
กกต.จับตาคืนหมาหอนพับเพียบชวนไปใช้สิทธิ์
ปธ. กกต. ชี้ใบแดงไม่จำเป็นต้องออกก่อนเลือกตั้ง เตือนตำรวจวางตัวเป็นกลาง เผยจับตาคืนหมาหอน ระบุมีบัญชีหัวคะแนนทั่วประเทศแล้ว "สดศรี"ระบุกกต.ยินดีให้ต่างชาติเข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ระบุติดสินบนสื่อเสนอข่าวอาจเข้าข่ายใส่ร้าย "วิม"รองโฆษกพท.ยันไม่คิดฆ่าส
(1ก.ค.) นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกกต. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการพิจารณาตัดสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง)ของผู้สมัครส.ส.ศรีสะเกษ ว่า ขณะนี้ตนได้รับเอกสารข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ส่วนจะพิจารณาให้ใบแดงได้หรือไม่จะต้องเข้าที่ประชุมกกต.ก่อน ส่วนกรณีที่ผู้สมัครส.ส.บุรีรัมย์ที่อาจเข้าข่ายประทำผิดกฎหมายเลือกตั้งนั้น กกต.จว.บุรีรัมย์ยังไม่ได้ส่งรายงานกลับมา ทั้งนี้ยังมีความเป็นไปได้ในการแจกใบแดงแต่ไม่จำเป็นต้องแจกก่อนวันเลือกตั้ง เนื่องจากกกต.ยังมีระยะเวลาอีก 30 วันนับแต่วันเลือกตั้งก่อนที่จะประกาศผลการเลือกตั้ง
นายอภิชาต ยังกล่าวถึงกรณีการโยกย้ายพล.ต.ต.รณพงษ์ ทรายแก้ว ผบก.ภ.จว.สุรินทร์ ออกนอกพื้นที่ว่า ตนทราบจากข่าวว่าได้มีการย้ายพล.ต.ต.รณพงษ์ไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ขอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะข้าราชการและเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องมีความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่และวางตัวเป็นกลางทางการเมือง นอกจากนี้ในส่วนของกรณีที่นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำเสื้อหลากสี จะยื่นฟ้องกกต.ต่อศาลในโทษฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 นั้น หากมีการฟ้องตนจริงตนก็พร้อมที่จะเข้าชี้แจงต่อศาลตามกระบวนการยุติธรรม
เผยจับตาคืนหมาหอนระบุมีบัญชีหัวคะแนนทั่วประเทศ
นายอภิชาต กล่าวถึงสถานการณ์การเลือกตั้งว่า ขณะนี้สถานการณ์อยู่ในภาวะปกติไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงและไม่หนักใจ โดยเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ตนได้ลงพื้นที่ในพื้นที่จ.อุบลราชธานี ร่วมกับพล.ต.ท. ระพีพัฒน์ ปาละวงศ์ ผู้ช่วยผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าชุดป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานที่มีกระแสข่าวว่าจะมีการขนเงินเตรียมไปซื้อเสียงหลายจุดและอาจจะมีความรุนแรง ซึ่งตนได้ลงพื้นที่ภาคสีสานที่คิดว่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นหลายพื้นที่ แต่เมื่อลงไปกลับพบว่าไม่มีความรุนแรง และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้สนธิกำลังร่วมกับกกต.จังหวัดลงพื้นที่ทุกตำบลและทุกอำเภอ ตรวจสอบเรื่องความรุนแรงและการซื้อสิทธิขายเสียง ส่วนการขนเงินโดยเฉพาะการถอนเงินจากธนาคารในจำนวนมากนั้นยังไม่พบ แต่อาจจะมีการขนเงินสดผ่านหัวคะแนนของพรรคการเมืองไปซื้อเสียงในคืนหมาหอน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเฝ้าระวังและจับตาความเคลื่อนไหวอย่างเต็มที่
