ข่าว

เขมรขุดบังเกอร์ประยุทธ์ฮึ่มรุกล้ำยิง

เขมรขุดบังเกอร์ประยุทธ์ฮึ่มรุกล้ำยิง

27 มิ.ย. 2554

ทหารยันปกป้องอธิปไตยของไทยรอบปราสาทเขาพระวิหาร พบทหารเขมรทั้งทำบังเกอร์และเคลื่อนกำลังคน รถถังประชิดชายแดน ชาวเขมรตื่นสื่อวิทยุเขมรโหมกระแสกล่าวหาไทยสันดานไม่ดี ผบ.ทบ. สั่งการหากถูกรุกล้ำก่อนให้ใช้อาวุธได้ทันที “สุรเกียรติ์” ค้านไทยถอนตัวภาคีมรดกโลก ชี

 เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. พ.อ.ธนศักดิ์ มิตรภานนท์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารพรานที่ 23 เปิดเผยว่า ตนได้เดินทางขึ้นมาตรวจกองกำลังที่เฝ้าสังเกตการณ์อยู่ที่บนฐานผามออีแดง ภายหลังได้รับรายงานการเคลื่อนไหวของกองกำลังทหารฝ่ายกัมพูชา ที่บนเขาพระวิหารพื้นที่โดยรอบ โดยพบว่าสร้างหลุมหลบภัย การเคลื่อนกองกำลัง รถถัง อื่นๆ เข้ามาประชิดชายแดน ตนเองพร้อมกองกำลังก็พร้อมที่จะปกป้องอธิปไตยของไทยหากใครจะมารุกราน พร้อมรบทุกรูปแบบ โดยวันนี้แทบไม่ต้องถามกันแล้วว่ากองกำลังใครมีเท่าใด พร้อมมากไหม ตนขอยืนยันว่าพร้อมมาก ทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ทุกอย่าง

 "ฝากถึงแนวหลังขอให้ไว้ใจพวกเราที่อยู่แนวหน้า เพราะหากเกิดอะไรขึ้นเราต้องรักษาอธิปไตยของเราไว้ก่อนอย่างแน่นอน ทหารของเราฝึกมาเพื่อรบ ส่วนแผนการเสนอของกัมพูชาต่อมรดกโลกจะออกมาเช่นไร เขาจะยอมรับหรือไม่อย่างไรเราไม่ทราบทหารเรามีหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของเราไว้เท่านั้น"พ.อ.ธนศักดิ์ กล่าว

 นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้ลงพื้นที่หมู่บ้านภูมิซรอล และหมู่บ้านตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา โดยเปิดเผยว่า ยอมรับว่าขวัญกำลังราษฎรตามแนวชายแดนเริ่มหวาดวิตกเพิ่มขึ้น หลังจากที่ได้รับทราบข่าวการถอดตัวจากภาคีมรดกโลก ทหารตรึงกำลังเข้ม ซึ่งตนได้บอกราษฎรที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนว่า อย่าได้วิตกไปก่อนเพราะอาจจะไม่เกิดอะไรขึ้นเลยก็ได้ ขณะนี้รัฐบาลกำลังแก้ไขปัญหาอยู่ แต่หากเกิดเหตุรุนแรงขึ้นขอรับฟังข่าวสารผ่านหอกระจายข่าว ที่ตนเองจะแจ้งบอกเตือนชาวบ้านให้อพยพได้ทันที ซึ่งความพร้อมในการอพยพได้เตรียมไว้หมดแล้ว ทั้งแผนของสถานที่รับชาวบ้านเข้าศูนย์พักพิงชั่วคราว แผนการดูแล แผนการเคลื่อนย้ายอพยพตามเส้นทางที่จะปลอดภัย แผนการดูแลหมู่บ้านขณะที่อพยพชาวบ้านออกไปหมด เราได้อบรมชุด ชรบ.และชุด อปพร.ไว้พร้อมหมดแล้ว แต่เชื่อว่าเหตุการณ์จะไม่เกิดรุนแรงอีกเช่นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านตามแนวชายแดนได้มีการเตรียมการเก็บข้าวของใส่ถุงปุ๋ย ใส่กระเป๋า โทรศัพท์ติดต่อญาติพี่น้องที่อยู่ยังต่างจังหวัด ต่างอำเภอที่ห่างจากชายแดนไว้แล้ว หากเกิดเหตุใดๆจะขอไปพักพิงอาศัยอยู่ด้วยพร้อมกับการเตรียมรถยนต์ รถจักรยายนต์ รวมทั้งบางครอบครัวได้ย้ายบิดา-มารดา ที่แก่ชราออกมากันแล้วในช่วงนี้

