ข่าว

ถนนสายต้นยาง-ขี้เหล็ก เชียงใหม่-ลำพูน

ถนนสายต้นยาง-ขี้เหล็ก เชียงใหม่-ลำพูน

29 มิ.ย. 2554

ถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน หรือถนนสายต้นยาง เป็นถนนเลียบแม่น้ำปิงห่าง มีต้นยางนาและต้นขี้เหล็กขึ้นเรียงราย เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 ในเขต อ.เมือง, อ.สารภี จ.เชียงใหม่ และ อ.เมือง จ.ลำพูน

 แม่น้ำปิงห่าง คือแม่น้ำปิงสายเก่า เชื่อมเวียงกุมกามกับหริภุญชัย เป็นเส้นทางคมนาคมใช้ติดต่อระหว่างเชียงใหม่กับลำพูน เมื่อเกิดน้ำท่วมเวียงกุมกามครั้งใหญ่ ทำให้แม่น้ำปิงสายเก่าเปลี่ยนเส้นทางจากที่เคยไหลไปด้านตะวันออกของเวียงกุมกาม มาเป็นด้านตะวันตกกลายเป็นแนวแม่น้ำปิงปัจจุบัน ซึ่ง “ห่าง” ออกไปจากเดิม

 ยางนา เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ต้นตรง เปลือกเรียบหนา สีเทา เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ดอกสีชมพู นิยมใช้ก่อสร้างและทำไม้อัด น้ำมันยางใช้ทำไต้ (จุดไฟ) ยาเรือ น้ำมันทาบ้าน อุตสาหกรรมทำร่ม รวมทั้งใช้เป็นยารักษาโรค

 ขี้เหล็ก เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงปานกลาง ลำต้นคดงอเป็นปุ่ม เปลือกสีน้ำตาลถึงดำ ยอดอ่อนสีแดงเรื่อ ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับกัน ดอกช่อสีเหลือง ดอกและใบใช้เป็นอาหาร เป็นสมุนไพรรักษาโรค เช่น แก้ท้องผูก ช่วยเจริญอาหาร บำรุงโลหิต ฯลฯ

 สมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ.2438 พระยาทรงสุรเดช (อั้น บุนนาค) ข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวเฉียง ให้สร้างถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน เริ่มตั้งแต่เชิงสะพานนวรัฐ เลียบแนวแม่น้ำปิงห่างที่วัดกู่ขาวจนถึงเมืองลำพูน นับเป็นถนนสายแรกที่เป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อระหว่างเมืองเชียงใหม่และลำพูน

 ต้นยางนาและต้นขี้เหล็กบนถนนสายนี้ คาดว่าปลูกราว พ.ศ.2445 โดยเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ข้าหลวงสิทธิ์ขาดมณฑลพายัพคนแรก มีนโยบายท้องถิ่นเรียก “น้ำต้องกองต๋ำ” พัฒนาคูคลองและถนนหนทาง ได้นำต้นยางมาปลูกตลอดสองข้างทางถนนเชียงใหม่-ลำพูน และปลูกต้นขี้เหล็กบริเวณถนนเข้าเขตเมืองลำพูน ตลอดเส้นทางจำนวนกว่าพันต้น ปลูกเป็นแถวอย่างมีระเบียบ โดยมอบหมายให้ชาวบ้านและท้องถิ่นช่วยกันดูแล

 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมประกาศถนนสายนี้เป็นถนนอนุรักษ์ธรรมชาติและประวัติศาสตร์ เพื่ออนุรักษ์ต้นยางนาและขี้เหล็กโบราณ

"เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"