
น.อ.ทองย้อย แสงสินชัยปราชญ์แห่งกาพย์เห่เรือ
เห่เอย เห่เรือทิพย์ ล่องลอยลิบเลิศล้ำสวรรค์ ร้อยคำล้ำค่าครัน แด่จอมธรรม์ผู้จอมไทย พระเอยพระผ่านเผ้า พระอยู่เกล้ามายาวไกล พระแผ่พระบารมีไป เปี่ยมโลกหล้าฟ้าดินสราญ
... ส่วนหนึ่งของบทประพันธ์กาพย์เห่เรือเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ โดย นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย...
ทุกครั้งที่จัดขบวนพยุหยาตราชลมารค ภาพขบวนเรือพระที่นั่งหลายสิบลำ ค่อยๆ เคลื่อนตัวลัดเลาะจากท่าวาสุกรี ไปตามโค้งคุ้งลำน้ำเจ้าพระยาจนกว่าจะถึงวัดอรุณราชวราราม ตรึงสายตาของประชาชนทั่วบริเวณริมสองฝั่งน้ำหยุดกิจกรรมต่างๆ แน่นอนว่าประการสำคัญคือ ความตั้งใจเฝ้ารอรับเสด็จ รอชื่นชมพระบารมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประการต่อมา คงไม่พ้นเรื่องการรอยลความวิจิตรงดงามของเรือแต่ละลำ รวมถึงลีลาการสะบัดพายขึ้นลงอย่างพร้อมเพรียงของบรรดาฝีพายผู้ชำนาญการ และรอยินน้ำเสียงการขับขานท่วงทำนองเสนาะของพนักงานเห่...ทว่ามีใครฉุกคิดบ้างหรือไม่ว่า "บทกาพย์เห่เรือ" มาจากไหน?? ใครคือผู้แต่ง?? วันนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ผูกขาดด้านแต่ง "กาพย์เห่เรือ" น.อ.ทองย้อย แสงสินชัย วัย 66 ปี อดีตข้าราชการทหาร กองทัพเรือ
-เล่าประวัติความเป็นมาชีวิตการทำงานจนได้เข้ามาแต่งกาพย์เห่เรือ
มีปฐมเหตุมามีความชอบอ่านกลอน แต่งกลอนเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะเรื่องพระอภัยมณี เห่นิราศ นรินทร์ และวรรณคดีต่างๆ จวบจนเมื่อปี 2524 ผมเข้ารับราชการทหารเรือ ในกองอนุศาสนาจารย์ สังกัดกรมยุทธศึกษาทหารเรือ ซึ่งมีหน้าที่หลักในการอบรมศีลธรรม เป็นที่ปรึกษาทางด้านศาสนา ค้นคว้าวิชาการทางศาสนา เป็นเจ้าหน้าที่ทางศาสนาพิธี ค้นคว้าวิชาการทางศาสนา บวกกับในสมัยนั้นทางกองทัพมีการตีพิมพ์นิตยสารนาวิกศาสตร์ ซึ่งทำกันมานานมาก และหนึ่งในนั้นก็จะมีพื้นที่กาพย์ กลอน ก็เลยเขียนส่งไป หากใครมีฝีมือก็จะแต่งมาลงกัน ผมก็ส่งผลงานและได้รับการตีพิมพ์หลายครั้ง ขณะเดียวกันก็ยังส่งไปที่นิตยสารวิทยาสาร และหนังสือชัยพฤกษ์ด้วย
-เริ่มมีผลงานกาพย์เห่เรือในพิธีการใหญ่ๆ
กระทั่งปี 2539 ซึ่งเป็นปีกาญจนาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ 50 ปี หน่วยงานต่างๆ ร่วมเฉลิมฉลองกันทั่วประเทศ กองทัพเรือมีส่วนร่วมด้วย โดยเฉพาะการสร้างเรือลำใหม่ ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานนามว่า "พระนารายณ์ทรงสุบรรณ" โดยตอนนั้นซึ่งมีหน่วยงานที่รับผิดชอบร่วมกัน 3 องค์การ คือ กองทัพเรือจัดหาช่าง กรมศิลปากร รับผิดชอบด้านศิลปกรรม และธนาคารไทยพาณิชย์รับผิดชอบเรื่องจัดหาทุน และจัดประกวดกาพย์เห่เรือโดย เชิญชวนประชาชนทั่วประเทศส่งผลงานเข้าร่วมภายใต้เนื้อหา บรรยายความงามของเรือพระที่นั่ง