ทหารเขมรเร่งสร้างหลุมหลบภัยใกล้ปราสาทตาควาย

          ความเคลื่อนไหว ของทหารกัมพูชา ด้านตรงข้ามกับพื้นที่ อ.กาบเชิง อ.พนมดงรัก โดยเฉพาะบริเวณใกล้กับปราสาท ตาควาย ทหารช่างของไทยที่ทำการก่อสร้างถนนเข้าไปยังพื้นที่ปราสาทตาควาย บ้านไทยนิยมพัฒนา ต.บักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ พบว่าทหารกัมพูชาจำนวนมากคาดว่าน่าจะมีกำลังกว่า 300 นาย พากันเร่งขุดหลุมบังเกอร์ และ ตั้งฐานปืนใหญ่ หันกระบอกปืนมาฝั่งไทย ทหารกัมพูชาได้ตะโกนสั่งห้ามทหารไทยไปยืนดูการสร้างหลุมหลบภัย ส่วนบริเวณตรงข้าม ช่องกร่าง บ้านหนองตาเลิฟ ต.บักได และ ที่ตั้งทหารกัมพูชา ตรงข้าม ปราสาทตาเมือนธม บ้านหนองคันนา ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ทหารกัมพูชา มีการเคลื่อนไหวและนำกำลังพลเข้าเสริมพื้นที่ เป็นจำนวนมากเช่นกัน

 ด้านประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้พื้นที่ ชายแดนไทย-กัมพูชา ในพื้นที่ อ.พนมดงรัก อ.กาบเชิง อ.สังขะ อ.บัวเชด จ.สุรินทร์ เจ้าหน้าที่ทหารและกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้แจ้งเตือนให้ประชาชน ได้รับทราบสถานการณ์ชายแดนอย่างต่อเนื่อง พร้อมระบุว่า สถานการณ์ชายแดนขณะนี้ ยังไม่มีเหตุรุนแรง แต่ก็ขอให้ประชาชนทุกหมู่บ้านอยู่ ในสภาพเตรียมพร้อม เก็บสิ่งของที่มีค่า ติดตัวออกจากบ้าน หากมีเหตุการณ์รุนแรงขึ้น พร้อมทั้งเข้าจุดนับพบ ประจำหมู่บ้าน และเดินทางไปยังศูนย์อพยพ ที่ทางอำเภอ ทุกแห่งได้จัดเตรียมไว้รองรับ แต่ขณะนี้ประชาชนยังสามารถใช้ชีวิตเป็นปกติ

สื่อเขมรโจมตีไทยสันดานไม่ดีชาวเขมรแตกตื่น

 เมื่อเวลา 12.00 น.ที่บริเวณด่านพรมแดนอรัญประเทศ จ.สระแก้ว และตลาดปอยเปต ฝั่งกัมพูชา ได้มีชาวเขมรจำนวนมากต่างออกมาหาซื้อหนังสือพิมพ์กัมพูชาทะมัย ของกัมพูชา มาอ่านกันอย่างคึกคักโดยมีการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนานา ส่วนใหญ่ได้วิจารณ์วิตกกังวลว่าไทยและกัมพูชาอาจเปิดสงครามสู้รบกันบริเวณชายแดนปราสาทพระวิหารอีกครั้ง ซึ่งอาจรุกลามทำให้ด่านพรมแดนไทย-กัมพูชา ด้านชายแดนอรัญประเทศ ถูกสั่งปิดไปด้วย

