ข่าว

คนวังน้ำเขียวฮือปิดถนน-ล่าชื่ิอต้าน

คนวังน้ำเขียวฮือปิดถนน-ล่าชื่ิอต้าน

06 ส.ค. 2554

ชาวบ้านวังน้ำเขียว ฮือปิดถนน ยื่นหนังสือจี้รัฐหาข้อยุติปัญหาพิพาทที่ดินปัญหา ลั่น ล่าชื่อ กดดันแก้กม.

          หลังจากที่ทางหน่วยงานราชการต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช รวมถึงสำนักงานปฏิรูปที่ดินทำกินเพื่อการเกษตรกรรม ( สปก.) เตรียมที่จะดำเนินการตรวจสอบและเอาผิดกับผู้ที่ทำผิดหลักเกณฑ์ในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียวทั้งหมด ล่าสุด วันที่ 5 ส.ค.54 กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียวกว่า  800 คน นำโดยนายชุณห์ ศิริชัยคีรียโกศล สมาชิกสภาจังหวัดนครราชสีมา เขต อ.วังน้ำเขียว และนายจงกล สระเจริญ นายก อบต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำขียว ที่ระบุว่า ได้รับผลกระทบจากปัญหาข้อพิพาทกรณีการบุกรุกที่ป่าสงวนแห่งชาติและพื้นที่อุทยาน ได้เดินทางมารวมตัวกันที่บริเวณเวทีปราศรัยริมถนนสาย 304 นครราชสีมา-กบินทร์บุรี บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 79 

          ทั้งนี้ เพื่อร่วมลงรายชื่อ เตรียมยื่นเสนอต่อทางคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ให้พิจารณาแก้ไขกฏหมาย 3 ฉบับ ซึ่งประกอบด้วย พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 , พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และ พรบ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวบ้านที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียวสามารถใช้ประโยชน์พื้นที่ สร้างเป็นเมืองท่องเที่ยวได้ตามกฎหมายอย่างถูกต้อง โดยไม่ขัดต่อหลักเกณฑ์

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 14.30 น. ผู้ร่วมชุมนุมทั้งหมดได้พากันปิดถนนสาย 304  บริเวณที่มีการเปิดเวทีปราศรัย เนื่องจากไม่พอใจที่คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ไม่มารับหนังสือตามที่นัดหมายไว้ว่า จะเข้ามาพบกับผู้เรียกร้อง ในเวลา 13.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่คณะกรรมาธิการ ยังประชุมรับฟังคำชี้แจงข้อมูลจากหน่วยงาน กลุ่มอนุรักษ์ในพื้นที่ และประชาชนผู้เกี่ยวข้องอยู่ภายในสวนลุงโชค บ้านคลองทราย ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว ยังไม่แล้วเสร็จ

          ผุ้สื่อข่าวรายงานว่า การปิดถนนดำเนินไปประมาณ 1 ชั่วโมง กระทั่งเวลา 15.00 น. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพร้อมคณะ ได้เดินทางมาถึงบริเวณสถานที่ชุมนุม และรับฟังปัญหาผลกระทบต่างๆจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

          ทั้งนี้ ตัวแทนกลุ่มชาวบ้าน ระบุว่า ต้องการให้คณะกรรมาธิการ นำปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่  ซึ่งขณะนี้ชาวอำเภอวังน้ำเขียว กำลังถูกสังคมส่วนใหญ่ตราหน้าว่า เป็นผู้บุกรุกป่า ทั้งที่ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นปัญหาภาพรวมทั้งหมด มีเพียงกลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้น

          นอกจากนี้ การนำเสนอข่าวอย่างครึกโครม ของสื่อมวลชน ทำให้เศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของอำเภอย่อยยับ เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวกล้าที่จะเดินทางมา ชาวบ้าน เกษตรกรในพื้นที่ และผู้ประกอบการต่าง ๆ ขาดรายได้เดือดร้อนกันทั่วหน้า จึงอยากให้ทางคณะกรรมาธิการชุดนี้ช่วยนำปัญหาที่ได้เห็นกลับไปสะท้อนไปยังรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อให้เร่งแก้ไขปัญหาของอำเภอวังน้ำเขียวอย่างเร่งด่วน 

 