และกล่าวถึงพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าหัว โดยกำหนดให้มีโคลงสี่สุภาพ 1 บท (4 บาท) และกาพย์ยานี 15-20 บท ในคราวนั้นผมก็ได้รับการตัดสินชนะเลิศจากคณะกรรมการ และผลงานก็ถูกนำไปใช้ในการเห่เรือคราวนั้นด้วย และต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนถึงครั้งล่าสุดคือ กาพย์เห่เรือ ในมหามงคลวโรกาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ
-รู้สึกอย่างไรเมื่อได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่สำคัญ
อันที่จริงแล้วยังมีคนที่มีฝีไม้ลายมือในการแต่งกลอนแต่งกาพย์เก่งกว่าผมอีกเยอะมากๆ แต่เป็นผมที่ได้รับโอกาส ได้รับความไว้วางใจจากกองทัพเรือแม้จะเกษียณอายุราชการมากว่า 6 ปีแล้ว แต่ยังถูกเรียกใช้ ก็รู้สึกยินดี มีความสุข ยิ่งโดยส่วนตัวผมมีความผูกพัน มีความปลาบปลื้มต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่แล้ว ตั้งแต่เมื่อครั้งบวชเรียนประมาณปี 2510 ตอนนั้นเรียนจบประโยค 6 ก็มีโอกาสได้เข้ารับพระราชทานพัดยศจากพระองค์ท่าน และต่อมาเมื่อเข้ารับราชการในกองทัพเรือ ยิ่งได้เห็นได้ทราบว่าพระองค์ทรงงานหนักเหลือเกินยิ่งรู้สึกรักพระองค์มากยิ่งขึ้น มามีโอกาสเล็กๆ น้อยๆ ที่จะแสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่าน แน่นอนว่าย่อมต้องรู้สึกภูมิใจมากที่สุด รู้สึกว่าเป็นบุญของตัวเอง
-แรงบันดาลใจในการแต่ง
การแต่งกาพย์ในพิธีเห่เรือ ประกอบด้วยเนื้อหา 3 ส่วน ได้แก่ 1.กาพย์ชมเรือ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการชมความงดงามของเรือแต่ละลำแต่ไม่จำเป็นต้องชมทุกลำผู้แต่งสามารถเลือกได้แต่ควรจะเป็นเรือที่อยู่ในขบวนนั้นๆ ด้วย 2. กาพย์ชมเมือง ซึ่งในสมัยก่อนหากย้อนกลับไปดูกาพย์เก่าๆ ผู้แต่งมักจะกล่าวถึงความสมบูรณ์ของทรัพย์ในดินสินในน้ำ วิถีชีวิตสองริมฝั่งน้ำ ฯลฯ แต่วันนี้เนื้อหาอาจจะเปลี่ยนไป อย่างตัวผมจะเน้นกล่าวถึงศิลปวัฒนธรรมตามยุคเพื่อให้เกิดความร่วมสมัย แต่ไม่ใช่การชมตึกชมอาคารแน่ๆ และ 3.บทสรรเสริญพระบารมี ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของแต่งกาพย์ในแต่ละครั้ง ด้วยว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระคุณต่อพสกนิกรชาวไทยมากมาย พูดเท่าไหร่ก็ไม่หมด ดังนั้นผมจึงเลือกให้เหมาะกับวาระของงาน เช่น ครั้งนี้เป็นการเฉลิมฉลองพระชนมพรรษา 7 รอบ ถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็เปรียบเหมือน ปู่ย่า ตายาย ที่ใช้เวลากว่า 60 ปีดูแลลูกๆ หลานๆ จนถึงวันนี้ก็ยังต้องดูแลกันอยู่ ซึ่งถือว่าหนักมากๆ ผมก็จะเน้นเล่าถึงพระราชกรณียกิจต่างๆ
-ใช้ระยะเวลาในการแต่งกาพย์นานแค่ไหน
