ข่าว

ไทยหวังศาลโลกตัดสินไม่เอียงเขมร

ไทยหวังศาลโลกตัดสินไม่เอียงเขมร

08 ก.ค. 2554

“ชวนนท์” เผย 14 ก.ค. “กษิต” นำทีมฟังคำตัดสินศาลโลกกรณีเขมรร้องออกมาตรการชั่วคราว 3 ประเด็น เชื่อคำตัดสินจะเป็นประโยชน์กับไทย หวังศาลโลกตัดสินไม่เข้าข้างเขมร ฝากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยึดแนวทางรักษาอธิปไตยอย่างที่รัฐบาลมาร์คทำมา

        เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 8 ก.ค. นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายชวนนท์ และนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล จากนั้นเวลา 10.30 น. นายชวนนท์ เปิดเผยว่า ตนเข้ามารายงานนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(ศาลโลก) จะมีการตัดสินว่าจะออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวให้กับกัมพูชาใน 3 ประเด็นหรือไม่ในวันที่ 18 ก.ค.นี้ โดยคณะของกระทรวงการต่างประเทศ จะเดินทางไปในวันที่ 14 ก.ค.นี้ ซึ่ง 3 ประเด็นที่กัมพูชาขอให้คุ้มครองชั่วคราวคือ

         1.ขอให้ประเทศไทยถอนกำลังทหารออกจากรอบปราสาทพระวิหาร 2.หยุดกระทำกิจการทหารที่จะกระทบสิทธิและอธิปไตยของกัมพูชา และ 3.หยุดสร้างการสู้รบเขตแดนระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งข้อต่อสู้ของเราได้มีการชี้แจงไปแล้ว ว่าศาลโลกไม่มีอำนาจตัดสินเรื่องนี้ และประเทศไทยตั้งแต่ปี 2505 ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลโลกไปครบถ้วนทุกประเด็นแล้ว และขณะนี้ไม่มีความขัดแย้งในพื้นที่ไม่มีการตีความที่แตกต่างกันระหว่างไทยกับกัมพูชา ดังนั้นประเด็นที่เราชี้แจงกับศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไปเมื่อ 2 เดือนที่แล้วน่าจะทำความเข้าใจ หวังว่าคำตัดสินคดีนี้จะออกเป็นประโยชน์กับประเทศไทย

         เมื่อถามว่าหลังจากนี้ยังมีคดีหลัก แล้วแนวทางการต่อสู้คดีของรัฐบาลจะเปลี่ยนไปหรือไม่หากเปลี่ยนรัฐบาล นายชวนนท์ กล่าวว่า อย่างที่นายกรัฐมนตรีกล่าวไว้ว่าเราเห็นว่าเรื่องอธิปไตยเป็นเรื่องที่ทุกรัฐบาลควรจะมีความเห็นที่ตรงกัน เรื่องนโยบายเรื่องดำเนินการกิจการภายในนั้นแตกต่างกันได้ แต่เรื่องการรักษาแผ่นดิน อธิปไตยนั้น ตนเชื่อและหวังว่ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามาคงมีแนวทางไม่แตกต่างกับเรา สิ่งที่เราดำเนินการมา 2 ปีที่ผ่านมายืนยันว่าไม่มีนโยบายอะไรที่จะรุกรานประเทศเพื่อนบ้าน แต่เป็นเรื่องรักษาอธิปไตย รักษาประโยชน์ที่มีอยู่ของประเทศ เราหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะทำในแนวทางเดียวกัน

         เมื่อถามว่า ถ้าแนวทางที่ออกมาแตกต่างกัน จะส่งผลให้แนวทางที่เคยทำมาจะสูญเปล่าหรือไม่ นายชวนนท์ กล่าวว่า หากคำตัดสินมาตรการชั่วคราวออกมาเรียบร้อยไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ก็อาจจะส่งผลไปถึงคำร้องการตัดสินพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร ซึ่งต้องใช้เวลา 6 เดือนในการพิจารณา ถึงตรงนั้นเรื่องคำร้องการตัดสินพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร สิ่งที่รัฐบาลนี้ได้วางแนวทางไว้โดยได้ปรึกษากับที่ปรึกษากฎหมายชาวต่างชาติ และผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงการต่างประเทศ และหวังว่า รัฐบาล และรมว.ต่างประเทศคนใหม่ จะดำเนินในทิศทางที่สอดคล้องกัน