“ขณะนี้ผมมีบัญชีรายชื่อหัวคะแนนทั่วประเทศที่มีพฤติกรรมส่อกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เรารู้ว่าเป็นใครบ้างที่มีพฤติกรรมทำผิดกฎหมาย รวมทั้งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษว่าจะมีการขนเงินไปซื้อเสียงในคืนหมาหอน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานที่มีการรายงานเข้ามามากที่สุดว่าอาจมีการซื้อเสียง เพราะหัวคะแนนคิดว่าเงินไม่มากาไม่เป็น ” ประธานกกต. กล่าว
นายอภิชาต กล่าวต่อว่า ในวันนี้ (1 ก.ค.) ยังได้มีการประชุมร่วมกับผู้สังเกตการณ์นานาชาติ โดยเฉพาะในประเทศอาเซียน โดยได้มีการสอบถามถึงสถานการณ์การเลือกตั้งของไทยโดยทั่วไป และยังได้มีการพูดคุยถึงเรื่องการซื้อสิทธิ์ขายสียง ซึ่งถือว่าเป็นความจริงที่ต้องพูดให้คณะสังเกตการณ์ได้รับทราบ ซึ่งเราก็ได้พยายามแก้ไข นอกจากนี้ทางกกต.ยังให้เยาวชนเข้ามาช่วยในการจัดการเลือกตั้ง เข้าใจถึงปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง อีกทั้งทางคณะผู้สังเกตการณ์ไม่ได้มีการซักถามอะไรเป็นพิเศษและไม่ได้ห่วงเรื่องะไรเป็นพิเศษเช่นกัน เนื่องจากกกต.ได้มีการอธิบายขั้นตอนการเลือกตั้งของไทย
ยินดีให้ต่างชาติเข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้ง
นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวถึงกรณีสมาชิกรัฐสภาของสหรัฐอเมริกาลงนามจดหมายเปิดผนึกถึงนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่า การกระทรวงการต่างประเทศเพื่อให้ส่งทีมงานเข้ามาตรวจสอบการเลือกตั้งของไทยว่า หากต่างประเทศมีความประสงค์จะส่งคณะสังเกตการณ์มาดูเลือกตั้งกกต.ก็ยินดีให้ดูเลือกตั้งได้ ทั้งนี้มี 11 ประเทศได้ส่งผู้แทนเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งแล้วตามที่กกต.ได้เชิญ ส่วนประเทศอื่นยังไม่มีการเทียบเชิญแต่กกต.สามารถให้ประเทศที่ประสงค์สังเกตการณ์เลือกตั้งให้เข้ามาดูการเลือกตั้งได้ และขณะนี้ทราบว่าสหรัฐอเมริกาก็ได้ประสานติดต่อเข้ามาเพื่อสังเกตการณ์การเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้แล้ว
นางสดศรี กล่าวว่า เหตุผลที่สหรัฐฯส่งผู้แทนเข้ามาสังเกตการณ์นั้นไม่ได้มีความเป็นห่วงเรื่องใดเป็นกรณีพิเศษ แต่การเข้ามาสังเกตการณ์ครั้งนี้ก็เหมือนกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2550 ที่เคยมีการส่งผู้แทนเข้ามาดูการเลือกตั้งอยู่แล้ว เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่ทางสหรัฐฯไม่ต้องการให้มีการปฏิวัติรัฐประหารแต่ต้องการประชาธิปไตยที่ถูกต้องและต้องการดูนักการเมืองของไทยว่ามีการซื้อสิทธิขายเสียงหรือไม่ โดยการเลือกตั้งครั้งนี้กกต.ยืนยันว่ามีความโปร่งใสในการจัดเลือกตั้งตรวจสอบได้ เพราะหากกกต.ไม่ยอมให้มีการส่งผู้แทนเข้ามาสังเกตการณ์ก็จะมองว่าไม่มีความโปร่งใสได้ ทั้งนี้ยินดีให้ทุกประเทศเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งได้เพื่อที่กกต.จะได้ประสานคนให้ช่วยอธิบายเมื่อต้องการลงพื้นที่และยังจะประสานให้กระทรวงการต่างประเทศให้ส่งคนมาช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ประเทศที่ประสงค์จะดูการเลือกตั้งด้วย
