
"ชินวัตร" ตระกูลการเมือง
ตลอดช่วง 4 ทศวรรษ "ชินวัตร" ตระกูลนี้ ไม่เคยห่างหายไปจากหน้าการเมืองไทย สร้างตำนานบทใหม่ เป็น "นายกรัฐมนตรี" ถึง 3 คน!
หากนับเนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของตระกูลชินวัตร ไล่เรียงมาถึง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ สามีของ เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกฯ และล่าสุดนายกฯหญิง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมแล้วก็ 3 คน
หากจะนับย้อนกันจริงๆ คงต้องว่ากันไปถึงคนใหญ่ตัวจริง อย่าง 'พ่อเลิศ ชินวัตร' ผู้บิดา ต้นธาราของลำน้ำสายใหญ่น้อยของตระกูลชินวัตร ที่ไหลวนเวียนในวงจรการเมืองไทยทุกวันนี้
ทั้งนี้ หลังจากที่ เลิศ ชินวัตร ประสบความสำเร็จเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะของพ่อค้า นักธุรกิจผู้มั่งคั่งของเมืองเชียงใหม่ ทั้งหมดนี้หมายถึงกองสมบัติมหาศาลที่จะใช้เป็นทุนสำหรับลงเล่นการเมืองได้อย่างสบาย
หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า งานการเมืองครั้งแรกของเขา คือการลงเล่นในสนามท้องถิ่น โดยพ่อเลี้ยงเลิศ ได้เข้าร่วมกลุ่ม 'เชียงใหม่ก้าวหน้า' เพื่อแข่งขันลงสมัครสมาชิกสภาจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีหัวหน้ากลุ่มคือ เจ้าชัยสุริยวงศ์ ณ เชียงใหม่ นอกจากนี้ยังมี ไกรสีห์ นิมมานเหมินทร์ และปรีดา พัฒนถาบุตร เป็นเลขาฯ กลุ่ม
กระทั่งกลุ่มเชียงใหม่ก้าวหน้าประสบความสำเร็จในการเมืองระดับท้องถิ่น และด้วยทุนฐานทางสังคมที่ เลิศ ชินวัตร มีอยู่แล้วในพื้นที่ เขาจึงได้เป็นประธานสภาจังหวัดในปี 2511
อย่างไรก็ดี ความสำเร็จของกลุ่มเชียงใหม่ก้าวหน้า มิได้เป็นไปโดยง่าย เพราะกลุ่มต้องมีการปะทะทางการเมืองกับฝ่ายค้าน หรือกลุ่มของไกรสร ตันติพงศ์ อยู่เสมอ ทั้งนี้ ตามประวัติแล้ว กลุ่มเชียงใหม่ก้าวหน้าถึงขั้นต้องเปลี่ยนชื่อกลุ่มไปสองครั้ง คือมาเป็นกลุ่มพัฒนาเวียงพิงค์ และกลุ่มประชาสันติ
ในปีถัดมา เลิศ ชินวัตร ได้ลงสมัครเลือกตั้งสนามใหญ่ในนามอิสระ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ สวมเสื้อ ส.ส.เชียงใหม่ ได้สมใจ ในการเลือกตั้ง 12 มกราคม 2512
ตำนานการเป็น ส.ส.เชียงใหม่ และเป็นหัวหน้า 'พรรคอิสระ' ในช่วงเวลาสั้นๆ ของเลิศ ชินวัตร กับพรรคอิสระที่มีแนวทางดำเนินการทางการเมืองอิสระอย่างแท้จริง ไม่ยกมือให้รัฐบาลอย่างเดียว แต่พรรคอิสระนั้น อยู่ภายใต้การดูแลของ 'เจ้าพ่อบางขนาก' ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา สมัยนั้น
ด้วยเหตุที่สังกัดพรรคผีของเจ้าพ่อบางขนาก เมื่อการเลือกตั้งต้นปี 2518 เลิศ จึงลงสู่สนามเลือกตั้งอีกในนามพรรคสังคมชาตินิยม ที่มีประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ เป็นหัวหน้าพรรค
ผลเลือกตั้ง พ.ศ.นั้น เลิศพลิกพ่ายให้คนหนุ่มโนเนม ธวัชชัย นามวงศ์พรหม สังกัดพรรคไท ขณะที่ ส.ส.รุ่นเดียวกันอย่างปรีดา พัฒนถาบุตร สอบได้ แต่อยู่กันคนละพรรค (มีข้อมูลที่ผิดพลาด โดยระบุว่า เลิศ ได้เป็น ส.ส.สมัยที่ 2 เมื่อตรวจสอบข้อมูลในบันทึกการเมืองไทย พบว่า เขาแพ้เลือกตั้ง)
เมื่อมาถึงการเลือกตั้งในปี 2519 เลิศ ชินวัตร ตัดสินใจยุติบทบาททางการเมือง เปิดทางให้น้องชาย สุรพันธ์ ชินวัตร ลงสานงานการเมืองต่อไป