         เมื่อถามว่า การถอนตัวออกจากมรดกโลกยังไม่สมบูรณ์ แล้วรัฐบาลใหม่ต้องเดินตามแนวทางหรือไม่ นายชวนนท์ กล่าวว่า สาเหตุที่เราถอนตัวจากมรดกโลก เพราะความคลุมเครือในเรื่องของการเข้ามาบูรณะซ่อมแซม ถ้ารัฐบาลใหม่สามารถทำความเข้าใจกับมรดกโลก และกัมพูชาได้ว่าความชัดเจนคืออะไร ตนก็คิดว่ามีเหตุผลที่เขาจะตัดสินใจทางใดทางหนึ่ง แต่ขอให้ชัดเจนเรื่องรักษาอธิปไตยเท่านั้นเอง

         เมื่อถามว่าถ้าย้อนกลับไปเหมือนตอนที่นายนพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศ ลงแถลงการณ์ร่วมจะเกิดอะไรขึ้น นายชวนนท์ กล่าวว่า ต้องพิจารณาดู เพราะการมีแถลงการณ์ร่วมทำให้กัมพูชาไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้ฝ่ายเดียว และขณะนี้แผนบริหารจัดการของกัมพูชายังใช้แผนที่ 1 ต่อ 2 แสน ซึ่งทำให้ไทยเสียเปรียบ ทั้งนี้ ขอฝากรัฐบาลชุดใหม่ว่าต้องยืนยันแนวของเราที่ยึดสันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งเขตแดนไทยกัมพูชาบริเวณตัวปราสาทพระวิหาร

         เมื่อถามว่าแนวทางคำตัดสินของศาลโลกจะออกมาอย่างไร นายชวนนท์ กล่าวว่า เท่าที่ปรึกษากับที่ปรึกษาทางกฎหมายเห็นว่าศาลมีคำร้องไป 3 ข้อ ฉะนั้นศาลคงจะพิจารณาได้เพียงว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องแต่ละข้อไม่มีระดับคำตัดสิน มีเพียงรับหรือไม่รับ หรือให้หรือไม่ให้ตามที่กัมพูชาร้องไปกี่ข้อเท่านั้น

หวังศาลโลกตัดสินไม่เข้าข้างเขมร

         นายชวนนท์  กล่าวด้วยว่า ส่วนแนวโน้มคำตัดสินของศาลโลกจะออกมาอย่างไรนั้น ได้คาดการณ์ไว้ว่าน่าจะเป็นไปได้ใน 3 แนวทาง ได้แก่ ศาลโลกอนุมัติให้ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวฯ หรือ ศาลโลกไม่อนุมัติให้ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว หรือ มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ทั้งไทยและกัมพูชาจะมีภาระร่วมกัน แต่ฝ่ายไทยหวังว่า ศาลโลกจะให้ความยุติธรรมให้ไทย จะไม่มีการออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวฯ ตามที่กัมพูชาร้องขอเลย

         อย่างไรก็ตาม ผลจะออกมาอย่างไร ฝ่ายไทยก็ต้องยอมรับ ซึ่งที่ผ่านมาคณะดำเนินการด้านกฎหมายของไทยก็ทำงานกันอย่างเต็มที่ และยอมรับรัฐบาลใหม่ มีความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ดีกับกัมพูชา ทั้งนี้ที่ผ่านมา รัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวเพื่อปกป้องอธิปไตยของประเทศและปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมายที่มีอยู่อย่างถูกต้อง โดยไม่ได้ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวเพื่อประโยชน์ส่วนตัวแต่อย่างใด


เขมรถอนอาวุธออกจากชายแดน

          แหล่งข่าวจากชายแดนไทย - กัมพูชา ด้าน จ.สุรินทร์ กล่าวว่า   หลังจากที่กัมพูชาเคยนำยุทโธปกรณ์ มาตรึงกำลังไว้ที่ชายแดน  เพื่อแสดงถึงความพร้อมในการที่จะเผชิญหน้ากับไทย แต่ภายหลังจากที่สถานการณ์ทางการเมืองในไทย เปลี่ยนไป ทำให้พบความเคลื่อนไหวจากทางฝั่งกัมพูชากล่าวคือ  จากเดิมที่เคยตั้งปืนไปยังแนวหน้าของฝั่งไทยแบบประชิดเขตแดนนนั้น  แต่ล่าสุดก็มีการนำถอยออกไปตั้งห่างชายแดนอีกมากพอสมควร  ส่วนรถถัง จำนวน 4 คัน ยังคงไว้ที่ฐานโอทะมอร์ ฝั่งตรงข้ามตลาดช่องสะงำห่างออกไปประมาณ 3-4 กิโลเมตร   ขณะที่นายทหารระดับผู้คุมกองพัน กองร้อยที่อยู่แนวชายแดนช่องสะงำยาวถึงอำเภอขุนหาญ ก็ข้ามพรมแดนมาฝั่งไทย  ถือได้ว่าบรรยากาศโดยทั่วไปผ่อนคลายขึ้น