 สาเหตุของการตื่นตกใจของชาวกัมพูชาที่เข้ามาค้าขายในตลาดโรงเกลือ ฝั่งไทยและในตลาดปอยเปต ฝั่งกัมพูชา ในครั้งนี้ นายเอง(ไม่ยอมเผยนามสกุล)อายุ 46 ปี พ่อค้าชาวกัมพูชาในตลาดปอยเปต เผยว่าในช่วงสายของวันนี้สถานีวิทยุท้องถิ่นกัมพูชา ซึ่งรับฟังได้ในตลาดปอยเปต ได้รายงานข่าวการถอนตัวจากสมาชิกมรดกโลกของไทย ว่าไทยเป็นผู้พ่ายแพ้ต่อกัมพูชาอีกครั้ง พร้อมทั้งได้กล่าวอ้างว่า น.ส.พ.กัมพูชาทะมัย ได้เสนอข่าวว่ารัฐบาลกัมพูชาโจมตีประเทศไทยว่าเป็นคนสันดานไม่ดี พยายามทุกวิถีทางที่จะขัดขวางไม่ให้กัมพูชาเสนอแผนจัดการและพัฒนาปราสาทพระวิหารซึ่งกัมพูชาเสนอเป็นมรดกโลก แต่ไทยก็ต้องพ่ายแพ้กัมพูชาจนต้องถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกมรดกโลก โดยสื่อวิทยุกัมพูชาพยายามโหมกระแสว่าไทยเหมือนขี้แพ้ชวนตีไม่ได้อย่างใจก็งอนลาออก ซึ่งนับว่าเป็นผลดีต่อกัมพูชาที่จะได้พัฒนาและปรับปรุงปราสาทพระวิหารโดยไม่ต้องมีไทยคอยขัดขวาง นายเอง ยังเผยอีกว่าจากการรายงานของสถานีวิทยุดังกล่าวทำให้ชาวเขมรกังวลใจเป็นอย่างมากเกรงจะเกิดสงครามไทย-กัมพูชาอีกครั้ง จึงได้มีชาวเขมรออกมาหาซื้อ น.ส.พ.กัมพูชาทะมัย มาอ่านเพื่อต้องการทราบรายละเอียดกันอย่างคึกคักทำ น.ส.พ.ฯขายหมดในเวลารวดเร็ว

ผบ.ทบ.สั่งการหากถูกรุกล้ำก่อนให้ใช้อาวุธได้ทันที

 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางเยือนประเทศเกาหลีใต้ ถึงกรณีการถอนตัวจากสมาชิกภาคีมรดกโลก ว่า  คงไม่มีปัญหาอะไรถือเป็นมาตรการหนึ่งที่เราได้มีการเตรียมการไว้แล้วล่วงหน้าแล้วว่าถ้าเกิดเหตุแบบนี้แล้วนี้จะทำอะไรต่อไป ทั้งนี้ปัญหาเกิดขึ้นในเรื่องของการเสนอวาระเข้าไปในการประชุม  เท่าที่ทราบจากการรายงานในขั้นตอนหมายความว่าจะขอเลื่อนการพิจารณาดังกล่าวไปก่อน แต่ปรากฎว่าประเทศกัมพูชาจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่วาระเพื่อเข้าพิจารณาเลย ซึ่งอาจจะเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งระหว่างประเทศงต้องถอนตัวออกมา หลังจากนั้นคงจะต้องหาทางแก้ไขปัญหากันต่อไปโดยเรามีหลายช่องทางในการแก้ไขปัญหาด้วยกัน

