ข่าว

เปิดตลาดสด..อาวุธสงคราม

เปิดตลาดสด..อาวุธสงคราม

24 เม.ย. 2552

"อาวุธสงคราม" นอกจากจะมาจากหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะทหาร-ตำรวจแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากตลาดค้าอาวุธตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา แม้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาจะเข้มงวดกวดขันขนาดไหนก็ยังมีเล็ดลอดเข้ามาอย่างต่อเนื่อง !?!

 ตัวอย่างที่เห็นชัดสุดตอนนี้คือคดีลอบสังหาร "สนธิ ลิ้มทองกุล" แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เหล่าทัพยืนยันว่าไม่ใช่ฝีมือทหาร ไม่ใช่อาวุธสงครามที่ใช้ประจำการอยู่ ตำรวจเองก็เสียงแข็งว่ารหัสที่พบบนแกนกระสุนไม่มีใช้ในราชการ

 หากเชื่อตามทั้งสองฝ่ายแล้ว อาวุธสงครามเหล่านี้มาจากไหน ถ้าไม่ใช่จากตลาดมืดตามแนวชายแดน !!!

 ตามแนวทางการสืบสวนและการข่าวของ พ.ต.อ.ภาคภูมิ สุนทรศร ผกก.1 บก.ปส.2 บช.ปส.พบว่า ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาจะมีขบวนการลักลอบค้าอาวุธสงครามอยู่จำนวนหนึ่ง นับตั้งแต่เขมรแดงถูกรัฐบาลกัมพูชาตีแตก ทำให้อาวุธสงครามหลงเหลืออยู่จำนวนมาก ส่วนหนึ่งตกอยู่ในมือของชาวบ้าน เมื่อมีผู้สนใจมาติดต่อขอซื้อก็จะนำออกมาขาย

 กระบวนการซื้อขายจะเริ่มจากผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น เช่น กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านบางคนตามหมู่บ้านชายแดน ที่มีคนรู้จักในฝั่งเขมร ทำหน้าที่เป็นนายหน้าติดต่อซื้อขายจากทหารเขมรแดง หรือชาวบ้านที่มีอาวุธสงครามไว้ในครอบครอง โดยอาวุธที่นิยมสั่งซื้อมากจะเป็นประเภทปืนอาก้า อาร์พีจี เซกาเซ่ระเบิดมือ ปืนพกสั้นมาคารอฟ (ปืนดาวแดง) และ 11 มม.

 สนนราคาจะแตกต่างกันออกไปตามสภาพและขนาด หากเป็นอาก้า เซกาเซ่ และอาร์พีจี จะมีราคาตั้งแต่กระบอกละ 2,000-3,000 บาท เมื่อกลุ่มผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นนำมาเก็บไว้รอขายต่อราคาจะเพิ่มขึ้นเป็นกระบอกละ 6,000 บาท

 ส่วนปืนสั้นมาคารอฟตกกระบอกละ 6,000-7,000 บาท นำไปขายต่อได้กระบอกละ 1 หมื่นบาท ปืนสั้นขนาด 11 มม.ราคาซื้อกระบอกละ 8,000-10,000 บาท ขายได้ราคากระบอกละ 1.2-1.5 หมื่นบาท

 ขณะที่ระเบิดมือราคาถูกกว่าแฮมเบอร์เกอร์เสียอีก แค่ลูกละ 50-100 บาทเท่านั้น นำไปขายต่อได้ราคาลูกละ 300-500 บาท !?!

 เมื่อได้อาวุธสงครามมาแล้วผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นจะเก็บไว้ รอปล่อยขายให้ผู้ที่สั่งซื้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนมีสี ทั้งตำรวจและทหาร เมื่อขายได้แล้วก็หาซื้อมาเก็บไว้ใหม่

 จากข้อมูลด้านการข่าวของ พ.ต.อ.ภาคภูมิ และ กก.1 บก.ปส.2 พบว่า อาวุธสงครามส่วนหนึ่งถูกส่งต่อไปขายยังสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อใช้ในการก่อความไม่สงบในพื้นที่ บางส่วนอาจถูกส่งต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่บางส่วนถูกเก็บไว้กับคนมีสี เพื่อเอาไว้ใช้ก่ออาชญากรรม บางกระบอกอาจจะถูกขายต่อไปเรื่อยๆ หลังก่อคดีเสร็จ จากชายแดนตะวันออกไปภาคเหนือแล้วลงใต้ กระจายไปทุกภูมิภาค ป้องกันการติดตามสาวถึงตัว

 "ในอดีตอาวุธปืนที่หาซื้อได้ง่ายจะเป็นอาวุธสงครามประเภทปืนเอ็ม 16 แต่ปัจจุบันสินค้าหายากขึ้น จึงหันมานิยมปืนอาก้าและระเบิดมือ เพราะฝั่งเขมรยังมีอยู่มาก และนิยมนำมาจำหน่ายให้กลุ่มผู้มีอิทธิพลตามแนวชายแดน โดยอาวุธที่นำออกมาจำหน่ายแต่ละครั้งจะขนมาครั้งละไม่มาก 2-3 กระบอก แต่จะใช้วิธีขนบ่อยๆ เพื่อให้ยากต่อการตรวจสอบ" พ.ต.อ.ภาคภูมิกล่าว

 เท่าที่เก็บรวบรวมข้อมูลการสืบสวนมาระยะหนึ่ง ทำให้ พ.ต.อ.ภาคภูมิ รู้เส้นทางการลำเลียงอาวุธสงครามข้ามเขตแดนไทย-กัมพูชา จุดแรกด้านจุดผ่านแดนถาวรช่องจอม-โอเสม็ด ประเทศกัมพูชา บ้านด่านพัฒนา ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์

 จุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ-เสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา บ้านแซร์ไปร์ ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ และสามเหลี่ยมมรกตหรือช่องบก ในอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย บริเวณรอยต่อพรมแดน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา และลาว ที่ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี

 โดยขบวนการลักลอบค้าอาวุธสงครามจะใช้วิธีแยกชิ้นส่วนอาวุธปืนแต่ละประเภท จากนั้นจะนำชิ้นส่วนแยกซุกซ่อนมากับสินค้าทางการเกษตร ขนส่งผ่านทางรถยนต์และเรือ เนื่องจากเจ้าหน้าที่บริเวณด่านตรวจจะไม่ค่อยเข้มงวดมากนัก จะเข้มงวดกวดขันเฉพาะเรื่องยาเสพติด ปัญหาการโจรกรรมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ผ่านแดน ทำให้การขนย้ายอาวุธสงครามไม่ได้รับการใส่ใจเท่าที่ควร

 เมื่อผ่านเข้ามาถึงประเทศไทยก็จะนำชิ้นส่วนเหล่านี้ประกอบกันอีกครั้ง ก่อนจะส่งมอบให้แก่ลูกค้า

 แม้เจ้าหน้าที่รัฐจะเข้มงวดป้องกันปราบปรามอาวุธสงครามสักเท่าใด แต่ก็ยังพบเล็ดลอดเข้ามาได้อยู่อย่างต่อเนื่อง ปัญหานี้เกิดจากความหละหลวมของเจ้าหน้าที่ หรือนโยบายรัฐที่หย่อนยานกันแน่ ?
  
 ชยานนท์  ปราณีต