 

เขมรฉลอง3ปีพระวิหารห่างชายแดน

          แหล่งข่าวตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชาด้านเขาพระวิหาร อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ  เปิดเผยว่า ตลอดทั้งคืนที่ผ่านมามีรายงานแจ้งว่าชาวกัมพูชาได้จัดพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 3 ปีปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนมรดกโลกขึ้นที่หมู่บ้านธรรมชาติสมเด็จเดโชฮุน  เซน  ซึ่งหมู่บ้านที่สร้างขึ้นให้กับครอบครัวทหาร ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดนเขาพระวิหารห่างปราสาทฯประมาณ 10  กม.  โดยงานฉลองดังกล่าวจัดขึ้นไม่ได้ใหญ่โต  เหมือนคำให้สัมภาษณ์ของนายไพ  ซี  พาน เลขาธิการและโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชาที่บอกว่าจะมาจัดเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ที่บริเวณปราสาทพระวิหาร  แต่เป็นการจัดงานเลี้ยงฉลองเล็ก ๆน้อย ๆ และไม่มีผู้นำสำคัญ ๆเดินทางมาร่วม มีเพียงนายจุด   เพือน ประธานสำนักงานบริหารจัดการปราสาทพระวิหาร มาเป็นประธานเปิดงาน มีนายอม  มารา  ผู้ว่าราชการจังหวัดพระวิหาร  และพล.อ.เจีย  ดารา  รอง  ผู้บัญชาการทหารภูมิภาคที่ 4   นายทหาร และพลทหารกัมพูชาที่ปฏิบัติหน้าที่บริเวณชาแดนเขาพระวิหารเข้าร่วม โดยบรรยากาศมีการดื่มฉลองและรำวงกันอย่างสนุกสนานตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา

          แหล่งข่าววิเคราะห์ว่า สาเหตุที่กัมพูชาปรับเปลี่ยนสถานที่จัดงานจากเดิมว่าจะจัดอย่างยิ่งใหญ่ที่ปราสาทพระวิหาร แต่กลับไปจัดที่หมู่บ้านธรรมชาติเดโช  แทน เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังจะมีรัฐบาลใหม่  ซึ่งเป็นรัฐบาลภายใต้การนำของกลุ่มเสื้อแดง โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร ซึ่งมีความสนิทสนมเป็นการส่วนตัวกับสมเด็จฮุน  เซนอยู่เบื้องหลัง ดังนั้นระหว่างที่ยังไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการกัมพูชาจึงเลือกที่จะยุติการเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมใด ๆที่จะส่งผลให้บรรยากาศชายแดนตึงเครียดขึ้นมาอีก

          นอกจากนี้แหล่งข่าวยังเปิดเผยอีกว่า อีกเหตุผลหนึ่งคือในวันที่ 18 ก.ค. 54 ที่จะถึงนี้นายฮอ  นำฮง รัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชาเตรียมตัวจะเดินทางไปฟังผลคำสั่งมาตรการชั่วคราวที่ได้ยื่นต่อศาลโลกไว้เมื่อวันที่  28 เม.ย. 54 ที่ผ่านมาเพื่อขอให้ศาลโลกตีความคำตัดสินกรณีปราสาทพระวิหารเมื่อ พ.ศ. 2505 ใหม่อีกครั้ง  โดยศาลโลกได้เรียกตัวแทนทั้งสองประเทศเข้ารับฟังและชี้แจงกรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 - 31 พ.ค. 54 โดยมาตรการชั่วคราวที่กัมพูชาเสนอต่อศาลโลกคือ 1. ให้ไทยถอนทหารออกจากพื้นที่ปราสาทพระวิหารในทันที โดยปราศจากเงื่อนไข  2 . ห้ามไม่ให้ไทยมีกิจกรรมทางทหารบนพื้นที่ปราสาทพระวิหาร และ 3. ห้ามทุกกิจกรรมของไทยที่จะกระทบสิทธิ์ของกัมพูชา หรือต่อการพิจารณาคำร้อง