 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สำหรับการดูแลสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชานั้น ทางกองทัพบกได้ดำเนินการมาแล้วอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปะทะกัน เราได้เพิ่มเติมกำลัง และ ปรับกำลังตลอดเวลา โดยเฉพาะการจัดเตรียมสถานที่กำบังเพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากการปฏิบัติหน้าที่ของกำลังพล ขณะที่ทางกัมพูชาเองก็ได้มีการเตรียมป้องกันไว้เช่นกัน ทั้งนี้ฝ่ายเราจะต้องเตรียมการป้องกันเป็นหลักไม่ต้องการที่จะไปรุกรานใครทั้งส้ิน และที่ผ่านมาเราก็ไม่เคยเป็นคนเริ่มต้นสถานการณ์ก่อน ขณะนี้กองทัพบกก็เฝ้าติดตามสถานการณ์ และจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการผ่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมาแล้ว และกองบัญชาการกองทัพไทย โดยทั้ง 3 เหล่าทัพจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ส่วนการดูแลประชาชนตามแนวชายแดนนั้น จะให้กองทัพภาคที่ 2 ไปทำความเข้าใจ นอกจากนี้ยังได้จัดแพทย์ พยาบาล และกำลังพล เข้าไปทำความเข้าใจ และดูแลสุขภาพจิต

 “ประชาชนในพื้นที่อย่าเพิ่งตื่นตระหนก มันอาจจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็ได้ ผมแน่ใจว่าทั้ง 2 ฝ่าย ไม่มีใครอยากให้เกิดสงคราม หรือ มีการสู้รับกันเกิดขึ้น เนื่องจากมีบทเรียนกันมาแล้ว ผู้บาดเจ็บ สูญเสียคือประชาชนเป็นส่วนใหญ่ที่เดือดร้อน นอกจากนี้ยังมีทหารอีกส่วนหนึ่งที่ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต ซึ่งก็ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ทั้งนี้การเจรจาพูดคุย หรือ การทำสิ่งใดก็ตามมีขั้นตอน และ มีการแก้ไขปัญหาไปตามลำดับไม่ใช่ว่าเราจะใช้กำลังเพียงอย่างเดียว แต่หากเจรจากันไม่ได้ก็จะต้องหาวิธีกันต่อไป โดยเฉพาะการมุ่งไปสู่การประชุมระหว่างไทย-กัมพูชา ในการแก้ไขปัญหาในระดับกระทรวงกลาโหม หรือ การประชุม จีบีซี โดยจะหลีกเลี่ยงการปะทะกันให้มากที่สุด  ที่ผ่านมากองทัพบกก็ดูแลพื้นที่ตามแนวเขตแดนตามปกติ และยังไม่มีการละเมิดดินแดนต่าง ๆ โดยเราจะต้องแยกประเด็นกับการประชุม ทั้งนี้เมื่อเราถอนตัวออกแล้ว ก็จะต้องดูในเรื่องประเด็นของศาลโลกต่อไป ใ” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

 พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำว่า นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการผ่านมายัง พล.อ.ประวิตร ตลอดเวลาในเรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัยตามพื้นที่แนวชายแดนไทย-กัมพูชา และเมื่อวานนี้ท่านก็ได้สั่งการให้เข้มงวดในเรื่องของการปฏิบัติการตามแนวชายแดนทั้งกองทัพภาคที่ 1 ตั้งแต่กองกำลังจันทบุรี-ตราด ให้เข้มงวดในเรื่องการสัญจรไปมา และ งานด้านการข่าว รวมถึงการเพิ่มกำลังในพื้นที่ตรงข้าม โดยกองทัพบก กองทัพเรือ และ กองทัพอากาศ ก็ได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ ทั้งนี้ ผบ.เหล่าทัพ ยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน เพียงแต่ที่ผ่านมาเมื่อมีเหตุการณ์กระทบกระทั่งกัน ผบ.เหล่าทัพ ก็ได้มีการพูดคุยกันมาตลอด เนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน เมื่อเขตแดนติดกันและกำลังทหารก็เผชิญหน้ากันอยู่ใกล้ๆ โอกาสสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะกันก็มีอยู่ ดังนั้นมีความจำเป็นที่ผู้บังคับบัญชาจะต้องพูดคุยพบปะกันตลอด เหตุการณ์ที่ไทยถอนตัวออกจากสมาชิกภาคีมรดกโลก คงจะต้องมีการพูดคุยกันในระดับสูงก่อนว่าจะทำกันอย่างไรต่อไป ส่วนระดับล่างยังพูดคุยกันไม่ได้