"ส่วนเรื่องความรุนแรงหลังการเลือกตั้งนั้นกกต.ได้ประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.)แล้วขณะนี้กกต.ไม่กังวลในเรื่องความรุนแรงอีกทั้งจะมีการเลือกตั้งแล้วถ้าจะมากำจัดคู่ต่อสู้กันในขณะนี้ก็คงไม่มีประโยชน์" นางสดศรี กล่าว
ระบุติดสินบนสื่อเสนอข่าวอาจเข้าข่ายใส่ร้าย
นางสดศรี สัตยธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีทีมีข่าวออกมาว่าพรรคการเมืองได้มีการจัดเงินให้สื่อมวลชนเพื่อให้ลงข่าวและภาพเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง ว่า กรณีดังกล่าวมองได้ 2 ด้านและต้องมีการร้องเรียนเข้ามาว่าเป็นการใส่ร้ายป้ายสี หรือทำให้ใครเสื่อมเสียซื่อเสียงหรือไม่ หรือมีการใช้อิทธิพลข่มขู่ หรือมีการใช้สื่อมาช่วยในการหาเสียงจ่ายเงินกันจริงหรือไม่ ทั้งนี้หากร้องเข้ามาก็จะต้องมีการตรวจสอบ ส่วนเรื่องการซื้อเสียงสื่อก็ถามกกต.มาตลอดว่า มีการซื้อเสียงกัน แต่กกต.ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ทั้งๆที่กกต.ไม่สามารถไปจับกุมใครได้ และเรื่องก็ยังไม่รู้ว่าเป็นจริงหรือไม่ หากสื่อรู้ก็ช่วยแจ้งเข้ามาด้วย และสื่อมวลชนก็เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งที่สำคัญ หากมีการทุจริตซื้อเสียงก็ขอให้ส่งเข้ามาและแจ้งเบาะแสที่ชัดเจนให้ถูกต้อง จะได้ดำเนินการ
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีดังกล่าวที่พรรคการเมืองให้เงินสื่อมวลชนเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้งใดหรือไม่ นางสดศรี กล่าวว่า ในมาตรา 53 ระบุไว้ว่า “ผู้ใด” ซึ่งหากมีการกระทำผิดของสื่อมวลชนก็ถือได้ว่าเข้าข่ายคำว่าผู้ใด กรณีดังกล่าวได้มีการว่าจ้างกันไปในทางการลงข้อความใส่ร้ายป้ายสี หรือมีการช่วยเหลือกันหรือไม่ และตามระเบียบกกต.ทำไม่ได้ นอกจากนี้ก็ห้ามในส่วนของสถานีวิทยุ ผู้สมัครจะไปโฆษณาหาเสียงนอกเหนือจากที่กกต.ได้จัดสรรเวลาให้ไม่ได้ เพราะเป็นสื่อของรัฐ ไม่ให้มีการออกซื้อสปอตโฆษณา แต่การโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ไม่ได้ห้าม
นางสดศรีกล่าวต่อว่าอย่างไรก็ตามตนจะตอบตอนนี้ไม่ได้เข้าข่ายผิดหรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป ส่วนกรณีที่มีการจัดเลี้ยงให้สื่อมวลชนติดตามไปทำข่าวนั้นก็ต้องดูว่า เป็นการกระทำให้เกิดเป็นการจูงใจให้ได้มาซึ่ีงคะแนนเสียงหรือไม่ หากมีการให้เงินเพื่อติดตามไปทำข่าวตลอดเวลาถือเป็นผู้ช่วยหาเสียงของพรรคการเมืองหรือผู้สมัครหรือไม่ และหากเป็นการติดตามไปเพื่อช่วยพรรคการเมืองหาเสียงเป็นทีมงานก็ต้องแจ้งมายังกกต. ตามที่กฎหมายกำหนดไว้
“ส่วนจะเหมาะสมหรือไม่เรื่องนี้สื่อมวลชนเองควรที่จะต้องไปตรวจสอบกันเอง เพราะสื่อเองก็มีเรื่องของจริยธรรม และจรรยาบรรณในการควบคุมกันอยู่แล้วก็ต้องมาดูและกันเองว่ามีบุคคลใดบ้างที่ทำงานนอกกรอบหรือไม่ กกต.จะไม่ไปควบคุม เพราะกกต.มีหน้าที่ดูว่ามีการไปใส่ร้ายป้ายสีกันหรือไม่ เท่านั้นเอง “นางสดศรี กล่าว
วิม"รองโฆษกพท.ยันไม่คิดฆ่าสื่อ
นายวิม รุ่งวัฒนจินดา รองโฆษกพรรคและผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับ108 พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอยืนยันว่าไม่ได้เป็นคนเขียนข้อความที่มีการกล่าวหาสื่อตามที่ปรากฎในเว็บไซต์ ทั้งนี้ตนเชื่อว่ามีคนจงใจกลั่นแกล้งแน่นอน เพราะอีเมล์ของตนได้เปิดให้ทีมงานหลายคนเข้ามาใช้ในการรับส่งข้อมูล การทำกิจกรรมทางการเมืองของนส.ยิ่งลักษณ์ ในช่วงที่หาเสียงเลือกตั้ง ในฐานะที่เคยอยู่วงการสื่อมาร่วม 20 ปี ยังเชื่อว่าสื่อทุกคนมีเกียรติยศและศักดิ์ศรีคงไม่รับเงิน 20,000 บาท เพื่อที่จะต้องลงข่าวให้ แม้จะออกจากวงการสื่อมานานแล้ว แต่ก็ยังเคารพพี่ๆน้องๆสื่อที่มีความคุ้นเคยกันเหมือนเดิม
