
พลิกตำนาน"พระยาละแวก"
พลิกตำนาน "พระยาละแวก" ใน ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประวัติศาสตร์เขียนต่าง วีรกรรมเป็นคนละเรื่องเดียวกัน
ขณะที่ ภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาคล่าสุด "ศึกนันทบุเรง" กำลังได้รับความสนใจอย่างสูง และมีการโหมโฆษณากันอยู่ในเวลานี้
สิ่งหนึ่งที่ถูกจับตามองก็คือ แง่มุมการนำเสนอในภาพยนตร์เรื่องนี้ ท่ามกลางความไม่เป็นเนื้อเดียวทางประวัติศาสตร์ หรืออาจพูดได้ว่า พงศาวดารของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน
เพราะแน่นอน ประการหนึ่ง ที่เห็นได้ชัดก็คือ การใช้ประวัติศาสตร์ ในการสร้างขวัญและกำลังใจในการสร้างชาติ และปลุกความฮึกเหิมนั่นเอง
อย่าง "พระยาละแวก" ในภาพยนตร์เรื่อง "พระนเรศวร" ก็เหมือนกัน มีทั้งตำนานในพงศาวดารไทย และพงศาวดารเขมร ซึ่งมีรีรกรรม และจุดจบต่างกัน
ถามว่า ของใครจริงของใครเท็จ ต่างก็ย่อมบอกว่า ของตัวเองคือ ของจริง
แต่เพื่อเป็นการศึกษาเปรียบเทียบ และมองในแง่มุมของวิชาการ เพื่อสร้างสรรค์การเรียนรู้อย่างรอบด้าน
ก็นับว่าน่าสนใจ หากนำมาเปรียบเทียบกัน!
ในที่นี้ขอเน้นรายละเอียดของ พงศาวดารเมืองละแวก จ.ศ.1170 ซึ่งเขียนโดยคนเขมร ระบุว่า สมเด็จพระนเรศฯ มีพระราชดำริจะชิงเอาเมืองละแวกด้วยการให้ "ราชบุรุษ" สองคน ผู้มีคาถาอาคมเก่งกล้า ปลอมตัวเป็นพระเข้าไปถึงราชสำนักสมเด็จพระสัตถา เพื่อทำคาถาอาคมทำเอาพระยาละแวกให้กลายเป็นขี้เมาไม่เอาใจใส่ดูแลกิจการบ้านเมือง เมื่อเมืองละแวกระส่ำระสายแล้ว จึงส่งสาส์นลับกราบทูลพระนเรศฯให้ยกทัพไปโจมตี
เมื่อสมเด็จพระนเรศฯยกพลมาถึงเมืองละแวก "นักพระสัตถา" ทรงช้างพระที่นั่งออกไปชิงชัยด้วย แต่ช้าง "นักพระสัตถา" ตกใจกลัวช้างพระนเรศฯ แตกตื่นเสียกระบวน ไล่แทงช้างม้าไพร่พลของพระองค์เอง แตกกระจัดกระจายหนีพ่าย
พงศาวดารเมืองละแวก ระบุเช่นเดียวกันว่า พระยาละแวกลงเรือหนีไปอาศัยอยู่ ณ เมืองศรีสุนธร (ปัจจุบันอยู่กำพงจาม) ต่อจากนั้นย้ายไปเมืองลาวล้านช้าง (เมืองเชียงแตง)
แต่หากดูเงื่อนเวลาแล้ว ปี พ.ศ. 2135 สมเด็จพระนเรศฯได้ทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชา "มังสามเกียด" แห่งหงสาวดี ที่ดอนเจดีย์ (สุพรรณบุรี) ขณะที่ช่วง พ.ศ. 2130 สมเด็จพระนเรศฯเดินทัพไปปราบเมืองละแวกได้สำเร็จ