 “ผมได้สั่งการไปยังกองทัพภาคที่ 2 ในการหามาตรการในดูแลพื้นที่ชายแดนให้เกิดความเข้มแข็ง และรักษาตามแผนที่เราใช้อยู่ หากมีการรุกล้ำอธิปไตยตามแนวชายแดนเข้ามาในเขตไทยก็ขอให้ใช้อาวุธได้ทันที ถ้าฝ่ายตรงข้ามมุ่งร้ายกับทหารไทยก่อน เราก็จะต้องกระทำก่อน เพราะสุ่มเสี่ยงว่าสถานการณ์ใครจะเกิดก่อนหรือหลัง ถ้าปล่อยให้เกิดก่อนก็จะเกิดอันตรายต่อฝ่ายเรา เว้นแต่ว่าเราอยู่ในพื้นที่กำบังและป้องกันได้ดีกว่าเขา กำลังพลจะต้องมีสติ และตั้งมั่นอยู่ในความถูกต้อง โดยผู้บังคับบัญชาได้ให้นโยบายชัดเจนว่าสามารถทำอะไรได้แค่ไหนอย่างไร ส่วนสปายที่ถูกจับได้นั้น อยู่ระหว่างการสอบสวน และต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งนี้ถือว่าเป็นหลักการเมื่อมีการรบกันก็จะต้องไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาอยู่ตามแนวชายแดนเพื่อหาข่าว เมื่อถูกจับได้ก็จะต้องถูกดำเนินคดี” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

ผบ.ทบ. จับมือ"สุวิทย์"พร้อมออกปากชม "เยี่ยม"

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเสร็จเรียบร้อย ซึ่งเป็นช่วงจังหวะที่ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม แถลงข่าวกรณีการยื่นหนังสือถอนตัวจากการเป็นสมาชิกภาคีมรดกโลก หลังสมาชิกภาคีมรดกโลกรับข้อเสนอของประเทศกัมพูชาในการจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหาร ได้เดินมาจับมือกับ พล.อ.ประยุทธ์ โดยมีใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส พร้อมกับกล่าวว่า “เขาพยายามเอาทุกอย่าง” ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบกลับว่า รมว.กลาโหม ได้สั่งการให้ดูแลในพื้นที่ให้ดีที่สุด รวมถึงนายกรัฐมนตรี ก็ได้โทรศัพท์มาสั่งการเช่นกัน นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวกับ นายสุวิทย์ ทิ้งทายก่อนขึ้นเครื่องว่า “เยี่ยม”

