ข่าว

ใน'เรือนจำ'มือถือเครื่องละ5แสน!!

ใน'เรือนจำ'มือถือเครื่องละ5แสน!!

21 ส.ค. 2554

ในเรือนจำ มือถือเครื่องละ 5 แสน!! : อาคม ไชยศร รายงาน

          เหตุจลาจลของนักโทษในเรือนจำนราธิวาส หลังมีการตรวจค้น "โทรศัพท์มือถือ" และ "ยาเสพติด" จนพบของกลางโทรศัพท์มือถือ และยาเสพติดจำนวนมากเป็นเพียง "ยอดภูเขาน้ำแข็ง" ของปัญหาดังกล่าวเท่านั้น

          คำถามก็คือ เป็นเพราะเรือนจำ "ปล่อยปละละเลย" หรือไม่ การสั่งการซื้อขายยาจากในคุกจึงเฟื่องฟูขนาดนี้!?

          นายชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ จึงบรรยายสภาพความความแออัดภายในเรือนจำเพื่อให้เห็นถึงสภาพปัญหาในการสอดส่องดูแลนักโทษให้ทั่วถึงว่า ปัจจุบันเรือนจำ 143 แห่งทั่วประเทศ มีนักโทษที่ถูกคุมขังมากถึง 2.2 แสนคน

          "เมื่อ 2 ปีก่อน ตอนที่ผมเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ ยังมีนักโทษประมาณ 1.8 แสนคนเท่านั้น ซึ่งมีการเพิ่มขึ้นถึง 58.49% และส่วนใหญ่เป็นนักโทษคดียาเสพติด"

          อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ให้ข้อมูลว่า ปริมาณนักโทษ 2.2 แสนคน มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 10,000 คน แต่ในจำนวนนี้ไม่ใช่ "ผู้คุม" ทั้งหมด

          "มาตรฐานขององค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) กำหนดให้อัตราส่วนของผู้คุมต่อนักโทษ คือ 1: 5 เช่น ประเทศมาเลเซียมีอัตราส่วนอยู่ที่ 1: 6

          ส่วนเรือนจำกลางคลองเปรม มีนักโทษประมาณ 6,000 คน มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 300 คน คิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 1 : 20 แต่จริงๆ แล้วเฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายควบคุม หรือผู้คุม 1 คน อาจต้องดูแลนักโทษมากถึง 1,000 คน"

          อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยังระบุถึงปัจจัยสำคัญอีกประการด้วยว่า ปัจจุบันกลุ่มผู้ต้องขังส่วนใหญ่ล้วนมาจาก "คดียาเสพติด" แทบทั้งสิ้น และส่วนใหญ่ก็เป็น "กลุ่มผู้ค้า" ดังนั้น เมื่อเข้ามาอยู่รวมกันในเรือนจำจึงมีการสร้าง "เครือข่าย" ขึ้นมา

          ทั้งนี้ ในการติดต่อค้ายาเสพติดจะอาศัยความ "ไว้วางใจ" เป็นสำคัญ และภายในเรือนจำก็จัดเป็นสถานที่ที่ "เบี้ยว" ได้ยากที่สุด เพราะหากข้างนอกคิดไม่ซื่อขึ้นมา กลุ่มเครือข่ายในคุกก็จะต้อง "ตาย" สถานเดียว

          สำหรับขบวนการค้ายาเสพติดจะมีการ "ตัดตอน" กันเป็นทอดๆ โดยกลุ่มที่เกี่ยวข้องภายนอกจะไม่รู้เลยว่ามีใครอยู่ในขบวนการบ้าง

          ขณะที่การทำ "ธุรกรรมการเงิน" ก็จะกันกลุ่มเครือข่ายออกไปเพื่อไม่ให้ตำรวจหรือป.ป.ง.แกะรอยถูก โดยมีการ "จ้างเปิดบัญชี" บัญชีละประมาณ 1,500-2,000 บาท

          "คนที่ถูกจ้างมาเปิดบัญชีจะถือแค่บัญชีเท่านั้น แต่จะมีคนถือบัตรเอทีเอ็มคอยกดเงินออกมา ซึ่งบางทีตำรวจแกะรอยไปเจอพบบางบัญชีมียอดเงินหมุนเวียนถึง 200 ล้าน แต่ไปดูเถอะว่าจริงๆ แล้วมีเงินเหลือติดบัญชีไม่กี่บาทหรอก"

          เมื่อพูดถึงการสั่งการซื้อขายจากในคุกแล้วแน่นอนว่าเครื่องมือที่สำคัญที่สุดก็คือ "โทรศัพท์มือถือ" โดยสนนราคาปกติ คือ เครื่องละ 20,000 บาท

          "ถ้าช่วงไหนมีการค้นกันหนักๆ ราคาอาจพุ่งสูงถึงเครื่องละ 80,000-200,000 บาท แต่ราคาสูงที่สุดเท่าที่ตรวจพบ คือ เครื่องละ 500,000 บาท"

          ส่วนช่องทางการนำเข้ามามีทั้งการซุกซ่อนมากับ บุคคล, สิ่งของ และ ยานพาหนะ โดยการซุกซ่อนมากับบุคคลมักจะมากับนักโทษเอง

          ยกตัวอย่างเช่น เวลาไปศาล อาจมีการนำมาวางไว้ใต้เก้าอี้พิจารณาคดี หรือเวลาไปทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ข้างนอก อาจมีการนำมาซุกซ่อนไว้ตามสนามหญ้าหรือพุ่มไม้ หรือในระหว่างทางเดินในศาล อาจมีญาติทำทีเข้ามาพูดคุยแล้วแอบเอาโทรศัพท์มาให้ เป็นต้น