โดยประมาณไม่เกิน 2 เดือน นับตั้งแต่ได้รับมอบหมายจนเสร็จสิ้นส่งให้ต้นสังกัด อันดับแรกก็ประมวลแนวคิดหาจุดเด่นของเรื่องต่างๆ แล้วค่อยมาจัดระเบียบเนื้อหา เรียบเรียง ซึ่งการแต่งกาพย์เห่เรือส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับศาสนา พระมหากษัตริย์ เราจะใช้ภาษาง่ายๆ คงไม่เหมาะ ขณะเดียวกันถ้าจะเลือกใช้ศัพท์สูงหรือภาษายากมากๆ คนฟังก็ไม่เข้าใจ ดังนั้นหลักของผมใช้ในการแต่งทุกครั้งเน้นใช้คำที่คนฟังเข้าใจง่ายไม่ต้องเปิดพจนานุกรม แต่ไม่ใช่ภาษาพูด หรือภาษาตลาด ส่วนแหล่งภาษาสวยๆ ก็คงไม่ต่างจากผู้อื่น นั่นคือ อ่านหนังสือเยอะๆ โดยเฉพาะบทประพันธ์ และวรรณคดีต่างๆ นอกจากนี้ผมอาจจะได้เปรียบกว่า ตรงที่เรียนภาษาบาลีเมื่อตอนสมัยบวชเป็นพระ จึงมีถ้อยคำสวยๆ พอจะให้หยิบจับเอามาใช้ได้มากหน่อย
-บริหารจัดงานอย่างไรกับชีวิตหลังเกษียณ
จำได้ว่าตอนเกษียณใหม่ๆ เพื่อนๆ จะห่วงว่าจะเหงา แต่พอเอาเข้าจริงๆ ผมเป็นคนอายุมากมีงานให้ทำเยอะ หลักๆ ก็งานค้นคว้าวิชการทางศาสนา เขียนหนังสือ จัดรายการวิทยุที่วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี ซึ่งภรรยาผม (อาจารย์สุดใจ แสงสินชัย) เคยรับราชการอยู่ที่นี่ พอเกษียณแล้วก็มาช่วยลูกศิษย์จัดรายการ ตัวเขาเป็นรายการพูดคุยเกี่ยวกับภาษาไทยอย่างวรรณคดี ส่วนตัวผมก็รายการเชิงพระพุทธศาสนา ในลักษณะการพูดคุยตอบคำถามหรือช่วยไขปัญหาให้ผู้ที่สนใจ บางครั้งก็เป็นกรรมการตัดสินการสวดมนต์ งานสังคมต่างๆ ก็รับไปบ้าง จึงไม่มีเวลาเหงา
-สุดท้ายในฐานะนักภาษาศาสตร์ อยากฝากอะไรถึงคนรุ่นใหม่บ้าง
ทุกวันนี้คนไทยทิ้งตัวเองหมด เห็นดีเห็นงามที่รับเอาวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาอย่างเดียว โดยไม่คิดจะรักษาขนบธรรมเนียมหรือจารีตประเพณีอันงดงามของชาติตัวเองเอาไว้ ดูง่ายๆ อย่างการละเล่นสงกรานต์ แทบจะไม่มีให้เห็นแล้วที่จะตักน้ำค่อยๆ รดมือขอพรจากญาติผู้ใหญ่ เห็นสาดกันโครมๆ ผมจึงมีคิดว่า อีกไม่เกิน 50 ปี คนไทยต้องไปเรียนภาษาไทยกับต่างชาติ เหมือนอย่างวิชาอื่นๆ ผมอยากสะกิดให้หนุ่มสาวรุ่นใหม่คิดสักนิดว่า ไม่อายเขาหรือ??
ประวัติโดยสังเขป
ชื่อ นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย อายุ 66 ปี
ภรรยา นางสุดใจ แสงสินชัย อายุ 62 ปี
บุตร-ธิดา 3 คน
ผลงานการแต่งกาพย์เห่เรือของ
1.กาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติปีกาญจนาภิเษก ในมหามงคลวโรกาสทรงครองราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ.2539
2.กาพย์เห่เรือเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พ.ศ.2542
3.กาพย์เห่เรือเอเปค ในโอกาสประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจแห่งเอเชียและแปซิฟิก (เอเปค)
ในประเทศไทย พ.ศ.2546
4.กาพย์เห่เรือฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พ.ศ.2549
5. กาพย์เห่เรือเฉลิมพระชนมพรรษา 80 ปี พ.ศ.2550
6. กาพย์เห่เรือเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ พ.ศ.2554 (ล่าสุด)