“สุรเกียรติ์”ค้านชี้เป็นการกระทำที่ไร้ประโยชน์

 นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ศาสตราภิชาน คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯคณะนิติศาสตร์ และอดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้กล่าวถึงกรณีที่ประเทศไทยถอนตัวจากการเป็นภาคีมรดกโลก ว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นข้อมูลทั้งหมด และยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ว่าจะเป็นประโยชน์อะไรกับประเทศไทย เพราะการที่เราจะกำหนดจุดยืนของเรา ถ้าเราไม่เห็นด้วยในมติคณะกรรมการมรดกโลก ก็สามารถทำได้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในเวทีระหว่างประเทศ หากมีมติอะไรที่เราไม่เห็นด้วยนอกจากเราจะขัดค้านแล้ว เรายังวอร์กเอาต์เดินออกได้ หรือที่ทำมาตามปกติเลยเราก็จะให้เขาลงบันทึกไว้ว่าเราไม่เห็นด้วย เรื่องนี้ตนยังไม่ได้เห็นเหตุผลทั้งหมดของคณะผู้เจรจาว่าการที่เราถอนตัวออกมาทั้งหมดนั้นเราได้ประโยชน์อะไร เท่าที่ฟังก็เหมือนกับว่าคณะกรรมการมรดกโลกยังไม่พิจารณาเพียงแค่เป็นการเสนอระเบียบวาระเท่านั้น อีกทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่าภายหลังเราวอร์กเอาต์แล้วสิ่งที่เราไม่พอใจเขาก็ตัดออก ซึ่งหากเป็นเช่นนี้แล้วตนยังไม่เห็นว่าจะมีประโยชน์อะไร ที่เราถอนตัวออกจากภาคีและคณะกรรการมรดกโลก หากเรายังอยู่ก็สามารถที่จะโต้แย้งฝ่ายกัมพูชาได้ตลอดเวลา

 นายสุรเกียรติ์ กล่าวด้วยว่า ภายหลังจากการเลือกตั้งวันที่ 3 ก.ค.นี้ ทุกภาคส่วนในสังคมน่าจะมีการพิจารณาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพราะกระบวนการถอนตัวนี้คงใช้ระยะเวลาอีกหลายเดือน ซึ่งเวลานี้สังคมยังไม่ได้เห็นในข้อเสนอของกัมพูชาที่ล้วงล้ำเข้ามานั้นคืออะไร อีกทั้งเราก็ยังไม่เห็นร่างข้อมติที่ยูเนสโก้นั้นมีใจความว่าอย่างไร มาดูข้อดีข้อเสียว่าคืออะไร ดังนั้นสังคมไทยยังไม่มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน อย่างไรก็ตามต้องตระหนักว่ากรรมการมรดกโลกไม่ได้เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ปักปันเขตแดน ฉะนั้นสิ่งที่เขามีมติไม่ได้มีผล โดยตรงต่อเรื่องเขตแดนหรือเรื่องอธิปไตย แต่อาจจะนำไปใช้ในเวทีอื่นได้

 “ผมเห็นคล้อยไปในทางที่ว่าหากเรายังอยู่ข้างในคณะกรรมการมรดกโลก แล้วต่อสู้ไปตลอดทั้งปีน่าจะเป็นประโยชน์ที่จะทำให้เราดูแลปกป้องผลประโยชน์ของไทย มากกว่าที่เราออกมาอยู่ข้างนอกและเราก็ไม่รู้ว่าอีก 1 ปีข้างหน้าเขาทำอะไรกันบ้าง ทั้งในคณะกรรมการและที่ประชุมใหญ่ ” นายสุรเกียรติ์ กล่าว

 เมื่อถามไทยสามารถกลับเข้าไปในคณะกรรมการมรดกโลกได้หรือไม่ นายสุรเกียรติ์ กล่าวว่า สามารถดำเนินการได้ เพราะเรื่องนี้เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของคณะผู้แทนเจรจา และเป็นเจตนารมณ์ของผู้นำรัฐบาลในปัจจุบัน แต่ขั้นตอนในการถอนตัวที่จะมีผลทางกฎหมายนั้นต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร ซึ่งถ้าในขณะนั้นสังคมไทยพิจารณากันอย่างรอบคอบแล้วว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยก็ดำเนินการต่อไป แต่ถ้าเห็นแล้วว่าการถอนตัวนี้เป็นการกระทำที่ไม่รอบคอบ ปัจจุบันทันด่วน เป็นการตัดสินใจใกล้เคียงกับการเลือกตั้งเกินไป เราก็สามารถแสดงเจตนารมณ์ใหม่ได้ คาดว่าองค์การระหว่างประเทศก็คงรับฟัง