กมธ.วุฒิฯ ชี้ ชาวบ้านบุกรุกโดยไม่เจตนา แนะรัฐเยียวยา

          ด้านประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และปัญหาต่างที่เกิดขึ้นใน อ.วังน้ำเขียว จากการประชุมร่วมหลายฝ่ายก็ได้ข้อมูลมามากและมองเห็นปัญหาในพื้นที่ว่า ปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐนั้น ไม่ว่าจะเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ หรือป่าสงวนแห่งชาติ เป็นการบุกรุกโดยไม่เจตนา เนื่องจากการกำหนดพื้นที่ไม่ชัดเจน

          เขาบอกว่า หนทางแก้ไขควรมีการกำหนดแนวเขตให้ชัดเจน แบ่งแยกพื้นที่เป็นกรณี ๆ และตรวจสอบไปเป็นรายไปว่า บุกรุกโดยเจตนาหรือไม่ หากไม่เจตนา รัฐก็ควรหาทางเยียวยา ซึ่งทั้งหมดต้องตรวจสอบให้ชัดเจนเป็นรายๆไป ไม่ควรเหมารวมทั้งหมด เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นชาว อ.วังน้ำเขียวทั้งหมด 

          "จากนี้จะนำข้อมูลที่รวบรวมสรุปหาสาเหตุ เพื่อหาทางแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด กระทบน้อยที่สุด เสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ภายในวันที่ 16 สิงหาคมนี้"

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่กลุ่มชาวบ้านได้ยื่นหนังสือ และได้ชี้แจงเป็นที่เรียบร้อย กลุ่มผู้ชุมนุม ก็ได้ยอมสลายตัวไปในที่สุด

 

ล่า 5 หมื่นชื่อ เสนอรัฐบาลใหม่แก้ กม.ที่ดิน

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ กลุ่มชาวบ้านใน อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ได้จัดเวทีปราศรัย แสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎหมาย แก้ปัญหาข้อพิพาทบุกรุกที่ป่าที่อำเภอวังน้ำเขียว ริมถนนสาย 304 นครราชสีมา-กบินทร์บุรี บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 79  ตลาด 79  โดยชาวบ้าน นำหลักฐานสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน มาร่วมลงรายชื่อเตรียมยื่นเสนอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ให้พิจารณาแก้ไขกฎหมาย 3  ฉบับ

          นายชุณห์ ศิริชัยคีรีโกศล แกนนำชาวบ้าน กล่าวว่า  จะรวบรวมรายชื่อชาวอำเภอวังน้ำเขียวที่ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ให้ได้จำนวน 5 หมื่นรายชื่อ เพื่อยื่นเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาแก้ไขกฎหมาย 3  ฉบับ เพื่อให้ชาวอำเภอวังน้ำเขียวได้ประโยชน์และสามารถอยู่ในพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง

          ด้านนายสมบูรณ์ สิงกิ่ง รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลไทยสามัคคี และนายกฤษณพร เล็งไธสง ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลไทยสามัคคี ได้ขึ้นเวทีปราศรัยชี้แจงเกี่ยวกับความจำเป็นที่ต้องมีการล่ารายชื่อเพื่อเสนอให้ทางรัฐบาล  พร้อมกับกล่าวโจมตีการทำหน้าที่ของทางหน่วยงานภาครัฐ  โดยระบุว่าเป็นการใช้อำนาจที่มีอยู่อย่างไม่เห็นใจชาวบ้าน ทั้งที่ขณะนี้ชาวอำเภอวังน้ำเขียวกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก แทนที่จะร่วมกันหาทางออกร่วมกัน

 

กมธ.วุฒิฯ ลงพท. รับฟังปัญหา

 

         วันเดียวกัน ที่สวนลุงโชค บ้านครองทราย ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมาธิการ  ร่วมรับฟังข้อมูลข้อเท็จจริงและแนวทางแก้ไขปัญหากับกลุ่มอนุรักษ์และผู้แทนภาคประชาชนในพื้นที่ ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เพื่อรวบรวมข้อมูลทั้งหมด นำไปสรุปเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อเตรียมนำเสนอรัฐบาลชุดใหม่  

          ส่วนความคืบหน้ากรณีกรมป่าไม้เตรียมยื่นหลักฐานข้อมูล เพื่อขอหมายศาลจากศาลจังหวัดนครราชสีมา เข้าดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ที่ทางกรมป่าไม้ระบุว่ามีการบุกรุกที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาภูหลวง ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา รวม  22  จุด เพื่อดำเนินการบังคับใช้กฎหมายนั้น  

 

ป่าไม้เดินหน้า ขอหมายศาล ค้นรีสอร์ต 22 จุด

 