“ผมไม่มีความคิดที่จะฆ่าสื่อ ด้วยวิธีอย่างนี้แน่นอน”นายวิม กล่าว
เชียงใหม่นั่งพับเพียบร่วมรณรงค์เลือกตั้ง
เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 1 กรกฎาคม สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจ.เชียงใหม (กกต.) ร่วมกับคณกรรมการ่วมภาคเอกชนจ.เชียงใหม่ และสถาบันการศึกษาในจ.เชียงใหม่ จัดโครงการ"คนรุ่นใหม่สร้างจิตสำนึกรักประชาธิปไตย" ณ ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ อ.เมือง และรอบคูเมืองเชียงใหม่รวม 4 จุด คือ แจ่งขะต้ำ แจ้งกู่เฮือง แจ่งหัวลิน และแจ่งศรีภูมิ โดยมีนักเรียน-นักศึกษากว่า 2 พันคนจากสถาบันการศึกษาต่างๆเข้าร่วม มีการถือป้ายและโบกธง เพื่อรณรงค์และเชิญชวนชาวเชียงใหม่ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้
นอกจากนี้ที่ลานข่วงอนุสาวรีย์สามกษัตริย์มีการจัดกิจกรรมนั่งพับเพียบไทยแลนด์ สร้างสถิติเพื่อร่วมณรงค์การเลือกตั้ง และแถลงการณ์"สร้างจิตสำนึกรักชาติรักประชาธิปไตยสู่โค้งสุดท้ายการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร 2554" โดยมีนายสุรชัย จงรักษ์ ปลัดจ.เชียงใหม่เป็นประธานในพิธี มีประชาชน ภาคเอกชน นักเรียน นักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก
พรรคประชาสันติเผยคนถูกตัดสิทธิ์ไม่ควรยุ่งเกี่ยวการเมือง
นายเสรี สุวรรณภานนท์ หัวหน้าพรรคประชาสันติ กล่าวว่า หลังเลือกตั้งแล้วคนที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่อยู่บนปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมาความขัดแย้งและความยุ่งเหยิงในบ้านเมืองที่ไม่จบสิ้นล้วนอยู่กับการสั่งการของคนที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองดังกล่าวแทบทั้งสิ้น
นายเสรี กล่าวต่อว่า เจตนารมณ์ของการตัดสิทธิ์ทางการเมือง มีความต้องการที่จะแยกคนที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองออกไปจากทางการเมืองระยะหนึ่ง เพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะไม่ไปทำผิดทางการเมืองหรือไปเกี่ยวข้องกับการเมืองระยะเวลาหนึ่ง เหมือนกับเป็นการถูกควบคุมความประพฤติ ซึ่งหากพ้นเวลาที่กำหนดไว้แล้ว ก็สามารถกลับเข้ามาสู่ทางการเมืองใหม่ได้ แต่ในขณะที่ถูกจำกัดสิทธิ์ จึงไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองในขณะที่ถูกตัดสิทธิ์ดังกล่าว
“ไม่ใช่รังเกียจ แต่เป็นข้อเสนอที่ต้องการแก้ปัญหาบ้านเมืองมากกว่า ซึ่งหากต้องการให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยจริง ก็ควรปล่อยให้คนที่รับเลือกตั้งเข้ามาเขาตัดสินใจกันเอง น่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ซึ่งเหลือระยะเวลาอีกไม่กี่เดือนก็จะพ้นเวลาการถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองของกลุ่ม 111 คนแล้ว หลังจากนั้นค่อยมาว่ากันอีกทีก็ไม่สาย” นายเสรี กล่าว