 ส่วนการถอนตัวในครั้งนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทย - กัมพูชาจะดีขึ้นหรือไม่ นายสุรเกียรติ์ กล่าวว่า ไทยเราไม่ค่อยมียุทธศาสตร์ในเวทีพหุภาคี เรามักจะบอกว่าเป็นเรื่องของทวิภาคี โดยปัญหานั้นเป็นปัญหาของ 2 ฝ่าย แต่การแก้ปัญหานั้นเป็นการแก้ในระดับพหุภาคีไปแล้ว ซึ่งเหตุการณ์การปะทะกันตามแนวชายแดนก็อยู่บนความรับผิดชอบของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งยูเอ็นก็มอบหมายให้อาเซียนดูแล ซึ่งก็เป็นพหุภาคีไปหมดแล้ว ดังนั้นเราจึงต้องมียุทธศาสตร์พหุภาคี เพื่อทำให้ความสัมพันธ์ไทย - กัมพูชากลับมาเป็นปกติ ตนเชื่อว่าหากความสัมพันธ์ของไทยและเพื่อบ้านอยู่ในระดับปกตินั้น เรื่องต่างๆคงจะแก้ปัญหาได้ โดยเราก็สามารถรักษาอธิปไตยได้ เรื่องดินแดนยอมใครไม่ได้อยู่แล้ว

 เมื่อถามว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเพื่อบ้านน่าจะคลี่คลายหลังได้รัฐบาลชุดใหม่หรือไม่ นายสุรเกียรติ์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่จะมีนโยบายอย่างไร ไม่ว่ารัฐบาลจะมาจากฝ่ายใด หากไม่มีนโยบายและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนทั้งในเวทีทวิภาคีและพหุภาคีนั้น ก็คงจะทำให้ประเด็นต่างๆยุ่งเหยิงไม่รู้จะเริ่มแก้ที่ตรงไหน แต่หากเรามียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนแล้วนั้น เรื่องต่างก็สามารถกลับมาคุยกันได้

 คาดว่าการถอนตัวในครั้งนี้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของกลุ่มการเมืองบางกลุ่มหรือไม่ นายสุรเกียรติ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าอาจมีผลประโยชน์ทางการเมืองแอบแฝงอยู่ เพราะอีก 1 สัปดาห์ก็จะมีการเลือกตั้งแล้ว ซึ่งหลังการเลือกตั้งต้องการที่จะให้มีการทำประชาพิจารณ์ เพื่อหาบทสรุปของถึงข้อดีข้อเสียในเรื่องนี้อย่างแท้จริง เนื่องจากหลายฝ่ายยังไม่รู้ข้อเท็จจริง ส่วนมรดกโลกในประเทศไทยที่ขึ้นทะเบียนไปแล้วนั้นก็ยังคงอยู่ คาดว่าคงไม่มีผลกระทบใดๆ

 การถอนตัวในครั้งนี้จะส่งผลในเวทีของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลกหรือไม่ นายสุรเกียรติ์ กล่าวว่า เรื่องนี้คงตอบไม่ได้ ต้องดูในจุดยืนของรัฐบาล เนื่องจากการต่างประเทศของเรานั้นต้องมีวุฒิภาวะในการตัดสินใจที่จะลงมือทำอะไรลงไป หลายปีที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำอะไรเลย แต่พอมีการประชุมเรากลับไปล็อบบี้เพื่อให้เขามีความคิดเห็นตรงกับเราซึ่งเป็นไปไม่ได้ เราต้องกลับมาถามตัวเราว่าการที่คณะกรรมการมรดกโลกทั้ง 21 ประเทศไม่เข้าข้างฝ่ายไทยเลยเป็นเพราะอะไร เรื่องนี้ต้องมาทบทวนอย่างเร่งด่วน