          นายสุเทพ ปวเรศวิทยาฬาร ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8  (นครราชสีมา) ระบุว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่นำข้อมูลหลักฐานซึ่งเป็น พระราชกฤษฎีกาประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ปี 2528  พร้อมแผนที่ระบุพิกัด ที่ตั้งของรีสอร์ทที่พัก ที่เชื่อได้ว่าบุกรุกที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาภูหลวง ในแต่ละจุด หลักหลักฐานรายละเอียดประกอบต่างเข้ายื่นต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา เป็นที่เรียบร้อยแล้วทั้ง 22 จุด ซึ่งจากนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลว่าจะอนุมัติหมายศาลให้กับทางสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8  นครราชสีมา  

          ทั้งนี้ ประเมินว่า ศาลจะเริ่มพิจารณาตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค.54 และหากไม่เสร็จสิ้น ก็น่าจะพิจารณาต่อในวันจันทร์ที่ 8 ส.ค.นี้ ซึ่งคาดว่า ทางสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 นครราชสีมา จะได้รับการอนุมัติหมายศาลในเร็วนี้

 

สปก.วอนผู้ได้รับผลกระทบบอกข้อมูลเจ้าหน้าที่

 

          นายประเสริฐ  วิศิษฏจินดา สปก.จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น ทุกภาคส่วนต้องดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐ จึงขอความร่วมมือกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ กรุณาให้ข้อเท็จจริงกับ จนท. เพื่อจะได้นำมาสรุป หาแนวทางออกโดยชอบ มิเช่นนั้นปัญหาจะไม่ได้ข้อยุติ  

          ส่วนบรรยากาศในการเปิดโอกาส ให้ผู้ที่ได้รับกระทบ แสดงความคิดเห็น เป็นไปอย่างเคร่งเครียด ส่วนใหญ่ จะนำเสนอปัญหา อ้างเหตุผล กรมป่าไม้ ประกาศแนวเขตทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน

          พล.ต สมศักดิ์  ศรีสุพรรณดิฐ อดีตข้าราชการกระทรวงกลาโหมบำนาญ กล่าวในเวทีรับความคิดเห็น ในฐานะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาพิพาท ว่า เขาได้โยกย้ายถิ่นฐานหลังเกษียณ มาตั้งแต่ ปี 2543 โดยก่อนจะมาซื้อที่ดิน ได้ตรวจสอบกับกรมป่าไม้ ซึ่งระบุว่า ตั้งอยู่ในเขตผืนป่าทับลาน แต่อยู่ในระหว่างกันแนวเขต โดยยอมรับว่า ได้ประกาศแนวเขตทับที่ดินของชาวบ้านจริง ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาภายหลัง

          ดังนั้น เขาจึงตัดสินใจซื้อที่ดินประมาณ 8 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลศาลเจ้าพ่อ อ.วังน้ำเขียว ซึ่งเมื่อกรมป่าไม้ ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ก็ควรมีความจริงใจ แก้ไขข้อบังคับกฎหมาย กันแนวเขตพื้นที่พิพาทออกมาให้ชัดเจน  

          ด้านนายชุณห์  ศิริชัยคีรีโกศล ส.อบจ.นครราชสีมา เขต อ.วังน้ำเขียว  กล่าวว่า ในส่วนการเคลื่อนไหว ช่วงเย็นของทุกวัน จะมีการตั้งเวทีชาวบ้าน ที่ตลาดสด กิโลเมตร 79 ริม ถ.ราชสีมา-กบินทร์บุรี ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น โดยจะมีขึ้นทุกวัน จนกว่าปัญหาจะได้ข้อยุติ

          "ข่าวชาว อ.วังน้ำเขียว บุกรุกผืนป่า ทำลายธรรมชาติ ที่มีการนำเสนอทุกวัน ได้ขยายเป็นวงกว้าง ธุรกิจท่องเที่ยว ซบเซาแทบไม่มีนักท่องเที่ยวเลย เศรษฐกิจได้รับความเสียหายต่อวันนับล้านบาท โดยเฉพาะผลผลิตเกษตรกรรม ประเภท พืช ผัก ไม้ผล ปลอดสารพิษ ที่เน่าเสียจำนวนมาก"

          เขาย้ำว่า ขณะนี้ แกนนำชาวบ้าน อยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจำนวน 5 หมื่นคน เพื่อนำเสนอรัฐบาล ชุดใหม่ ให้นำไปพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งมีการนำเสนอน่าจะแก้ไข ข้อระเบียบสิ่งแวดล้อม ที่ให้มนุษย์กับป่า อยู่ร่วมกันได้ อย่างยั่งยืน และ ช่วยกันดูแล รักษาผืนป่า