
พม่าเปิดศึกชิงพื้นที่สร้างเขื่อนพลังน้ำ
พม่าเปิดศึกชิงพื้นที่ชนกลุ่มน้อยใกล้ชายแดนจีนแหล่งสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ
กรุงเทพฯ-ทหารพม่าเปิดศึกกับกลุ่มกองกำลังเอกราชคะฉิ่น (เคไอเอ) ทางตอนเหนือของประเทศติดกับชายแดนจีน
นายเจมส์ ลัม เดา โฆษกกลุ่มเคไอเอ เปิดเผยเมื่อวันอังคาร (14 มิ.ย.) ว่ากองกำลังทหารพม่าได้รุกเข้ากดดันกองกำลังเคไอเอที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศใกล้ชายแดนจีน ส่งผลให้เกิดการปะทะระหว่างสองฝ่ายทำให้สมาชิกกลุ่มเคไอเอเสียชีวิตอย่างน้อย 3 คน และทหารพม่าเสียชีวิต 4 นาย
ด้านนายกวัน เมา ผู้นำกองกำลังเคไอเอ เปิดเผยผ่านเครือข่ายวิทยุเรดิโอ ฟรี เอเชีย ว่าการปะทะระหว่างกองกำลังเคไอเอกับกองทหารพม่าเกิดขึ้นในภูมิภาคโมมวกทางตอนเหนือของพม่าใกล้กับชายแดนจีน และอาจจะลุกลามไปสู่สงครามกลางเมืองหากรัฐบาลพม่าปฏิเสธการเจรจาเพื่อยุติการปะทะกับกลุ่มเคไอเอ
กลุ่มเคไอเอเป็นกองกำลังติดอาวุธที่มีสมาชิกหลายพันคน และเคยเป็นกองกำลังติดอาวุธที่ทรงอานุภาพที่สุดที่ต่อต้านรัฐบาลพม่า โดยฐานที่มั่นอยู่ทางตอนเหนือของรัฐคะฉิ่นในปัจจุบัน แม้ว่ากลุ่มเคไอเอได้ลงนามในสัญญาสงบศึกกับรัฐบาลพม่าตั้งแต่ปี 2537
ด้านนายอ่อง ดิน นักเคลื่อนไหวของกลุ่มยูเอส แคมเปญ ฟอร์ เบอร์มา ให้ความเห็นว่า พื้นที่ทางตอนเหนือของพม่าเป็นแหล่งสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อป้อนพลังงานให้แก่จีน และเป็นพื้นที่ซึ่งมีการแย่งชิงอำนาจการควบคุมพื้นที่ และการที่กองกำลังเคไอเอปฏิเสธที่จะถอนกองกำลังติดอาวุธออกจากพื้นที่แม่น้ำต้าปิง ที่บริษัทไชน่า ต้าถัง คอร์เปอเรชั่น ของจีน กำลังก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า 2 แห่ง เป็นสาเหตุที่ทำให้ความตึงเครียดในพื้นที่รุนแรงขึ้นไปสู่การใช้กำลังทหารเข้าบุกยึดพื้นที่จากกองกำลังเคไอเอ
พม่าได้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) จากจีนในปีงบประมาณ 2553 ถึง 8,270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.48 แสนล้านบาท) คิดเป็น 41% ของเอฟดีไอในปีที่แล้วของพม่า โดยงบประมาณการลงทุนจากจีนส่วนใหญ่เป็นโครงการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ
การปะทะระหว่างทหารรัฐบาลพม่ากับกลุ่มเคไอเอเกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ล่าสุดกลุ่มเคไอเอได้ออกคำสั่งให้สมาชิกทุกคนตอบโต้ทหารพม่าอย่างเต็มที่ หลังจากรัฐบาลพม่าปฏิเสธการเจรจากับกลุ่มเคไอเอตามกำหนดเส้นตายที่กลุ่มเคไอเอกำหนดขึ้น
เหตุการปะทะส่งผลให้โรงเรียนในพื้นที่ต้องปิดทำการ และชาวบ้านประมาณ 2,000 คนต้องอพยพลี้ภัยจากบ้านเรือนไปยังที่ปลอดภัย
รัฐบาลกลางของพม่ามีอำนาจการปกครองเหนือพื้นที่ยึดครองของชนกลุ่มน้อยที่ส่วนใหญ่มีกองกำลังติดอาวุธของตนเอง แม้ว่ารัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มน้อย 17 กลุ่มได้ลงนามในสัญญาการหยุดยิงตั้งแต่ปี 2532 แต่ชนกลุ่มน้อยก็ยังคงกองกำลังติดอาวุธและบางกลุ่มยังมีอำนาจปกครองตนเองในพื้นที่โดยอิสระ