ยูเนสโกเสียใจไทยถอนตัวมรดกโลก

นางสาว อิรินา โบโกวา ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์  และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก แถลงเมื่อวานแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง หลังจากไทยประกาศว่าจะถอนตัวออกจากภาคีสมาชิกอนุสัญญามรดกโลก โดยระบุว่าอนุสัญญามรดกโลกปี 2515 ไม่เพียงเป็นเครื่องมือระหว่างประเทศสำคัญสุดในการรักษาและคุ้มครองทรัพย์สินทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ซึ่งมีคุณค่าที่โดดเด่นในระดับสากลเท่านั้น แต่ยังได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือรวมถึงการเจรจาระหว่างประเทศ

ผู้อำนวยการยูเนสโก แสดงความหวังว่า ไทยจะทบทวนอย่างรอบคอบถึงการดำเนินการต่อไปในอนาคต โดยเคารพอนุสัญญาฯที่มีความสำคัญยิ่งฉบับนี้ และหวังว่าไทยจะยังคงเป็นหุ้นส่วนที่กระตือรือร้นในการให้ความร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อปกป้องมรดกที่มีความโดดเด่นของโลกแห่งนี้ต่อไป

นอกจากนี้นางโบโกวา กล่าวว่า คณะกรรมการมรดกโลกมิได้หารือแผนบริหารจัดการปราสาทเขาพระวิหาร ดังที่สื่อมวลชนรายงานกันอย่างกว้างขวาง อีกทั้งมิได้ร้องขอให้ยื่นรายงานเกี่ยวกับสถานะของการอนุรักษ์ปราสาทฯ แต่คณะกรรมการมรดกโลกมีมติยืนยันถึงความจำเป็นในการรับรองว่าจะมีการคุ้มครองและการอนุรักษ์บริเวณปราสาทจากความเสียหาย และขอให้ไทยกับกัมพูชาใช้อนุสัญญามรดกโลกเป็นเครื่องมือสนับสนุนการอนุรักษ์ การพัฒนาอย่างยั่งยืน และการเจรจา

เผยนายกฯฝรั่งเศสเยือนเขมร2-3ก.ค.นี้

  แหล่งข่าวตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา ที่ติดตามข่าวสารของกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง เปิดเผยว่า นสพ. กัมพูชาใหม่ (กัมปุเจียทะเม็ย) ของกัมพูชาได้รายงานข่าวว่า นายฟรองซัวส์   ฟียง  นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐฝรั่งเศส จะเดินทางมาเยือนประเทศกัมพูชา ช่วงระหว่างวันที่ 2 -3 ก.ค. 54 นี้ ตามคำเชิญของรัฐบาลกัมพูชาในพิธีปิดสำนักงานบูรณะปราสาทบาปวน ซึ่งสำนักงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากประเทศฝรั่งเศส และมีกำหนดการจะเข้าเยี่ยมชมนครวัด นครธม ด้วย   
    
 สื่อฉบับเดียวกัน ระบุด้วยว่าการมาเยือนของนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสครั้งนี้ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากมาในช่วงที่เกิดความขัดแย้งเรื่องพื้นที่ที่ชายแดนไทย - กัมพูชา โดยประเทศไทย ไม่ยอมรับแผนที่ฝรั่งเศสและสยามที่ทำขึ้นเมื่อปี 2447, 2450 และ 2451  ซึ่งกัมพูชาจะหยิบยกเอาเรื่องนี้หารือกับนายฟรองซัวส์ เป็นกรณีพิเศษด้วย         
 นายเคียว  กันยาริด  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงข่าวสารและโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า การเดินทางมาของนายฟรองซัวส์ครั้งนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก  เนื่องจากฝรั่งเศสเป็นคนจัดทำแผนที่กำหนดเขตแดนกัมพูชา - ไทย เมื่อครั้งที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าอาณานิคมปกครองอินโดจีน  ซึ่งรวมถึงกัมพูชาด้วย