          "ส่วนวิธีการที่นำเข้ามาได้มีทางเดียวก็คือ ยัดเข้ามาในรูทวาร ซึ่งจะยัดกันลึกมาก ดังนั้น ช่วงหลังเจ้าหน้าที่จึงต้องใช้วิธีสวมถุงมือล้วงเข้าไป แต่ถ้ามีนักโทษมากๆ ก็ต้องให้กระโดดสก็อตจัมพ์ให้หลุดออกมา"

          ขณะที่ "เจ้าหน้าที่เรือนจำ" ก็เคยตรวจพบว่า มีการแอบซุกซ่อนนำโทรศัพท์เข้ามาเช่นกัน และถูกให้ออกจากราชการแล้วหลายราย

          สำหรับการซุกซ่อนในสิ่งของ อาจมาในรูปของ "ของเยี่ยมญาติ" พวกกล่องแป้ง หรือขวดน้ำ ฯลฯ รวมทั้งการขว้างข้ามกำแพงเข้ามา โดยซุกซ่อนกับสิ่งของ หรือสัตว์ชนิดต่างๆ เข้ามา หรือใช้วิธียิงเข้ามาโดยหนังสติ๊ก หรือจรวดน้ำ เป็นต้น

          "ล่าสุด ที่ตรวจพบในเรือนจำแห่งหนึ่ง คือ การใช้ เลิคอปเตอร์บังคับ ผูกติดกล่องใส่โทรศัพท์มือถือขึ้นบินเหนือเรือนจำ โดยมีการพิกัดตกด้วยระบบ GPS ที่มีความแม่นยำสูงมาก"

          วิธีสุดท้าย คือ ซุกซ่อนมากับยานพาหนะ เช่น รถขนส่งอาหาร รถขยะ รถขนวัสดุอุปกรณ์ฝึกอาชีพ ฯลฯ ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีวิธีการซุกซ่อนหลากหลายมาก และภายในก็มี "จุดอับ" จำนวนมากที่เจ้าหน้าที่ดูแลได้ไม่ทั่วถึง

          ด้านการตรวจหาโทรศัพท์ก็ใช้ทั้งวิธีการตรวจด้วยมือ เช่น การตรวจของเยี่ยมญาติด้วยมือทีละชิ้น การตรวจหาด้วยเครื่องตรวจโลหะแบบมือถือ แต่วิธีการที่ดีกว่าน่าจะเป็นเครื่องตรวจโลหะแบบเดินผ่าน (WALK THROUGH) ซึ่งใช้กันตามสนามบิน

          อย่างไรก็ตาม เครื่อง WALK THROUGH มีราคาสูงถึงเครื่องละ 2-3 ล้าน และใช่จะตรวจได้ครอบคลุมทั้งหมด โดยเฉพาะกับยานพาหนะ ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุด คือ ติดตั้ง "ระบบตัดสัญญาณโทรศัพท์" ให้ครอบคลุมทั้งเรือนจำ

          ปัจจุบันมีเรือนจำนำร่องที่ติดตั้งระบบตัดสัญญาณมือถือครอบคลุมทั้งเรือนจำ จำนวน 1 แห่ง คือ "เรือนจำเขาบิน" จ.ราชบุรี โดยใช้งบประมาณ 40-50 ล้านบาท

          "จากการทดลองใช้ระบบดังกล่าวตั้งแต่เดือนมีนาคม ที่ผ่านมา พบว่าใช้ได้ผลมาก โดยมีการย้ายนักโทษขาใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดกว่า 200 คน จากเรือนจำอื่นไปอยู่ที่เขาบิน เพื่อป้องกันการใช้โทรศัพท์"

          อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า จากนี้จะเร่งวางระบบตัดสัญญาณมือถือในเรือนจำความมั่นคงสูงแห่งอื่น คือ เรือนจำกลางคลองเปรม เรือนจำกลางบางขวาง ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง เรือนจำคลองไผ่ เรือนจำพิษณุโลก เรือนจำระยอง และเรือนจำนครศรีธรรมราช

          นอกจากจะติดตั้งระบบตัดสัญญาณมือถือให้ครอบคลุมแล้ว..ยังจะมีการย้ายนักโทษ "ขาใหญ่" ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเข้ามาอยู่ในเรือนจำเหล่านี้เพื่อ "ตัดวงจร" การสั่งการค้ายาเสพติดอีกด้วย

          เราตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า ในเมื่อคดียาเสพติดมีอัตราโทษสูงทั้ง "ประหารชีวิต" หรืออย่างน้อยก็ "จำคุกตลอดชีวิต" เหตุใดจึงยังมีการกระทำผิดซ้ำอีก ทั้งที่คนที่สั่งการก็อาจจะ "ไม่มีโอกาสได้ใช้เงิน" ด้วยซ้ำ

          อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เฉลยว่า "แรงจูงใจสำคัญก็คือเงินกำไรจากการค้ายา ส่วนโทษประหารชีวิตตั้งแต่ปี 47 มีนักโทษถูกฉีดยาพิษไปแค่ 7 คนเท่านั้น ส่วนถ้าได้ลดหย่อนโทษก็ติดไม่เกิน 25 ปี พวกที่ตลอดชีวิตส่วนใหญ่ก็ติดไม่เกิน 20 ปี"

          นั่นคือ "คำตอบ" ว่า เหตุใดนักโทษคดียาเสพติดจึงเข้าไปสั่งการค้ายาเสพติดในคุกอีก เนื่องจากมีโอกาสสูงที่จะได้ "ออกมาใช้เงิน" ดังนั้น เมื่อมีความหวังที่จะได้ออกมาใช้เงิน จึงไม่แปลกที่นักโทษคดียาเสพติดบางส่วนจึงยอมเสี่ยงที่จะเก็บเงินไว้ใช้ในยามที่ออกมาจากคุก