำมันเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็จะยิ่งเป็นปัญหาใหญ่หลวงที่ยากจะแก้ไข
เมื่อดูจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็ยิ่งยากสำหรับการวางอนาคตให้ลิเบีย เนื่องจากฝ่ายกบฎได้แยกกันอย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้จากการที่พวกเขาอ้างตัวเองว่า มาจากหมู่บ้านโน้น หมู่บ้านนี้ ไม่มีใครบอกว่า ทำเพื่อลิเบีย เมื่อผู้สื่อข่าวไปหาพวกเขาที่แนวหน้า กลับได้รับแจ้งให้ไปขออนุญาติจากฝ่ายกบฎที่รับผิดชอบพื้นที่ก่อน ขณะที่ฝ่ายกบฎในกรุงทริโปลี บอกว่า กองกำลังของพวกเขาเหมาะสมที่สุดที่จะได้ยึดครองเมืองหลวง เพราะพวกเขาเป็นชาวกรุงทริโปลี ทั้งยังมีการบริหารจัดการที่ดีกว่า และได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มอื่น ๆ น้อยมาก แต่พวกกบฎในพื้นที่ตะวันตก และเมืองมิสราต้า อ้างว่า พวกเขาควรได้ตำแหน่งที่ทรงอำนาจมากที่สุดในรัฐบาลใหม่ เพราะกรำศึกมามากที่สุด ในขณะที่พวกในเบงกาซีร์ เพียงแค่ติดต่อกับฝ่ายรัฐบาลของพันเอกกัดดาฟี
พวกกบฎในเบงกาซี ถูกมองว่า เป็นคนนอก แถมยังส่งมอบอาวุธและส่งกำลังบำรุงล่าช้า อันเป็นการบ่งชี้ว่า การจะเข้าไปบริหารประเทศ เป็นเรื่องสุดแสนยากสำหรับฝ่ายกบฎ และคงจะยากที่จะหาตัวคนที่จะมาเป็นผู้นำที่ได้รับการยอมรับ โดยปราศจากคู่แข่ง